เจริญ-เซ็นทรัลยึดเวียดนาม เดินหน้าลงทุนไม่หวั่นทีพีพีล่ม-ปักฐานแล้ว400โรงงาน

28 ม.ค. 2560 | 08:00 น.
สภาธุรกิจ-ทูต ชี้ทีพีพีล่ม กระทบทุนไทย-เทศแห่ลงทุนในเวียดนามไม่มาก ระบุ 5 ปัจจัยยังเป็นแม่เหล็กดึงทุนเอฟดีไอเข้าแดนลุงโฮต่อเนื่อง “เจ้าสัวเจริญ-เซ็นทรัลกรุ๊ป”สั่งลุยค้าปลีกเต็มสูบ “สนั่น”เล็งเป้าส่งออกไทยไปเวียดนามปีนี้โต 20%

จากที่นายโดนัลด์ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศไว้ในช่วงการหาสียงเลือกตั้งว่าจะถอนสหรัฐอเมริกาออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(ทีพีพี) ที่มีเวียดนามเป็น 1 ใน 12 ประเทศสมาชิกนั้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า โดยส่วนตัว และจากที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทยมีมุมมองตรงกันว่า แม้ทีพีพีจะเป็นความตกลงที่สำคัญ แต่ก็เพียงแค่หนึ่งในความตกลงในหลายกรอบที่เวียดนามมีกับประเทศคู่ค้า ซึ่งไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้การค้าและการลงทุนของเวียดนามกับต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยขยายตัวลดลง ขณะที่เวียดนามยังมีความมั่นใจว่าหากสหรัฐฯถอนตัวจากทีพีพีจริง สหรัฐฯจะมีการเจรจาและจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับเวียดนามในกรอบทวิภาคี หรือความตกลง 2 ฝ่ายแทน

อย่างไรก็ดีมองว่าการค้า-การลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนามในปีนี้จะยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนของไทยในเวียดนาม มีแรงจูงใจที่สำคัญหลายประการ คือ 1. ตลาดภายในของเวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีผู้บริโภคมากกว่า 90 ล้านคน และสัดส่วนกว่า 60% ของชาวเวียดนามอยู่ในวัยทำงาน 2. เศรษฐกิจของเวียดนามยังขยายตัวสูงเฉลี่ยมากกว่า 7% ต่อปี 3.รัฐบาลของเวียดนามเป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ 4.เวียดนามได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(จีเอสพี)ในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯและสหภาพยุโรป(อียู) และยังมีเอฟทีเอกับอียูและกับอีกหลายประเทศ และ5.มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าไปในเวียดนามจำนวนมากเฉลี่ยขยายตัวมากกว่า 30% ต่อปี โดยในปี 2559 มีต่างชาติเข้าไปท่องเที่ยวในเวียดนามมากกว่า 70 ล้านคนทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว

"ทีพีพีเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จูงใจให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน แต่หากไม่มีทีพีพีก็ไม่กระทบกับเวียดนามมาก ขณะที่เวลานี้มีผู้ประกอบการของไทยได้เข้าไปลงทุนในเวียดนามมากกว่า 100 ราย มีโรงงานผลิตสินค้าของคนไทยในในเวียดนามรวมกันมากกว่า 400 โรง ทั้งผลิตขายภายในและใช้ฐานในเวียดนามส่งออก"

ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวอีกว่า นอกจากการลงทุนจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย และจากประเทศอื่น ๆ ที่เป็นนักลงทุนรายสำคัญในเวียดนามแล้ว ในส่วนของไทยที่กำลังขยายธุรกิจครั้งใหญ่ในเวียดนามเช่น ทีซีซี กรุ๊ปของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และเซ็นทรัลกรุ๊ปที่เข้าไปดำเนินธุรกิจค้าปลีก เครือซีพีในธุรกิจเกาษตรและอาหาร กลุ่มเหมราชในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ เป็นต้น ทั้งนี้มีอีกหลายธุรกิจที่มองว่ามีอนาคตเช่น ธุรกิจดึงชาวเวียดนามมารักษาพยาบาลที่เมืองไทย ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต เป็นต้น

ขณะที่ด้านการค้าไทย-เวียดนามก็มีอัตราการขยายตัวที่สูง ซึ่งปัจจุบันถือถือเป็นตลาดส่งออกที่ขยายตัวสูงสุดของไทยในอาเซียน(ดูตารางประกอบ) เนื่องจากหลายสินค้าเวียดนามยังจำเป็นต้องนำเข้าจากไทยเพื่อนำไปผลิตส่งออกต่อเช่นผ้าผืน เม็ดพลาสติก และอื่นๆ ขณะที่ไทย-เวียดนามมีความร่วมมือในการนำสินค้าเวียดนามมาโปรโมตในไทยเพื่อขยายการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น เช่นกาแฟ ชา เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ทั้งนี้คาดในปี 2560 การส่งออกของไทยไปเวียดนามจะขยายตัวได้ถึง20%

"ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้จะมีการประชุมทีมไทยแลนด์ พลัสหรือทีมรัฐบวกเอกชนที่ฮานอย เพื่อหารือขยายการการค้า-ลงทุนไทย-เวียดนาม ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมถึงสู่เป้าหมายการค้า 2 ฝ่ายที่ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2563"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,230 วันที่ 26 - 28 มกราคม 2560