จี้พาณิชย์ปล่อย‘เทรดมาร์ก’ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยชี้ยอดค้างท่อกว่า3หมื่นเรื่อง

26 ม.ค. 2560 | 12:00 น.
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเดินหน้ากระตุ้นกระทรวงพาณิชย์ลดระยะเวลาพิจารณาเครื่องหมายการค้าเหลือ1 เดือนจาก 1 ปี หลังพบมีเรื่องค้างท่อกว่า 3 หมื่นเรื่องเชื่อช่วยสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบได้ 3.5 แสนล้านบาท พร้อมดันจีดีพีเอสเอ็มอีเพิ่ม 2-3% ขยับเข้าใกล้เป้าหมายรัฐบาลที่ 50% จาก 39% ในปัจจุบัน

นายณพพงศ์ ธีระวรประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอี ไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่ากำลังดำเนินการทำหนังสือปิดผนึกถึงกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอร่นระยะเวลาในการขออนุญาตจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาด้านการอนุมัติ
เครื่องหมายการค้า การจดสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร(Trade Mark) ที่มองว่ามีกระบวนการพิจารณาค่อนข้างล่าช้า โดยต้องใช้ระยะเวลาถึง 1 ปี ทำให้ผู้ประกอบการเสียประโยชน์ทางการค้า รวมถึงต้องแบกรับต้นทุนในระหว่างรอก่อนที่จะนำสินค้าออก หากเป็นผู้ประกอบการที่สายป่านสั้นก็อาจจะรอไม่ไหว และอาจถึงขั้นถูกลอกเลียนแบบสินค้าจากต่างประเทศได้

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีTrade Markที่รอการพิจารณาอยู่ประมาณ 3 หมื่นเรื่อง โดยหากคิดคำนวณว่าผู้ประกบการรายหนึ่งจะสามารถขายสินค้าได้ประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี ก็จะทำให้เงินจำนวน 1.5 แสนล้านบาทไม่ได้ถูกออกสู่ระบบเศรษฐกิจ โดยมองว่าระยะเวลาที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 เดือน ซึ่งข้อเสนอของสมาพันธ์ก็คือให้มีการนำเทคโนโลยีทางด้านไอทีมาประยุกต์กับเรื่องดังกล่าว เพื่อสแกนตรวจสอบว่าเครื่องหมายดังกล่าวของผู้ประกอบการสามารถใช้ได้ หรือจะต้องปรับปรุงรูปลักษณ์อย่างใด

"เรื่องดังกล่าวเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ เพราะหากลองดูที่ระบบสแกนลายนิ้วมือของหน่วยงานราชการที่ใช้ในการตรวจสอบ และยืนยันตัวตนของคนไทยทั้ง 65 ล้านคนในประเทศที่มีความซับซ้อนมากกว่า ยังสามารถทำได้ แต่กับ Trade Markที่ต่อปีมีเรื่องยื่นเข้ามาประมาณ 3 หมื่นเรื่อง น่าจะทำได้ไม่ยากคล้ายๆกัน โดยระยะ 1 เดือนถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เคลียร์สต๊อกเก่าด้วย ซึ่งจริงๆแล้วควรจะเป็นแบบยื่นเรื่องแล้วรู้ภายใน 3-5 ชั่วโมง หรือครึ่งวัน โดยควรจะมีคำตอบเบื้องต้นให้กับผู้ประกอบการแล้วว่าให้ปรับจุดนี้ หรือแก้จุดนั้นแล้วค่อยมาสแกนใหม่"

นายณพพงศ์ กล่าวอีกว่า หากสามารถปลดล็อกกระบวนการอนุญาตดังกล่าวให้เหลือเพียง 1 เดือนได้ เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากยื่นเรื่องเข้ามา เพราะเห็นว่ากระบวนพิจารณาใช้เวลาไม่นาน โดยหากดูจากตัวเลขเรื่องที่ค้างอยู่ประมาณ 3 หมื่นเรื่องในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้มีการยื่นขอเพิ่มเป็น 5หมื่นเรื่องต่อปีได้ ซึ่งจะทำให้มีเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มเป็น 3.5 แสนล้านบาทต่อปี โดยจะมีผลต่อการผลักดันจีดีพีของเอสเอ็มอีให้เติบโตได้เพิ่มอีกประมาณ 2-3% ต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 39% ต่อปี เพื่อขยับเข้าสู่เป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันจีดีพีของเอสเอ็มอีให้อยู่ในระดับ 50% ได้ โดยคาดว่าเรื่องดังกล่าวนี้จะได้รับการเห็นชอบและพิจารณาให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ยังได้เร่งรัดดำเนินการเรื่องกระบวนการเข้าร่วมเป็นภาคีใน Madrid Protocol ให้การจดทะเบียนการค้าครอบคลุมทุกประเทศในภาคี เพื่อให้การจดทะเบียนการค้ามีผลครอบคลุมทุกประเทศสมาชิกในภาคี แม้จะมีการจดทะเบียนที่ในประเทศไทย ไม่ต้องไปจดทะเบียนที่ประเทศอื่น ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวก และลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,230 วันที่ 26 - 28 มกราคม 2560