ฟันธง! “ปรองดอง” ไม่หมู เหตุเป็นความข้ดแย้งการเมือง-อุดมการณ์-ชิงอำนาจ

21 ม.ค. 2560 | 11:14 น.
ฟันธง“ปรองดอง”ไม่หมู
เหตุเป็นความข้ดแย้งการเมือง-อุดมการณ์-ชิงอำนาจ

โดย : ฐานเศรษฐกิจ

แกนนำพรรคการเมือง-กลุ่มขั้วขัดแย้ง หนุนสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม แต่หวั่นไม่ง่ายเหตุเป็นความขัดแย้งทางการเมือง อุดมการณ์ และอำนาจบริหาร หวังความเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สะบัดปากกาตั้ง คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งหัวโต๊ะ “คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง” ทำให้คณะกรรมการชุดนี้ถูกจับตามองมากที่สุด

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจท่าทีของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนการสร้างความปรองดอง แต่ก็มีบางคนที่แสดงความเป็นห่วงว่าจะไม่ง่าย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย(ภท.) ชี้ว่า ความปรองดองที่ว่า ต้องอยู่บนสมมติฐานที่ทุกฝ่ายต้องการเห็นบ้านเมืองเกิดประโยชน์ เพราะบางประเทศ สร้างความขัดแย้งเพื่อช่วงชิงอำนาจปกครองบ้านเมือง ดังนั้น ผู้ที่จะมาเป็นกรรมการ เป็นกาวใจให้ความปรองดองเกิดขึ้นก็ลำบาก เพราะไม่ได้เกิดจากอุดมการณ์แต่เกิดจากความต้องการมีอำนาจรัฐ แบบนี้คงต้องเหนื่อย แต่คงไม่ถึงขั้นทำไม่ได้ เพราะวันนี้ประชาชนตื่นตัวและเข้าถึงข่าวสารมากขึ้น กล้าที่จะตัดสินใจว่า ต้นเหตุความขัดแย้งมาจากวัตถุประสงค์ใด แบบนี้อาจเกิดขึ้นได้แต่จะไม่ง่าย

“ถ้าความขัดแย้งเกิดจากประโยชน์ของรัฐอย่างเดียว คือ เกิดจากความเห็นที่ต่างต้องการจะทำความเจริญให้ประเทศ แบบนี้ง่าย กรรมการสบาย แต่นี่ไม่ เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง อุดมการณ์ และทางอำนาจการบริหารบ้านเมืองและอำนาจการปกครอง เพราะไม่เช่นนั้นคงจบไปนานแล้ว” นายอนุทิน ระบุ

ด้านนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (กปปส.) ให้ความเห็นว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ บ้านเมืองสงบเรียบร้อย เดินหน้าปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ แก้ปัญหาคอร์รัปชัน  ลดความเหลื่อมล้ำ ใช้เศรษฐกิจนำหน้า แก้ปัญหาปากท้องประชาชน นี่คือ การปรองดองที่ยั่งยืน คสช.วางหลักไว้ดี เดินมาถูกทางแล้ว ไม่ได้พูดเฉพาะแค่เรื่องปรองดอง แต่พูดเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและเรื่องการปฏิรูปประเทศด้วย

“การสร้างความปรองดองให้มานั่งกินไอติม ทำสัญญาเอ็มโอยู เป็นภาพสะท้อนที่ผิวเผิน การนำเรื่องนี้ขึ้นมาทำ เนื่องจาก คสช.มองไปข้างหน้า สังคมต้องเดินไปในแนวทางนี้ อยากให้เกิดขึ้นเร็วก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนเสียก่อนว่า ปัญหาในอดีตเกิดขึ้นเพราะอะไร และเรื่องปรองดอง เราควรคิดบวก ไม่ควรอคติ เป็นความพยายามที่ดี และชื่นชมรัฐบาล ส่วนจะทำได้ขนาดไหนเป็นอีกเรื่อง เรื่องปรองดองแม้จะยาก แต่ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กล่าวว่า คงต้องนำพรรคการเมืองมาคุยกันก่อน หากหลักของ พล.อ.ประวิตร ที่บอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนิรโทษ หรือการอภัยโทษก็สนับสนุน ส่วนการเยียวยาจะเกิดขึ้นได้ต้องทำให้รู้ก่อนว่า ใครผิดใครถูก ถ้ามาแนวนี้ยกมือเชียร์เต็มที่เพราะเป็นหลักสากลที่ทั่วโลกใช้กัน ส่วนให้ไปเซ็นเอ็มโอยูกับใครต้องดูใดดี แต่ก็ไม่มีปัญหาและพร้อมให้ความร่วมมือ

ขณะที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า การเชิญฝ่ายต่างๆ มาร่วมลงนามเอ็มโอยูเพื่อปรองดอง เป็นนิมิตรหมายที่ดี แม้ว่าบางกลุ่มจะมีข้อห่วงใยและเกรงว่าอาจจะไม่สำเร็จได้จริง แต่หาก พล.อ.ประวิตร ขจัดความขัดแย้งในบ้านเมืองให้หมดไป สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ประสบความสำเร็จก็มีโอกาสที่จะได้รับคำสรรเสริญชื่นชมจากประชาชน

“หวังจะเห็นทำเรื่องนี้ ด้วยความเป็นธรรม ตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฎิบัติ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง คนไทยทุกคนควรหันกลับมาช่วยกันปฏิรูปตนเอง เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกัน เคารพหลักมนุษยธรรม ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ นิติธรรม มาช่วยกันทำความดีเพื่อประเทศไทย”

เช่นเดียวกับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ระบุว่า พร้อมให้ความร่วมมือและจะไม่เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการนี้ ถ้าเริ่มด้วยความจริงใจโดยเฉพาะจากฝ่ายผู้มีอำนาจเชื่อว่าจะให้ผลเป็นรูปธรรมระดับหนึ่ง อาจจะดีกว่าย่ำอยู่ที่เดิม

การตั้งคณะกรรมการโดยอำนาจนายกรัฐมนตรี ก็ต้องพิจารณาว่า คณะผู้มีอำนาจชุดนี้มีบทบาทเป็นคู่กรณีหรือเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งหรือไม่ ในต่างประเทศที่ไม่ถึงขั้นสงครามกลางเมือง แม้จะไม่ใช้สหประชาชาติและไม่มีต่างชาติมาร่วมเป็นกรรมการ แต่มีกระบวนการสรรหาที่ภาคส่วนต่างๆ ทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ภาคประชาสังคม และคู่ขัดแย้ง คัดเลือกและให้การรับรอง ไม่มีประเทศใดสร้างความปรองดองสำเร็จโดยอำนาจของคู่กรณีในความขัดแย้ง การดำเนินการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่บทสรุปที่ยอมรับร่วมกันได้

12549

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 22-25 มกราคม 2560