สสว.เผยเป้าส่งเสริมปี60 โฟกัส 2.87 แสนราย

23 ม.ค. 2560 | 05:00 น.
ปี 2560 สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) จะเดินแผนสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีในเชิงรุก พร้อมปรับกระบวนการทำงานของ สสว.ร่วมกับหน่วยงานสังกัดอื่นส่งเสริมสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น สาลินีวังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงภารกิจเสริมสร้างศักยภาพเอสเอ็มอีเพื่อให้บรรลุยุทธศาสตร์ไปสู่เอสเอ็มอี 4.0

 เอสเอ็มอีเป็นซันไรส์

ผู้อำนวยการสสว.ฉายภาพให้เห็นว่า การเติบโตของเอสเอ็มอีจะเติบโตกว่าจีดีพีรวมของประเทศ โตแบบที่มีเคิร์ฟเป็นชั้นๆ ซึ่งตรงนี้ไม่น่าแปลกใจ เพราะถ้าไปแกละดูจีดีพีประเทศ จะเห็นว่าตัวที่ทำให้ประเทศโตขึ้นมาได้คือ ภาคการค้ากับภาคบริการ ประเทศมีจีดีพีโต 3.2 แต่ภาคการค้า ภาคบริการ(รวมท่องเที่ยว)เติบโต5 หรือ 6 ส่วนภาคการค้าก็คือ ซื้อมาขายไป ซึ่งในภาคเหล่านี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็มี แต่ภาคเอสเอ็มอีมีมากกว่า จึงค่อนข้างมั่นใจว่าในที่สุดแล้วจะต้องโต และเป็นตัวผลักดันให้ประเทศโต ส่วนภาคเกษตรเองยังต้องขึ้นอยู่ที่ความต้องการของโลก

ในขณะที่ภาคการผลิตก็โยงอย่างมากกับการส่งออก ซึ่งมันชะลอมาตั้งหลายปีแล้ว จึงเห็นชัดว่าทิศทางของประเทศไปทางไหน เหล่านี้จึงเป็นที่มาที่กล้าจะพูดว่า ถ้าเราส่งเสริมเอสเอ็มอีของเราให้ดีก็จะโตไว เพราะอยู่ในเซ็กเตอร์ที่โต หรือเอสเอ็มอีอยู่ในภาคธุรกิจซันไรส์(มีการเติบโตสูง)ไม่ใช่ซันเซต(ไร้อนาคต)

 ยุทธศาสตร์ไปสู่เอสเอ็มอี4.0

ดังนั้นการกำหนดยุทธศาสตร์เดินไปสู่เอสเอ็มอี 4.0 เป้าหมายของสสว.คือ1. เอสเอ็มอีจะต้องมีสินค้าและบริการที่ทันสมัย มีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและสามารถทำให้เป็นที่ถูกใจของตลาดได้ 2.เอสเอ็มอีจะต้องมีการบริหารจัดการที่รวดเร็ว มีต้นทุนที่ไม่สูงเกินไป เพื่อที่จะแข่งขันได้ ถ้าเทียบกับคู่แข่ง สินค้าเราจะมีบางอย่างที่โดนใจผู้ซื้อ 3.จะต้องมีเงินทุนเพียงพอที่จะดำรงอยู่และขยายกิจการต่อไปได้ เหล่านี้คือหลักที่จะต้องดูแล โดยการส่งเสริมเอสเอ็มอี จะแบ่งเป็นวงจรการทำธุรกิจ พวกบ่มเพาะ Start up พวกที่เป็นRegular SME หรือกลุ่มที่ขายไปได้เรื่อยๆ รวมถึงที่ทำกิจการอยู่แล้ว เช่น SME Strong และพวกที่มีปัญหาสะดุด จะต้องจัดการฟื้นฟูหรือที่เรียกว่ากลุ่ม Turn Around

 เน้นกลุ่มยอดขายลด! แต่ยังสู้

ถ้ามาดูเอสเอ็มอีที่มีอยู่ทั้งหมดราว 2.8 ล้านราย แบ่งออกเป็นกลุ่ม(ดูตาราง)ในจำนวนนี้สิ่งที่สสว.อยากจะเน้นหรือโฟกัสไป คือกลุ่มที่ยอดขายลด แต่เขายังสู้อยู่และยังมีศักยภาพ เช่นกลุ่ม Turn Around กลุ่มนี้ยังต้องเข้าไปช่วยดูแล มีจำนวน 6.1หมื่นกิจการ ที่ยังตั้งใจทำธุรกิจอยู่ กลุ่มที่ขนาดเล็กที่เราดูแล้วว่ามีศักยภาพพร้อมที่จะทะลุขึ้นเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง โดยโฟกัสไปที่ 9.2 หมื่นกิจการที่อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่ม 1 แสนกิจการ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เติบโตรวมเกิน 20% ในกลุ่มนี้จะส่งงบการเงินต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี และที่เป็นนิติบุคคลอยู่แล้ว 1.50 แสนราย โดยเฉพาะ 3.4 หมื่นราย ที่ส่งงบการเงิน 5 ปี อยากจะให้เติบโตขึ้นได้เต็มศักยภาพ เพราะตัวนี้คือตัวที่นักรบทางเศรษฐกิจที่จะพาให้เศรษฐกิจโชติช่วงชัชวาลย์ ความหวังอยู่ที่ตัวนี้ บางรายต้องการได้รับการสนับสนุนเพื่อทำให้ของดียิ่งขึ้น หรือมีนวัตกรรมยิ่งขึ้น ก็ดึงมหาวิทยาลัยชั้นนำเข้าไปช่วย

