ตั้งทีมพิเศษสอบ 2 บริษัทแห่งชาติ

21 ม.ค. 2560 | 10:53 น.
2546879

 

 

ตั้งทีมพิเศษสอบ 2 บริษัทแห่งชาติ 
โดย : บากบั่น บุญเลิศ

ปัญหาการจ่ายสินบนให้นายหน้าของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ของบริษัทโรลส์รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานรายใหญ่ของอังกฤษ และการจ่ายสินบนแก่เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท.ของบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอเนอร์จี ซิสเต็ม นั้น ถือว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยอย่างหนักหน่วง  ชนิดที่เราจะละเลยไม่ได้

โรลส์รอยซ์ ยอมรับว่าได้จ่ายสินบนให้นายหน้าการบินไทยช่วยจัดซื้อเครื่องยนต์เครื่องบิน และมีการกล่าวอ้างถึงเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไทย ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่น เพื่อแลกเปลี่ยนกับการจัดซื้อเครื่องยนต์ไอพ่นและอะไหล่เครื่องบินของโรลส์รอยซ์ เครื่องบินโบอิ้ง 777 รวม 3 ครั้ง ช่วงปี 2534-2548 เป็นเงิน 1,253 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเรื่องสัญญา 3 ฉบับในการจัดหาเครื่องยนต์เครื่องบินรุ่น “เทรนท์” ให้กับบริษัทการบินไทย

เงินสินบนบางส่วนจ่ายให้เป็นรายบุคคล ทั้งตัวแทนของรัฐและพนักงานของรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง เพื่อให้คนเหล่านี้ ดำเนินการในทางที่เป็นประโยชน์ต่อโรลส์รอยซ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อเครื่องบิน

เมื่อเข้าไปตรวจสอบติดตามผลการสอบสวน SFO ของอังกฤษ พบว่า บริษัทโรลส์รอยส์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทยและการบินไทยรวม 3 ครั้ง มูลค่า 36.38 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือราว 1,300 ล้านบาท

ครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างปี 2534 -2535 มีการจ่ายให้เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานบินไทย ผ่านนายหน้าจำนวน18.8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ให้เลือกซื้อเครื่องไอพ่น T800 สำหรับโบอิ้ง 777 ของการบินไทย

ครั้งที่ 2 ปี 2535 -2540 จ่ายสินบนให้พนักงานการบินไทย 10.38 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อซื้อไอพ่น T800 ล็อต 2 โดยเบิกล่วงหน้า 2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อจัดการขั้นตอนทางการเมือง

ส่วนครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2547-2548 จ่ายเจ้าหน้าที่รัฐรัฐและพนักงานการบินไทย 7.2 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เพื่อซื้อไอพ่น T800 ล็อต 3 รวมทั้งอ้างว่า มีการไปคุยและกินข้าวกับรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติสัญญา

การจ่ายเงินสินบน ทั้ง 3 ก้อน อยู่ในช่วงรัฐบาล ดังต่อไปนี้ จ่ายครั้งแรก 2534-2535 ในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน  ครั้งที่ 2 ปี 2535-2540 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย, สมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา และสมัยรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ครั้งสุดท้าย ปี 2547-2548 ช่วงรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ขณะที่การติดสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอเนอร์จี ซิสเต็ม ให้เจ้าหน้าที่บริษัท ปตท.และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เป็นเงินกว่า 11 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 385 ล้านบาทใน 6 โครงการ ระหว่างปี 2546-2555

เป็นการจ่ายเงินให้ บุคคลระดับผู้บริหาร 1 ราย ระดับพนักงาน 3 ราย และที่ไม่สามารถระบุได้อีก 2 ราย ประกอบด้วย

1.โครงการ GSP-5 ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. 2546-16 พ.ย. 2547 จำนวน 2,494,728 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 87.3 ล้านบาท

2.โครงการ OCS3 ระหว่างวันที่ 19 ม.ค. 2549-24 ม.ค. 2551 จำนวน 1,386,389 เหรียญสหรัฐ หรือ 48.5 ล้านบาท

3.โครงการ PTT Arthit ระหว่างวันที่ 19 ม.ค. 2549- 18 ม.ค. 2551 จำนวน 1,096,006 เหรียญสหรัฐ หรือ 38.3 ล้านบาท

4.โครงการ PCS ระหว่างวันที่ 15.-29 ก.ย. 2549-11 ก.ย. 2551 จำนวน 2,073,010 เหรียญสหรัฐ หรือ 72.5 ล้านบาท

5.โครงการ ESP-PTT ระหว่างวันที่ 24 พ.ค. 2550-18 ก.พ. 2556 จำนวน 1,934,031 เหรียญสหรัฐ หรือ 67.6 ล้านบาท

6.โครงการ GSP-6 ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. 2551-13 พ.ย. 2552 จำนวน 2,287,200 เหรียญสหรัฐ หรือ 80 ล้านบาท

ผมเห็นว่า เรื่องนี้ผู้นำรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ผู้บริหารบริษัทการบินไทย บริษัท ปตท.สผ. จะละเลยไม่ได้ ต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงของบุคคลที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งต้องมีมาตรการลงโทษผู้กระทำผิด และวางแนวทางแก้ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตให้ได้

รัฐบาลต้องตระหนักให้ดีว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นของ 2 รัฐวิสาหกิจใหญ่ของไทยนั้น มิใช่เป็นการทุจริตที่เกิดขึ้นในบริษัท แต่เป็นการทุจริตคอรัปชั่นของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีแบรนด์หรือตราสัญญลักษณ์ของประเทศไทย เป็นบริษัทแห่งชาติทั้ง 2 แห่ง ทั้ง 2 แห่งนำแบรนด์ชาติไทยออกไปสู่เวทีโลก ความมัวหมองของการบินไทยและ ปตท.คือความมัวหมองของคนไทย

เมื่อมีข้อมูลลึกขนาดนี้ จะละเลยแล้วปล่อยให้เป็นไปตามกลไกปกติในการสอบสวนขององค์กร ของสตง.เพื่อเอาผิดฐานทุจริตคอรัปชั่นไม่ได้
รัฐบาลต้องคิดนอกกรอบ ด้วยการตั้งทีมขึ้นมาสอบสวนที่เป็นอิสระจากองค์กรทั้งสอง ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ และต้องประกาศให้สาธารณะชนรับรู้ และต้องทำความจริงให้ปรากฏให้ได้

ผมสอบถามผู้บริหารการบินไทย และบริษัท ปตท.ทำให้ทราบว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นในอดีตนั้นมีการดำเนินการเป็นขบวนการและมีกลุ่มการเมืองเข้ามาเกี่ยวพันด้วยแน่นอน แต่ไม่ยอมบอกว่าเป็นใครบ้าง แต่มีหลักฐานเอกสารบางอย่างที่สาวไปถึงตัวได้

ถ้าเขาเหล่านั้นมีหลักฐาน คงไม่ยากที่รัฐบาลที่ประกาศจะต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นจะตั้งทีมเข้าไปสะสาง อย่าปล่อยให้ รัฐวิสาหกิจทั้งสองที่เอาแบรนด์สินค้าของประเทศไปใช้มัวหมอง ต้องหาทางลากตัวผู้กระทำผิดออกมาให้ได้ นโยบายที่ประกาศเจตนารมณ์ออกไป สัญญาคุณธรรม และการเข้าร่วมเป็นบรรษัทภิบาลที่ดีจะไร้ความหมายถ้าไม่ทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ในรัฐบาลนี้

คอลัมน์: ทางออกนอกตำรา หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 22-25 มกราคม 2560