WEF 2017 จีนชิงโอกาสประกาศศักดาผู้นำโลก

21 ม.ค. 2560 | 05:00 น.
การประชุมเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ปีนี้ กำหนดมีขึ้นระหว่างวันที่ 17-20 มกราคม ภายใต้หัวข้อหลัก Responsive and Responsible Leadership ว่าด้วยคุณลักษณะของผู้นำโลกยุคใหม่ที่ไม่เพียงจะต้องมีความรับผิดชอบแต่ยังต้องตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงหรือความต้องการของบริบทในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนอกเหนือจากหัวข้อหลักที่กำหนดไว้เป็นแก่นแกนการอภิปรายแล้ว ประเด็นร้อนๆที่คาดว่าจะมีการกล่าวถึงในเวทีระดมความคิดเห็นของผู้นำระดับหัวกะทิโลกในปีนี้ คือเรื่องของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ การโบกมืออำลาสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ (Brexit) และเรื่องของผู้นำจีนซึ่งถือเป็นประธานาธิบดีจีนคนแรกที่ตอบรับคำเชิญมาร่วมงานเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม อย่างเป็นทางการ

แม้ว่างานนี้จะเน้นระดมความคิดเห็นของผู้นำในแวดวงธุรกิจระดับโลก แต่ผู้นำในแวดวงการเมืองระหว่างประเทศ ก็มักจะมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ปีนี้ ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง ของจีนเดินทางมาถึงสวิตเซอร์แลนด์ก่อนใครและมีกำหนดกล่าวปาฐกถาว่าด้วยเรื่อง ‘การค้าเสรี’ ในวันเปิดงาน (17 ม.ค.) ขณะที่นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ที่มีคิวสำคัญกล่าวแถลงเกี่ยวกับแผนถอนตัวออกจากอียูที่ประเทศอังกฤษในวันอังคาร (17 ม.ค.) ก็มีกำหนดการบินด่วนมาร่วมงานเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ทันทีหลังจากนั้นและอาจจะได้นัดหมายหารือกับประธานาธิบดีสิ จิ้น ผิงในวันเดียวกัน และหากใครกำลังติดตามว่าสัมพันธภาพระหว่างอังกฤษและอียูจะเป็นอย่างไรต่อไปภายหลังจากกระบวนการ Brexit ก็ไม่ควรพลาดกำหนดขึ้นเวทีเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ของนายฟิลลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีคลังอังกฤษ ที่จะมาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องนี้ในแง่มุมสัมพันธภาพในเชิงเศรษฐกิจ (คิวขึ้นอภิปรายวันศุกร์ที่ 20 ม.ค.)

ประเด็นร้อนเกี่ยวกับท่าทีของผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับระบบการค้าเสรีพหุภาคีเนื่องจากเห็นว่าเป็นข้อตกลงที่ทำให้สหรัฐฯเสียเปรียบ กระทั่งทำให้หลายฝ่ายหวั่นใจว่าจะเป็นชนวนนำไปสู่การประทุสงครามการค้านั้น ก็เป็นประเด็นที่โลกกำลังจับตาว่า ทั้งผู้นำธุรกิจและผู้นำรัฐบาลที่มาร่วมงานเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ที่ดาวอสในปีนี้ จะสะท้อนความคิดเห็นกันออกมาอย่างไรบ้าง งานนี้แม้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯจะไม่ได้มาร่วม (เพราะวันศุกร์ที่ 20 ม.ค. ตัวเขาเองก็มีกำหนดเข้าร่วมพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง) แต่ก็ส่งที่ปรึกษาระดับสูง คือนายแอนโทนี สคารามุชชี หนึ่งในทีมที่ปรึกษาที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการเฮดจ์ฟันด์ มาขึ้นเวทีอภิปรายว่า นายทรัมป์มีแผนจะทำอะไรบ้างในฐานะผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ

การที่นายทรัมป์ไม่ได้มาร่วมงาน นับเป็นการเปิดช่องโอกาสให้ประธานาธิบดีจีนที่นำคณะนักธุรกิจชุดใหญ่ซึ่งรวมถึงนายแจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา บริษัทอี-คอมเมิร์ซแถวหน้าของโลก และนายหวัง เจี้ยนหลิน เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์แห่งอาณาจักร ต้าเหลียน แวนด้า ได้มาประกาศศักดาตอกย้ำว่า จีนก็เป็นหนึ่งในผู้นำโลก ประเด็นที่เขาจะพูดถึงเพื่อให้สปอตไลท์สาดส่องมาที่จีนคือ ยุทธศาสตร์ของประเทศว่าจะดำเนินไปอย่างไรเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และกระจายความเจริญให้ทั่วถึงในทุกภาคส่วนท่ามกลางบริบทของเศรษฐกิจโลกยุคโลกาภิวัตน์ นอกจากนี้เขายังยินดีจะพบปะกับทีมงานของรัฐบาลทรัมป์ที่มาร่วมงานเวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม ที่กรุงดาวอสด้วย

นายเคลาส์ ชวับ ผู้ก่อตั้ง เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม กล่าวปิดท้ายช่วงแถลงข่าวเตรียมการเปิดงานว่า เขาหวังว่า การประชุมครั้งนี้จะสามารถลบเลือนบรรยากาศของความแบ่งแยก เป็นอริ และความรู้สึกต่างๆในเชิงลบที่กำลังก่อตัวชัดเจนมากขึ้น “โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นในแง่เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง เราไม่มีทางออกสำเร็จรูปสำหรับปัญหาต่างๆ สิ่งที่โลกต้องการอย่างมากในเวลานี้คือการลงมือดำเนินมาตรการที่เป็นไปได้จริงๆ และมุ่งสู่อนาคต แม้จะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ แต่ก็จะนำมาซึ่งบรรยากาศในเชิงบวก”

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยผลศึกษาของ WEF ว่าด้วยความเสี่ยงของโลกในทศวรรษหน้าว่า ประกอบด้วยสองเรื่องสำคัญ ความเหลื่อมล้ำของรายได้ และการแบ่งขั้วและความแตกแยกที่เพิ่มมากขึ้นในสังคม ประเด็นความเสี่ยงอื่นๆได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เข้าขั้นแปรปรวนรุนแรง สังคมผู้สูงวัยในหลายประเทศ และอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตที่สร้างความเสียหายให้กับองค์กรธุรกิจเอกชนและหน่วยงานภาครัฐมากยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560