SMI ชงรัฐอนุมัติซอฟต์โลนอีก 2 แสนล. ปั้นไทยเป็น SME Hub อาเซียน

21 ม.ค. 2560 | 10:00 น.
สถาบัน SMI เตรียมชง “ประยุทธ์”ขอวงเงินสินเชื่อซอฟต์โลนอีก 2 แสนล้านบาท อุ้มเอสเอ็มอี คาดไม่เกินไตรมาส 2 คืบหน้า ชูแผนปี 60 ยกระดับเอสเอ็มอีไทยโกอินเตอร์ปั้นไทยเป็น SME Hub ในอาเซียน

นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในเร็วๆ นี้สถาบัน SMI มีเป้าหมายที่จะเสนอให้รัฐอนุมัติวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) เพิ่มขึ้นอีกคาดว่าภายในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้จะมีความคืบหน้า จะเสนอให้พิจารณาวงเงินซอฟต์โลนที่ 2 แสนล้านบาท เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถมีเงินทุนหมุนเวียนได้มากขึ้น โดยสถาบันSMI จะเสนอขอผ่านสำนักงานคณะกรรมการร่วม 3 สถาบันภาคเอกชน(กกร.) เพื่อชงต่อไปยังคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน หรือ กรอ. ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน โดยวงเงินซอฟต์โลนนี้จะขอยึดตามหลักเกณฑ์เดิมที่เคยทำไปแล้ว

ทั้งนี้การขอขยายวงเงินสินเชื่อดังกล่าว จะเป็นมาตรการที่ทำต่อเนื่องจากในส่วนที่ขับเคลื่อนและทำสำเร็จไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมาที่สถาบัน SMI ในฐานะภาคเอกชน ร่วมกันผลักดันให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยตํ่าได้ ตามโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าจำนวน 1.5 แสนล้านบาทในอัตราดอกเบี้ย 4% จากเดิมเสียดอกเบี้ย 11-12% โดยให้ธนาคารออมสินเป็นผู้จัดสรรวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าให้กับธนาคารต่างๆ ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 1เดือน เงินก้อนนี้ก็หมดลง ซึ่งในขณะนั้นให้กู้ได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อราย

“เรามองเปรียบเทียบกรณีประเทศมาเลเซียและเกาหลีที่รัฐบาลสนับสนุนโดยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายในอัตราดอกเบี้ย 4% โดยประเทศเหล่านี้มองว่าเอสเอ็มอีเป็นตัวปลุกเศรษฐกิจของประเทศ”

นอกจากนี้ภายในปี 2560 สถาบันSMI จะผลักดันแผนงานสำคัญให้ผู้ประกอบการสามารถออกไปต่างประเทศได้เร็วขึ้น เพราะเวลานี้ประเทศไทยมีศักยภาพ มีความพร้อมด้านการผลิตเมื่อเทียบกับ 10 ประเทศในอาเซียนดังนั้นภายในปีนี้จึงต้องมีการจัดงาน“ASEAN SME Symposium & Expoหรืองานเอ็กซ์โป เอสเอ็มอี ในประเทศโดยภาคเอกชน มีส.อ.ท. เป็นเจ้าภาพจัดงานในช่วงปลายปีนี้ ล่าสุดกำลังเสนอโครงการผ่านคณะประชารัฐเอสเอ็มอี โดยจะเชิญผู้ซื้อทั่วโลกมาดูงานคาดว่าจะมีผู้สนใจมาร่วมงานนี้มากกว่า 2,000 ราย

ทั้งนี้เป้าหมายของงานดังกล่าวต้องการให้ไทยเป็น SME Hub ในอาเซียนและสินค้าเอสเอ็มอีสามารถส่งออกได้เร็วขึ้น โดยรูปแบบงานจะเชิญผู้ที่มีความรู้เอสเอ็มอีทั้งในไทยและต่างประเทศ (เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย) มาพูดคุยให้ความรู้ แลกเปลี่ยนการจัดการแลกเปลี่ยนด้านโลจิสติกส์ รวมถึงจะเป็นการแสดงสินค้าจาก 10 ประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแสดงในงานเพื่อให้เอสเอ็มอีไทยมีโอกาสเรียนรู้และเชิญผู้ซื้อทั่วโลกมาร่วมงาน คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีใน 10 ประเทศอาเซียนที่ประสบผลสำเร็จแล้วเข้ามาแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และจะเกิดการจับคู่ทางธุรกิจเกิดขึ้น ล่าสุดอยู่ระหว่างระดมสมองกำหนดเป้าว่า ควรจะเกิดการจับคู่ทางธุรกิจได้กี่รายในงานนี้ ซึ่งเวลานี้คณะประชารัฐเอสเอ็มอีกำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ รวมถึงการจะผลักดันสตาร์ทอัพไปสู่เอสเอ็มอี

นอกจากนี้คณะประชารัฐเอสเอ็มอี ยังมีการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา 27 สถาบัน ที่จะเชื่อมโยงต่อผู้ประกอบการได้ โดยพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับวิชาชีพ ตรงกับพื้นที่ มอบหมายให้มหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษามาช่วยคิดหลักสูตรให้สอดคล้องกับพื้นที่ และวิชาชีพที่อยู่ในแต่ละภูมิภาคเพราะวันนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ไปอบรมก็หน้าเดิมๆ แต่ยังมีร้านขายเสื้อผ้า ที่อยากขายของแต่ไม่เคยทำบัญชี เราก็นำคนเหล่านี้มาเรียน มาเข้าคอร์ส ให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสเข้าถึงไม่จำเป็นว่าจะต้องมีพื้นฐานการศึกษาแต่ให้เขามีโอกาสมาต่อยอด เพื่อยกระดับความรู้ให้เอสเอ็มอี ทั้งภาคการผลิต บริการ ค้าปลีก ค้าส่ง ท่องเที่ยวเพื่อให้ผู้ประกอบการเหล่านี้มีตัวการันตีว่า ผ่านการอบรมมาแล้ว ก็จะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้นด้วย

ปัจจุบันสมาชิกใน ส.อ.ท.มีจำนวน 1.1 หมื่นราย ในจำนวนนี้ 90% เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560