tp13-3229-b รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอีใหม่ที่เป็นนิติบุคคล และที่เริ่มส่งงบแล้ว กลุ่มนี้ควรจะต้องเข้าไปดูแล ประคองให้โตขึ้นมา เพราะมีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนผ่านตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่มีขีดความสามารถสูงขึ้นได้ จึงตั้งเป้าไว้เป็นกลุ่มเป้าหมาย เฉพาะส่วนนี้ที่สสว.ส่งเสริมปี 2560 ราว 2.87 แสนราย

นอกจากนี้บุคคลธรรมดา 2.2 ล้านราย ที่เป็นรายเล็กๆ สสว.จะเชิญชวนให้มาเข้าโครงการที่เรียกว่า “บ่มเพาะสตาร์ทอัพ” มีพี่เลี้ยง สอนให้ทำแผนธุรกิจ ในปี 2560 ก็จะทำโครงการนี้ต่อไป รวมถึงโครงการเอสเอ็มอีบ่มเพาะ ที่แบ่งเป็นเอสเอ็มอีเกษตร และเอสเอ็ม อีที่ทำการผลิต การค้า การบริการ กิจการทั่วไปที่ สสว.จะทำร่วมกับหอการค้า

 6 มหาวิทยาลัยท้องร่วมบ่มเพาะ

ทั้งนี้สตาร์ทอัพปี 2560 สสว.จะเชิญมาเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะเอสเอ็มอีจำนวน 1 หมื่นราย ที่อยู่ในกลุ่ม 1 แสนกว่ารายกับกลุ่มบุคคลธรรมดา 2.2 ล้านราย ต้องการให้เขาเข้มแข็ง โดยใน 1 หมื่นราย เมื่อสำเร็จก็จะพัฒนามากขึ้น จะเริ่มต้นจากเอสเอ็มอีเกษตรก่อนในปลายเดือนมกราคมนี้ ที่เราจะเปิดบ่มเพาะเอสเอ็มอีเกษตร 5,000 ราย และเอสเอ็มอีภาคบริการและผลิตอีก 5,000 ราย

ส่วนความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ หากในกรณีที่เป็นเอสเอ็มอีเกษตร เราก็ทำกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร และมหาวิทยาลัย กลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรจะทำกับหอการค้าจังหวัด เลือกจังหวัดหลักๆ ตอนนี้หอการค้าอยู่ระหว่างคัดเลือก โดยคนที่จะทำหลักสูตรนี้ได้ก็คือต้องเป็นมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เป็นหลักสูตรที่จะสอนให้เขาเป็นผู้ประกอบการ ทำแผนธุรกิจ ตั้งเป้าหมายการขาย มีมหาวิทยาลัยท้องถิ่นที่ร่วมบ่มเพาะเอสเอ็มอี ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยแม่โจ้,มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาเขตนครสวรรค์), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ,มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

 จับตากองทุนช่วยเหลือ

ทางด้านความเคลื่อนไหวกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี ประกอบด้วยกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี 1,000 ล้านบาท ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมานั้น ขณะนี้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว69.21 ล้านบาทจากผู้ประกอบการ110รายสิ้นปี 2560 กองทุนนี้น่าจะใช้หมด ส่วนกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอี 2,000 ล้านบาท เพิ่งลงนามหลักเกณฑ์และระเบียบ เงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการฟื้นฟูเอสเอ็มอี ไปเมื่อเร็วๆนี้โดยมีวัตถุประสงค์ช่วยผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางการเงิน แต่ยังมีศักยภาพสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ ให้ความช่วยเหลือในรูปกู้ยืมระยะยาว 10 ปี ปลอดดอกเบี้ยและปลอดเงินต้นในช่วง 3 ปีแรก

"ตอนนี้ทำท่าว่าในส่วนของ 2,000 ล้านบาทจะฮอตฮิต เพราะเกณฑ์มันยืดหยุ่นมาก ถ้าเทียบกับ 1,000 ล้านบาทแรก ที่เคยเป็นหนี้เอ็นพีแอลต้องปรับโครงสร้างจะมีอะไรที่ยากนิดหนึ่ง แต่ส่วนของ 2,000 ล้านบาทไม่ต้องเลย ยังเป็น NPL อยู่ก็ได้ ขออย่างเดียวยังต้องทำกิจการอยู่"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560