สุทธิพงษ์ ดำรงค์สกุล ผู้บริหารและนักพัฒนานิคมอุตสาหกรรม

22 ม.ค. 2560 | 07:00 น.
จากมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในปี 2558 กว่า 3.7 แสนล้านบาท และช่วง 11 เดือนแรกของปี 2559 ที่ผ่านมาที่สูงถึง 4.7 แสนล้านบาท ยึดอันดับ 3 สินค้าส่งออกสำคัญของประเทศรองจากสินค้ารถยนต์และสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

อย่างไรก็ดี หากไม่ใช่คนที่อยู่ในวงการอัญมณีแล้ว น้อยคนนักที่จะทราบว่ามูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ 3-4 แสนล้านบาท ประมาณ 30% หรือมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี มาจากผู้ประกอบการที่เข้าไปตั้งโรงงาน หรือสำนักงานติดต่อซื้อขายอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี หรือที่รู้จักกันในนาม “เจมโมโพลิส” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตประเวศของกรุงเทพฯ นี่เอง ปัจจุบันเจมโมโพลิสอยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท ไอ.จี.เอส. จำกัด (มหาชน) ที่มี “สุทธิพงษ์ ดำรงค์สกุล” ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้บริหารมืออาชีพในรุ่นที่ 2 ที่อยู่กับบริษัทมานานกว่า 20 ปี

“ปัจจุบันมีบริษัทอัญมณีประมาณ 200 บริษัท เข้าไปตั้งอยู่ในเจมโมโพลิส มีคนงาน และพนักงานรวมกันกว่า 2 หมื่นคน โดยสัดส่วน 80% เป็นบริษัทต่างชาติ รวม26 ประเทศ

รายใหญ่สุดคือแพนดอร่า โพรดักชั่น จากเดนมาร์ก ที่อยู่กับเรามานานกว่า 20 ปี เติบโตมาตั้งแต่มีคนงานอยู่ 5-6 คน วันนี้เขามี 1.4 หมื่นคน และกำลังขยายโรงงานใหม่ พื้นที่กว่า 2 หมื่นตารางเมตรจะแล้วเสร็จภายในปี 2560 นี้” สุทธิพงษ์ กล่าวและเล่าอีกว่า

เจมโมโพลิสเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เน้นด้านอัญมณีและเครื่องประดับเป็นหลัก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533ต่อมาในปี 2551 ด้วยการสนับสนุนจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) จึงได้จัดทำโครงการเจมโมโพลิส ฟรีโซน ซึ่งเป็นฟรีโซนแห่งแรกและแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่สามารถประกอบกิจการได้หลากหลาย ได้แก่กิจการอัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกา ไอทีโทรคมนาคม อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เลนส์ แว่นตา เครื่องเขียนเครื่องกีฬา ของเด็กเล่น เป็นต้น

ล่าสุด เจมโมโพลิส ได้จัดทำโครงการเจมโมโพลิสฟรีในโซนที่ 2 รูปแบบเป็นอาคาร 5ชั้น พื้นที่ประมาณ 1 หมื่นตารางเมตร ใช้เงินลงทุนไปเกือบ 400 ล้านบาท เพื่อรองรับกิจกรรมด้านการค้า การบริการ และการผลิตในรูปแบบของแนวราบ รองรับผู้ประกอบการตั้งแต่ขนาด SS หรือเล็กที่สุด ไปจนถึงขนาดกลาง และขนาดใหญ่

“ขณะนี้มีผู้ประกอบการได้เข้าใช้พื้นที่แล้วประมาณ 50% ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ที่เข้ามาใช้เป็นสำนักงาน รวมถึงเป็นส่วนการผลิต เป็นส่วนมาร์เก็ตติ้ง เทรดดิ้ง เซอร์วิสออฟฟิศ โปรดักชัน และจัดจำหน่ายครบวงจร ส่วนหนึ่งมีบริษัทขายเครื่องกีฬากอล์ฟมาตั้งสำนักงาน เป็นต้น ซึ่งหากเต็มพื้นที่ตามที่คาดไว้ในสิ้นปี 2560 จะมีอีก 35 บริษัทเข้ามาอยู่ในเจมโมโพลิส ทั้งนี้ เรื่องสิทธิประโยชน์ฟรีโซนหากใครนึกไม่ออกขอให้นึกถึงฮ่องกงที่เป็นเขตประกอบการเสรีนำเข้า-ส่งออกสินค้าไม่มีภาษี แต่หากขายสินค้าในประเทศถึงจะเสียภาษีการค้าหัก ณ ที่จ่ายในวันที่ขาย”

“สุทธิพงษ์” เล่าว่า จากที่ได้เป็นผู้บริหารเจมโมโพลิสเป็นรุ่นที่ 2 รวมระยะเวลามายาวนานกว่า 20 ปี ผ่านช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 มาแล้ว และโครงการก็เจริญเติบโตมาตามลำดับ ปัจจุบันมูลค่าทางธุรกิจที่เกิดจากการลงทุน และการขายโครงการหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลของหลายประเทศที่ชอบโมเดลธุรกิจแบบนี้ เช่นแอฟริกาใต้ อินเดีย ศรีลังกา จีน ได้เชิญบริษัทให้ไปเปิดเจมโมโพลิสในประเทศของตนแต่เรายังไม่สนใจ

“การบริการลูกค้า คือ เป้าหมายหลักของเรา หลักการคือเราออฟเฟอร์แบบวันสต็อปเซอร์วิส ลูกค้าถือกระเป๋ามาใบเดียว ที่เหลือเราทำให้หมด ตั้งแต่ขอไลเซนส์การขอใบอนุญาตต่างๆ การจดทะเบียนบริษัท หาคนงาน พนักงานให้ รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านอื่นๆ แบบเบ็ดเสร็จ ลูกค้ามีหน้าที่เพียงไปเซตอัพไลน์ผลิตเอง นี่คือจุดขายของเรา ซึ่งเมื่อลูกค้าได้รับการบริการที่ดีจากเรา มาอยู่แล้วแฮปปี้ก็จะเกิดการบอกต่อแบบปากต่อปาก”

แม้ปัจจุบันบริษัทจะไม่มีคู่แข่งขันธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมด้านอัญมณีในประเทศ แต่ก็ถือมีภัยคุกคามจากภายนอก ที่หลายประเทศได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่จูงใจมากกว่าไทย ซึ่งจะส่งผลให้ทุนต่างชาติเข้ามาไทยน้อยลง ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทยว่าจะหาวิธีการอย่างไรในการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาเมืองไทยมากขึ้น รวมถึงที่ตั้งในไทยแล้วไม่ย้ายหนีออกไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560