เวียดนามขึ้นหัวแถวเศรษฐกิจของอาเซียน

27 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
เวียดนามกลายเป็นต้นแบบสำหรับประเทศเมียนมา ลาวและกัมพูชา ในการขยายเศรษฐกิจประเทศด้วยการดึงทุนต่างประเทศเข้าไปดันการส่งออก ทำให้ 3 ประเทศที่ยากจนที่สุดในอาเซียนกำลังมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวแซงประเทศจีน

นางยูจีเนียวิคทอรีน่า (Eugenia Victorina) นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารออสเตรเลียแอนด์นิวซีแลนด์แบงกิ้งกรุ๊ป ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า “ประเทศเมียนมา ลาวและกัมพูชา กำลังเลียนแบบยุทธศาสตร์ของเวียดนามในการขยายเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสร้างการส่งออกด้วยทุนต่างประเทศ”

การเลียนแบบโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามทำให้เศรษฐกิจเมียนมา ลาวและกัมพูชา มีแนวโน้มขยายตัวสูงระดับต้น ๆ ของโลกโดยมีรายงานจากธนาคารโลกระบุว่า 3 ประเทศนี้กำลังมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวประมาณ 7 % ต่อปี ระหว่างปี 2560 -2562 สูงกว่ายักษ์ใหญ่อย่างประเทศจีน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 6.5 % ในปี 2560 นี้

หนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์ระบุว่า เวียดนาม ซึ่งกลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศสำหรับสมาชิกอาเซียนที่ยากจนไปแล้วปรากฏว่า ในปีที่แล้ว มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ 6.21 % โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการดึงบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีจากต่างประเทศอาทิอินเทลและซัมซุงเข้าไปลงทุน ทำให้โทรศัพท์กลายเป็นสินค้าส่งออกชั้นนำของประเทศ จากเดิมที่สินค้าส่งออกชั้นนำของเวียดนามเป็นผลิตผลทางเกษตรอาทิ กาแฟ ข้าว และสินค้าอุตสาหกรรมใช้แรงงานสูงอาทิเสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า

Mr.LeeberLeebouapaoนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติลาวให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ส ว่าลาวกำลังปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจหนีจากการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการสร้างการเติบโตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเป็นตัวบวกต่อเศรษฐกิจลาวในปีนี้

เวียงจันทน์ไทม์ส ระบุว่าปลายปีที่แล้วรัฐสภาลาวอนุมัติการแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเพื่อดึงดูดการลงทุนในภาคธุรกิจ ที่ไม่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติขณะที่รัฐบาลลาวปรับปรุงระบบการบริหารงานของรัฐให้มีความโปร่งใส ธรรมาภิบาลและต่อต้านการคอร์รัปชันเพี่อปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน

Mr.Leeberกล่าวว่าเศรษฐกิจลาวปีนี้น่าจะขยายตัวอย่างต่ำ 7 % เนื่องจากโครงการใหญ่ ๆ ที่ล่าช้ามานานเริ่มมีการดำเนินการอาทิ โครงการเส้นทางรถไฟลาว-จีน ยาว 427 กิโลเมตรมูลค่าการลงทุนเกือบ 6,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 2.16แสนล้านบาท) นอกจากนี้รัฐบาลยังได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ 12 แห่งเพื่อดึงนักลงทุนต่างประเทศเข้าไปลงทุนสร้างโรงงาน

ล่าสุดโครงการลงทุนจาก 158 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับอนุมัติให้ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีมูลค่ารวม 4,700 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.692 แสนล้านบาท) โดยในมูลค่าลงทุนดังกล่าวมีเงินทุนที่ใช้ในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 1,000 ล้านดอลลาร์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,230 วันที่ 26 - 28 มกราคม 2560