เรืออวน 3 พันลำงัดข้อปิดอ่าว

25 ม.ค. 2560 | 02:00 น.
เรืออวนลอย-อวนจมปลาทูพื้นบ้าน กว่า 3,000 ลำผวากรมประมงจ่อเพิ่มเป็นเครื่องมือไม่ให้ทำประมงช่วงปิดอ่าวประจำปี 60 ตามที่สมาคมประมงพาณิชย์เสนอ อ้างเป็นตัวการทำให้ปลาทูสูญพันธุ์ ฝ่ายประมงพื้นบ้านค้าน เตรียมจัดประชุมหารือใน 3 จังหวัด หาข้อสรุปก่อนประกาศอย่างเป็นทางการ

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการคณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากผลประชุมคณะอนุกรรมการฯ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ทางกรมประมงได้เตรียมประกาศปิดอ่าวประจำปี 2560 โดยจะแบ่งเป็น 2 ช่วงได้แก่ 1. บริเวณฝั่งทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นช่วงฤดูที่ปลาวางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์- 15 พฤษภาคม รวม 3 เดือน พื้นที่ประมาณ 2.64 หมื่นตารางกิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ที่อาจส่งผลต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลอ่าวไทย

"เฉพาะ "ปลาทู" ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศที่จำเป็นต้องดูแลรักษาทรัพยากรเหล่านี้ให้มีอยู่อย่างยั่งยืน"

สำหรับช่วงที่ 2 ปิดอ่าวไทยตอนใน หรืออ่าวไทยรูปตัว ก. ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี รวมพื้นที่ทั้งสิ้น 4,940.55 ตารางกิโลเมตร มีระยะเวลาปิดอ่าวตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน - 31 กรกฎาคมนี้

เครื่องมือที่ห้ามจับปลาในครั้งนี้ได้แก่ 1.เครื่องมืออวนล้อมจับที่ใช้ประกอบกับเรือกล 2.เครื่องมืออวนลากที่ใช้ประกอบกับเรือกล 3.เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อนหรืออวนยก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการประมงปลากะตัก 4.เครื่องมืออวนติดตาที่ใช้ประกอบเรือกล ล้อมติดปลาทู

5.เครื่องมืออวนติดตาปลาทูที่ใช้ประกอบกับเรือกล เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือดังกล่าวจะห้ามทั้งหมด ขณะที่สมาคมประมงพาณิชย์ได้เสนอให้เพิ่มเครื่องมืออวนจมปลาทู อวนลอยปลาทู โดยระบุเป็นตัวการหรือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ปลาทูสูญพันธุ์ ควรจะยกเลิกหรือไม่ให้เข้าไปทำการประมงในช่วงปิดอ่าวด้วย

นายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เผยว่า อวนลอยและอวนจมปลาทู ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือของเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ไม่มีเครื่องจักร จากสถิติของกรมประมงมีเรือประเภทนี้ที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งสิ้นกว่า 3,000 ลำ จะได้รับผลกระทบหากมีคำสั่งออกมาจริง มองว่าการที่สมาคมประมงพาณิชย์ทำอย่างนี้ เป็นการเอาคืน จากที่สมาคมเคยไปเสนอให้ยกเลิกอวนลาก และทำให้เป็นปัญหามาจนถึงทุกวันนี้

ด้านแหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการจัดทำนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทย กล่าวว่า เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ข้อยุติในเรื่องดังกล่าว ได้มอบให้ทางกรมประมง ไปจัดประชุมกลุ่มย่อยใน 3 จังหวัดใหญ่ ได้แก่ วันที่ 24 มกราคม 2560 ที่ประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 25 มกราคม 2559 ที่ชุมพร และวันที่ 26 มกราคม 2560 ที่สุราษฎร์ธานี

เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอคณะกรรมการฯ แล้วจะเสนอผ่านทางกรมประมง เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์รับทราบ ก่อนประกาศอย่างเป็นทางการในลำดับถัดไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560