ผุดฮาร์โมไนซ์ รร.ฮาลาลในเชียงใหม่

22 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
ประธานหอฯเชียงใหม่ ทุ่มงบ140ล้าน เปิดฮาร์โมไนซ์ โรงแรมฮาลาล ต้นแบบแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ เคร่งครัดตามหลักศาสนาอิสลาม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวตะวันออกกลางและอาเซียน

นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงค์ ประธานกรรมการบริหารโรงแรมฮาร์โมไนซ์ เปิดเผยว่า บริษัทได้ทุ่มงบ140 ล้านบาท เปิดฮาร์โมไนซ์ โรงแรมฮาลาลต้นแบบแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ใช้งบ 140 ล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2558 บนเนื้อที่ 4 ไร่ และสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อช่วงกลางปี 2559 ที่ผ่านมา ตั้งเป้าให้เป็นโรงแรมระดับ 3 ดาวครึ่ง มีห้องพัก 77 ห้อง เป็นห้องสวีต 2 ห้อง ห้องดีลักซ์ 4 ห้อง ห้องสุพีเรียร์ 71 ห้อง แบ่งออกเป็น 2 โซน โซนด้านหน้าเป็นอาคาร 5 ชั้น จำนวน 51 ห้อง มีห้องอาหาร ห้องละหมาดไว้รองรับ และโซนด้านหลัง จำนวน 26 ห้องมีความเป็นส่วนตัว เป็นชั้นเดียวโดยแยกเป็นหลังมีห้องนั่งเล่น ด้านหลังมี 26 ห้องจะเป็นชั้นเดียวโดยแยกเป็นหลัง ให้มีความเป็นส่วนตัว มีห้องอาหาร ห้องประชุมและห้องละหมาด ซึ่งเน้นความสะอาด สะดวกสบายให้บริการลูกค้าทั้งที่เป็นมุสลิม และไม่ใช่มุสลิม ราคาอยู่ที่ระดับ 1,200-2,000 บาทต่อคืน

"จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคเหนือ และประเทศไทยก็เป็นศูนย์กลางของกลุ่มประเทศอาเซียน ปัจจุบันประเทศในกลุ่มอาเซียนมีประชากรที่เป็นมุสลิมอยู่ประมาณ 300 ล้านคน ดังนั้นด้วยศักยภาพของเชียงใหม่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวก็เป็นเป้าหมายแรกที่ประชากรไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็อยากจะมาเที่ยวมาพักผ่อนที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยวัฒนธรรมของประชากรมุสลิมในเรื่องของอาหาร จะต้องเลือกทานอาหารที่มีเครื่องหมายฮาลาลรับรองมาตรฐานไว้ด้วย และในขณะเดียวกันในเรื่องของที่พักก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประชากรมุสลิม

นางวิภาวัลย์ กล่าวต่อไปว่า เชียงใหม่มีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาปีละ 7-8 ล้านคน จะมีประชากรมุสลิมเข้ามาประมาณ 20% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ดังนั้นจากการศึกษาและการสำรวจพบว่าทางประชากรมุสลิมยังไม่มีความมั่นใจในการที่จะเข้ามาเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่หรือมาพักมาอาศัยว่าจะสามารถหาอาหารที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามได้ขนาดไหน ฮาร์โมไนซ์จึงได้จัดหาห้องพักที่เหมาะสมกับวิถีมุสลิม เช่น ห้องพักทุกห้องจะต้องมีสายชำระ เนื่องจากว่าเป็นวัฒนธรรมในวิถีชีวิตของประชากรมุสลิมว่าการชำระร่างกายให้สะอาดทุกส่วนจะต้องมีสายชำระด้วย และในเรื่องของการละหมาด จะต้องมีสถานที่ละหมาดให้เนื่องจากว่าบางครั้งที่พักอาจจะอยู่ไกลจากมัสยิด จะต้องจัดหาสถานที่ในการที่จะต้องทำในเรื่องของประเพณีหรือวัฒนธรรมของมุสลิมโดยการละหมาด

"ซึ่งการที่เรามีที่พักเพื่อรองรับให้กับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม มีร้านอาหารมีภัตตาคาร มีแหล่งท่องเที่ยวไว้รองรับก็จะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น ประชากรมุสลิมโดยส่วนใหญ่ซึ่งขณะนี้ทั้งโลกมีถึง 1,800 ล้านคน ถ้าเรามีสถานที่พัก โรงแรม ห้องอาหาร ครัว ที่เป็นฮาลาล ประชากรมมุสลิมก็จะมาเที่ยวมากขึ้น รายได้ก็จะเกิดมากขึ้นสำหรับคนในพื้นที่เชียงใหม่ของเรา ดังนั้นผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นคนมุสลิม หรือชาวพุทธหรือทุกศาสนิกก็สามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของโรงแรม เป็นเจ้าของร้านอาหารฮาลาลได้"

นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้เกิดการลงทุนด้านโรงแรมฮาลาลที่รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าได้รับรู้เกี่ยวกับความสำคัญ หลักการสำคัญของฮาลาล อย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ตลอด จนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ได้ผลักดันและส่งเสริมให้เกิดการตื่นตัวในพื้นที่อย่างมาก รวมถึงได้เกิดแผนแม่บทฮาลาล เพื่อการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ในระยะ 5 ปีระหว่างปี 2560-2564 เกิดขึ้นมาเพื่อให้เป็นแนวทางในการทำธุรกิจด้านฮาลาลในพื้นที่

การท่องเที่ยวของมุสลิมนับเป็นตลาดกลุ่มที่เติบโตเอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งทางรัฐบาลเล็งเห็นในสิ่งนี้ จึงได้ส่งเสริมให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม เนื่องจากการท่องเที่ยวฮาลาลเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวฮาลาลจะสูงถึง 150 ล้านคน ภายในปี 2563 โดยมียอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และนับเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย ที่ติดอันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมอันดับ 2 สำหรับชาวมุสลิม ที่เป็นประเทศนอกองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ Organisation of Islamic Cooperation : OIC มาเป็นเวล 2 ปีติดต่อกัน

ทางด้านนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ต้องชื่นชมและแสดงความยินดีผู้บริหารโรงแรมที่ได้สร้างที่พักที่สร้างความมั่นใจให้กับพี่น้องมุสลิมและผู้สนใจผลิตภัณฑ์นี้ ซึ่งอุตสาหกรรมบริการฮาลาลกำลังเติบโตในทั่วโลก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบียที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอัตราเติบโตถึง 10% ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ฮาลาลเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้มาใช้บริการ เพราะประเทศไทยมีความมุ่งมั่นพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ฮาลาล ซึ่งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อความสำราญที่ปราศจากข้อห้ามตามบทบัญญัติของศาสนาโดยเฉพาะในเรื่องของการบริโภคอาหารฮาลาล สถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่เป็นไปตามหลักการศาสนาด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560