ฟิลิปปินส์เร่งญี่ปุ่น ลงทุน 5 กลุ่มอุตฯ

21 ม.ค. 2560 | 13:00 น.
หลังจากที่ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นให้คำมั่นกับนายดูเตอร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ว่าจะเทเงินทุน 9,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 324,000 ล้านบาท) สนับสนุนโครงการรัฐและเอกชนฟิลิปปินส์ กระทรวงพาณิชย์ ตากาล็อก เร่งนำเสนอ 5 กลุ่มธุรกิจน่าลงทุนสำหรับญี่ปุ่น

หนังสือพิมพ์ฟิลิปปินส์เดลี่เอ็นไควเรอร์ อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนาย รามอน โลเปซ (Ramon Lopez) รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า 5 ภาคเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาฟิลิปปินส์คืออุตสาหกรรมการผลิตโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ท่องเที่ยว บริการและเกษตรอุตสาหกรรม

รัฐมนตรีการค้าฟิลิปปินส์ระบุว่า นักลงทุนจะได้รับการเชื้อเชิญเป็นการเฉพาะให้ลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน เคมีภัณฑ์ ต่อเรือ เครื่องมือและแม่พิมพ์ เฟอร์นิเจอร์และเสื้อผ้าสำเร็จรูป พลังงาน ขนส่งและโลจิสติกส์

นายโลเปซ กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นสามารถลงทุนในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง บริการที่ไม่เกี่ยวกับเสียง (non-voice) ในอุตสาหกรรมการบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจการแพทย์ บริการการเงินและกฎหมาย และการพัฒนาเกม การออกแบบทางวิศวกรรม ซอฟต์แวร์ และ ธุรกิจแบ่งปัน

ฟิลิปปินส์เดลี่เอ็นไควเรอร์ระบุว่า ระหว่างการประชุมชักชวนนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นนายโลเปซ ได้พูดถึงอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวกับผลผลิตพืชโกโก้ กาแฟ มะม่วง กล้วย มะพร้าว ยางพารา ไผ่ ผลไม้และถั่ว น้ำมันปาล์มและพืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วยว่าอยากจะให้ญี่ปุ่นลงทุน

นายโลเปซ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฟิลิปปินส์ในส่วนงานสนับสนุนการลงทุน ได้พบกับนักธุรกิจญี่ปุ่นที่ติดตามนายอาเบะ มาที่เมืองดาเวาเมื่อเร็วๆ นี้ โดยฝ่ายญี่ปุ่นมีประธานบริษัทชั้นนำอาทิ มารูเบนิ มิตชูบิชิ อิโตชู สุมิโตโม โตโยต้า สุมิฟรู มิซูโฮ โชได คิริน ซูเนชิ โตเกียวก๊าซ อิชิโจ ฮิตาชิ และนากายามาเทคโนโลยี

นายโลเปซ กล่าวว่าเงินลงทุนและเงินช่วยเหลือจากญี่ปุ่นมีมูลค่าใกล้เคียงกับที่ผู้นำาจีน ได้สัญญาว่าจะให้ฟิลิปปินส์ ระหว่างการเยือนจีนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว “ผมคิดว่าการช่วยเหลือจากญี่ปุ่นน่าจมากที่สุด ถ้าเทียบความช่วยเหลือจากประเทศต่าง ๆ ที่สัญญาว่าจะให้กับญี่ปุ่น ในรัฐบาลของนายดูเตอร์เต โดยสูงกว่าจีน เล็กน้อยโดยผู้นำาญี่ปุ่นสัญญาไว้ที่วงเงินรวม 9,000 ล้านดอลลาร์ แบ่งเป็นเงินช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศ 6,000 ล้านดอลลาร์และเงินกู้ 3,000 ล้านดอลลาร์”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560