ก้าวสำคัญของ‘นครซีอาน’สู่ Madein China 2025

22 ม.ค. 2560 | 01:00 น.
โมเดลเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 ของหลายประเทศชั้นนำทางอุตสาหกรรม ล้วนแล้วแต่อยู่บนพื้นฐานของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เช่นกรณีที่สหรัฐอเมริกาพูดถึง A Nation of Makers อินเดียที่กำลังผลักดัน Make in India และเยอรมนี ประเทศแรกๆของโลกที่ประกาศเดินหน้าสู่ Industry 4.0ได้อย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2013

อีกฟากหนึ่งของโลก “จีน” ประเทศมหาอำนาจในเอเชียก็ไม่ตกขบวนแนวคิดเหล่านี้ พัฒนานโยบายจาก “China Industry 4.0” สู่การประกาศโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “Made in China 2025” เตรียมพร้อมการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างเต็มตัว การตื่นตัวครั้งนี้ทำให้ประเทศทั่วโลกหยุดอยู่กับที่ไม่ได้ เพราะตระหนักดีว่าเมื่อชาติใดพร้อมก่อนในเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรม นั่นหมายถึงโอกาสในการครองพื้นที่ตลาดการค้าโลก

สำหรับ “Made in China 2025” เป็นยุทธศาสตร์สร้างประเทศจีนให้มีความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมการผลิตด้วยด้วยนวัตกรรมชั้นสูง เกิดขึ้นอย่างครบวงจรภายใน ปี 2025 มุ่งเข้าสู่กระบวนการผลิตอย่างอัจฉริยะ เปลี่ยนจีนจากเดิมที่เป็นเพียงโรงงานโลก ให้เป็นผู้นำฐานการผลิตโลกตั้งแต่ต้นทางวัตถุดิบ ผสมผสานนวัตกรรมการวิจัยให้เกิดผลิตภัณฑ์คุณภาพ ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตแห่งโลกอนาคต ในการจัดการทุกกระบวนการอุตสาหกรรมให้รวดเร็วและเป็นระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

หนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของโมเดลนี้คือ “นครซีอาน”เมืองเอกของมณฑลส่านซี เป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางสายไหมที่ได้รับการส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตามแผนการพัฒนาจีนตะวันตกทุกด้าน ทั้งการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การพัฒนาผลิตชิ้นส่วนและส่งออกซอฟแวร์ด้านอากาศยานป้อนบริษัทผลิตเครื่องบินอย่างโบอิ้งและแอร์บัสด้วยนวัตกรรมใหม่ กระทั่งเป็นศูนย์กลางหลักด้านวิจัยทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาบุคคลากรเฉพาะด้านเพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ล่าสุดปลายปี 2559 ต่อเนื่องปี 2560 คณะกรรมการเขตพัฒนาอุตสาหกรรมระดับสูงนครซีอาน (Xian-High-Tech Industrial Development Zone: XHTZ) ได้ลงนามความร่วมมือกับ BYD บริษัทผลิตรถยนต์ด้วยนวัตกรรมรายใหญ่ของจีนใน 3 โครงการใหญ่ ได้แก่

1) โครงการ High-End Smart Terminal Manufacturingเพื่อการผลิตรถโค้ชพลังงานสะอาด รถบัสพลังงานไฟฟ้าและสายการผลิตรถรางเดี่ยวมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านหยวน (5,200 ล้านบาท)โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าการผลิตถึง 2.5 หมื่นล้านหยวนต่อปี (1.3 แสนล้านบาท)

2) โครงการผลิตรถโดยสารพลังงานทางเลือกใหม่ มีแผนการลงทุนมูลค่ากว่า 2,000 ล้านหยวน (ราว 10,000 ล้านบาท) กำลังการผลิตมากกว่า 5,000 คันต่อปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 (ปี 2558-2562)ซึ่งรถโดยสารที่ผลิตในโครงการนี้ส่วนหนึ่งจะนำไปใช้ในการคมนาคมในพื้นที่มณฑลส่านซีและพื้นที่อื่น ๆ ในจีน สร้างนครซีอานเป็นเมือง “One-day Transportation”

3) โครงการรถไฟรางเดี่ยวชนิดวางคร่อมราง (Straddle-type Monorail) มูลค่าการลงทุนกว่า 2,000 ล้านหยวน (ราว หมื่นล้านบาท) ประกอบด้วย การก่อสร้างโรงประกอบรถไฟ โรงผลิตรางรถไฟ และโรงผลิตชิ้นส่วน คาดการณ์มูลค่าการผลิตราว หมื่นล้านหยวนต่อปี (ราว 5.1หมื่นล้านบาท) เมื่อโครงการแล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 1-3หมื่นคนต่อชั่วโมง ซึ่งมีต้นทุนการผลิตและการก่อสร้างต่ำกว่ารถไฟใต้ดิน

โครงการดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างที่ตอบโจทย์Made in China 2025 อย่างชัดเจนและมีแนวโน้มว่าจีนจะประสบความสำเร็จในเวทีโลกได้ไม่ยาก ด้วยความพร้อมด้านนวัตกรรมและความพยายามเชื่อมเอเชียกับยุโรป “นครซีอาน” จุดเริ่มต้นทางสายไหมแห่งนี้จึงมีแนวโน้มที่สดใสและยังนำร่องปฏิรูปเพื่อยกระดับเขต XHTZ ให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนที่การลงทุนเมื่อเปิดเขตการค้าเสรีมณฑลส่านซีอย่างเป็นทางการจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560