"กอบกาญจน์"ลุยเจรจาทวิภาคี 7 ประเทศสร้างความร่วมมือการท่องเที่ยว

22 ม.ค. 2560 | 11:21 น.
"กอบกาญจน์"รุกสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียนรับต้นปี ลุยเจรจาทวิภาคี 7 ประเทศ สิงคโปร์ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลี จีน หวังต่อยอดสร้างความร่วมมือเส้นทางท่องเที่ยวทางบก ทางน้ำ อ้าแขนรับสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ โยงเส้นทางเรือ Cruise เที่ยวทางเรือสะดวก 2017 เน้น Maritime Tourism และDigital Tourism รับ ไทยแลนด์ 4.0 สู่ระดับ Asean Connect

นางกอบกาญจน์ วัฒวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งเดินหน้าในการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน ในรูป Asean Connect กับหลายประเทศ โดยเสนอ แนวคิดสำคัญในที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ที่สิงค์โปรเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่อง การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางน้ำ (Maritime Tourism) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยว (Digital Tourism) เพื่อรองรับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคปัจจุบัน ที่นิยมค้นหาข้อมูลผ่านมือถือและเดินทางมาเอง อีกทั้งยังเสนอให้กลุ่มประเทศอาเซียน นำเสนอ "กฎข้อบังคับล่าสุดในการส่งเสริมลงทุนด้านการบริการและธุรกิจท่องเที่ยว" ในเวทีการประชุมของสภาการท่องเที่ยวโลก World Tourism Congress (WTTC) ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในเดือนเมษายน นี้

นอกจากนี้ได้มีการหารือทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ได้แก่ สิงคโปร์ กัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลี จีนโดยหลายประเทศมีข้อตกลงและบรรยากาศการลงนามความร่วมมือที่คืบหน้าไปมากและเห็นผลความร่วมมือในการต่อยอดเชิงเศรษฐกิจระหว่างกันได้ชัด

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ในด้านการหารือทวิภาคีกัมพูชา และทวิภาคีกับสปป.ลาว คือการได้ข้อหารือว่าจะร่วมจัดงาน TTM Plus 2017 ที่เชียงใหม่ โดยการจัด Post Tour สำหรับ Buyer ที่จะเดินทางมาร่วมงาน เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยว เชียงใหม่ - เชียงราย - หลวงพระบาง และเชียงใหม-กทม. - จันทบุรี - ตราด - เสียมราฐ ร่วมกันส่งเสริมให้อาเซียน เป็น Marina Hub และผลักดัน Tourism for All ให้เกิดผลอย่างจริงจัง

ส่วนในด้านการสร้างความพร้อมให้การท่องเที่ยวทางน้ำ (Maritime Tourism) สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการหารือบริษัทเดินเรือ Cruise ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ในธุรกิจเรือสำราญ 2 บริษัท เพื่อผลักดันการท่องเที่ยวทางน้ำ พัฒนาศักยภาพท่าเรือของไทย ให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่ล่องเรือสำราญ พูดคุยกับ Genting Hong Kong และ Carnival Corporation ซึ่งทั้ง 2 บริษัท ต่างเห็นโอกาสในการลงทุนพัฒนาท่าเรือของไทย รวมถึงศักยภาพในการเป็น Home Port เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญ ทั้งนี้ การพัฒนาท่าเรือ จำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากท้องถิ่น เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางโดยเรือสำราญ ต่อ 1 ลำ มีจำนวนมาก และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใช้จ่าย กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ท่าเรือควรอยู่ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวมากนัก หรือใช้เวลาขับรถไปไม่เกิน 1 ชม.

ทั้งนี้ช่วงกลางเดือนม.คนี้ ยังมีการลงนามในแผนปฏิบัติการร่วมด้านการท่องเที่ยว กับเวียดนาม ซึ่งเป็นแผนระยะ 1 ปี 2017-2018 โดยสาระสำคัญของแผน คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล การพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการท่องเที่ยว และข้อมูลทางการตลาด  ด้านการหารือทวิภาคี ศูนย์อาเซียน-เกาหลี (ASEAN Korea Center) โดยทางศูนย์ขอให้ประเทศไทยให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ที่ทางศูนย์จะจัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร การท่องเที่ยวชุมชน การส่งเสริมศักยภาพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งตรงกับสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญอยู่แล้ว และยินดีให้การสนับสนุนเข้าร่วมโครงการ

นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า การผลักดันภารกิจ ASEAN Connect ต่อเนื่อง นั้นได้มีการการหารือทวิภาคีศูนย์อาเซียน-จีน (ASEAN-China Center) โดยได้มีการ update การดำเนินการโครงการที่สำคัญต่างๆ ระหว่างจีนและอาเซียน เช่น โครงการสำหรับนักเรียน การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยวและเทศกาลอาหาร ซึ่งจัดขึ้นในประเทศอาเซียน ซึ่งไทยให้ความสำคัญ ในปี 2017นี้ คือ ด้านการศึกษา การพัฒนาบุคคลากรการท่องเที่ยว และ Sports Tourism สำหรับอินโนนีเซีย ได้มีการหารือทวิภาคี รมว. ท่องเที่ยวอินโดนีเซีย Mr. Arief Yahya เห็นชอบร่วมกันพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างเมืองรองของ 2ประเทศ โดยจะมีการเปิดเส้นทางสายการบินจากเมือง Solo ของอินโดนีเซีย มาประเทศไทย พร้อมทั้งร่วมกันส่งเสริมแพคเกจท่องเที่ยวทางน้ำ 3เส้นทาง Sabang-Langkawi-Phuket รวมถึงการทำ Joint Promotion การท่องเที่ยวตามรอยพุทธศาสนา Trail of Civilization

"ทั้งหมดนี้เราต้องใช้ข้อมูลด้านสถิติการท่องเที่ยวให้เป็นประโยชน์สูงสุด จากการที่ได้หารือ ดร. Mario Hardy, Pacific Asia Travel Asociation (PATA )CEO ในประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในปี 2017 ซึ่ง PATA เสนอที่จะให้คำแนะนำ ความช่วยเหลือ ไทยได้กล่าวถึง 3 ประเด็นหลัก คือ 1) การพัฒนบุคคลากรด้านการท่องเที่ยว 2) ความปลอดภัยนักท่องเที่ยว และ 3) Digital Tourism ซึ่ง PATA แนะนำให้หารือกับ Microsoft ในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสถิติต่อไปเพื่อให้สอดรับกับไทยแลนด์ 4.0 สู่ระดับ Asean Connectในอนาคต "นางกอบกาญจน์ กล่าวเน้นย้ำ

ถึงวันนี้ไทยยืนยันความพร้อมของการเป็นศูนย์กลางเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในอาเซียนและพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพจัดงานร่วมกับองค์การชั้นนำระหว่างประเทศอย่างองค์การการทองเที่ยวโลก (UNWTO) และสภาการเดินทางการท่องเที่ยวโลก (WTTC) โดยในปีนี้จะมีการจัดงานร่วมกับ WTCC ในหัวข้อ “Transforming Our World” ช่วงเดือนเมษายน 2560และในปี พ.ศ. 2561ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดงาน ATF 2018 ในหัวข้อ “ASEAN: Sustainable Connectivity, Boundless Prosperity”ระหว่าง 22-26ม.ค.2561ที่จังหวัดเชียงใหม่