เลขาฯสมอ.งานหนักไล่จับสินค้าไม่มีมาตรฐาน

22 ม.ค. 2560 | 05:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทคุ้มครองผู้บริโภค ในการกำหนดมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรมให้มีความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งสมอ.จะต้องไล่ให้ทันกับเล่ห์เหลี่ยมของผู้ประกอบการ ที่จะผลิตสินค้าหรือนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพมาจำหน่ายไม่ให้หลุดไปถึงมือผู้บริโภค เพราะนับวันยิ่งจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

บทบาทสำคัญจึงตกอยู่กับนายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการ สมอ.คนใหม่ที่เข้ามารับงานต่อ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา "ฐานเศรษฐกิจ"ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ถึงทิศทางของสมอ.จากนี้ไปว่าจะกำหนดบทบาทในการดำเนินงาน รวมถึงเรื่องเร่งด่วนที่จะดำเนินงานในปีนี้

 ดัน มอก. 300 รายการปี 60

โดยเลขาธิการ สมอ.ชี้ให้เห็นว่า ในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในปีนี้ จะดำเนินงานเพิ่มเติมอีกประมาณ 300 รายการ จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วประมาณ 3,000 รายการ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่จะออกมอก.นี้จะต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทโดยดำเนินการร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว ทั้งในกลุ่มของรถยนต์ ยานยนต์ และกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น หรือใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายว่าต้องการมาตรฐานเรื่องใด

ในขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ก็มีการนำเสนอให้มีการออกมอก.ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับกลุ่มรถยนต์ โดย สมอ. ก็จะนำข้อมูลต่างๆมารวบรวมเข้าด้วยกัน เพื่อจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังในการดำเนินการ เช่น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็มีการเตรียมตัวในเรื่องของปลั๊กที่จะใช้เสียบชาร์จไฟ รวมถึงสถานีชาร์จไฟ เป็นต้น ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินงาน

โดยล่าสุดกลุ่มยานยนต์ได้นำเสนอเรื่องของมาตรฐานระบบไฟฟ้าของรถยนต์รุ่นใหม่ ก็ต้องปรับแผนแม่บทให้สอดคล้องกับความต้องการ และมีการตั้งคณะกรรมขึ้นมาดูแล เพื่อนำไปสู่การออกมาตรฐาน สนองต่อความต้องการของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งในจำนวน 300 รายการนี้ จะมีการกำหนดมาตรฐาน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ประมาณ 79 เรื่องซึ่งจะครอบคลุม 9 สาขาผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 4 เรื่อง 2.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 11 เรื่อง 3.อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 17 เรื่อง 4.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 8 เรื่อง 5.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 11 เรื่อง 6.อุตสาหกรรมเชื่อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 3 เรื่อง 7.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร 6 เรื่อง 8.มาตรฐานนวัตกรรม 9 เรื่อง และ9.มาตรฐานสมุนไพร 10 โครงการ เพื่อประกาศใช้เป็น มอก. รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคต สนองนโยบายของรัฐบาล และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ประเทศไทย 4.0

 ทำมอก.S-CurveแลŒ้ว5 กลุ‹่ม

นายพิสิฐ กล่าวอีกว่า สำหรับไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานตามกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ไปแล้วทั้งสิ้น 32 เรื่อง จำแนกเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เช่น สารยึดฟันเทียม ถุงยางอนามัย เลนส์แว่นตา จำนวน 14 มาตรฐาน 2.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เช่น มาตรฐานฟังก์ชันนิรภัยของระบบที่เกี่ยวข้องกับ ความปลอดภัยที่ใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 7 มาตรฐาน 3.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เช่น การประจุไฟฟ้าผ่านตัวนำของยานยนต์ไฟฟ้าในผลิตภัณฑ์เต้าเสียบ เต้ารับ-จ่าย ตัวต่อยานยนต์และเต้ารับยานยนต์ จำนวน 3 มาตรฐาน

4.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ เช่น มาตรฐานมูลฐานและข้อแนะนำ การหาอัตราส่วนชีวมวลคาร์บอนในพลาสติก จำนวน 3 มาตรฐาน และ 5.มาตรฐานนวัตกรรม ซึ่งสมอ. ได้กำหนดมาตรฐานโดยนำผลงานวิจัยมาพัฒนาต่อยอด เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยกำหนดมาตรฐานแล้วจำนวน 5 มาตรฐาน ได้แก่ กล่องบรรจุชิ้นเนื้อทางศัลยกรรม มีดผ่าตัดนิ้วล็อก แผ่นรองฝ่าเท้าเพื่อลดแรงกระแทกสำหรับใช้ในทางการแพทย์ ลูกถ้วยแยกสายไฟฟ้าพอร์ซเลนชนิดเคลือบเซรามิกพร้อมโพลิเมอร์ยึดสายไฟฟ้า กระเบื้องเทอร์มอเซตติ้งโพลิเมอร์ เป็นต้น

 เชื่อสินค้าไร้ มอก. ไม่ลดลง

นอกจากงานออกมาตรฐานมอก.แล้ว สมอ.ยังมีหน้าที่ที่จะต้องติดตามตรวจสอบ หรือไล่จับสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานหรือไม่มีคุณภาพ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่หนัก เพราะวันนี้ระบาดหนักมากขึ้น ทั้งจากสินค้าที่ผลิตในและนำเข้ามาจากต่างประเทศ แม้ว่าในช่วงปีที่ผ่านมา จะกวดขันและปราบปรามอย่างต่อเนื่องก็ยังไม่หมดไป และในปี 2560 นี้ ก็เชื่อว่าน่าจะไม่ลดลงจากปีที่ผ่านมา เพราะประชาชนมีความต้องการสินค้ามากขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกวัน ส่งผลให้มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าเกิดความล้าสมัยไปอย่างรวดเร็ว และมีการนำสินค้าเข้ามาทดแทนมากขึ้น

 ตรวจจับแลŒว 317 ราย

เห็นได้จากข้อมูลการติดตามตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าในร้านค้าต่างๆ ในช่วง 10 เดือน ปีงบประมาณ 259 (ตุลาคม 2558-กรกฎาคม 2559) พบว่ามีผู้กระทำผิดนำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มอก. จำนวนมาก จากที่เข้าตรวจสอบจำนวน 1,653 ครั้ง สามารถยึดหรือายัดผลิตภัณฑ์คิดเป็นมูลค่าได้ราว 3,374 ล้านบาท ในจำนวน 317 ราย 143 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เช่น เป็นสินค้าเหล็กกล้าคาร์บอนรีดร้อนแผ่นม้วน แผ่นหนา แผ่นบาง สำหรับงานโครงสร้างทั่วไป รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้า สีและเครื่องกล

โดยเฉพาะปัญหาเหล็กนำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน หากตรวจพบก็จะอายัดไว้ทันที่ อย่างกรณีตัวอย่างของเหล็กที่นำเข้ามาจากประเทศซาอุดิอาระเบีย 4-5 หมื่นตัน เมื่อยังไม่มีมาตรฐานรองรับ ก็ต้องอายัดไว้ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการสรุปเพื่อส่งเรื่องให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ต่อไป ขอยืนยันว่าว่า สมอ. ไม่ได้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามที่มีการนำเสนอ โดยเรื่องดังกล่าวนี้ตนจะลงไปจัดการด้วยตนเอง เพื่อให้เรื่องดำเนินการไปอย่างถูกต้องตามกฎระเบียบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560