เอสเอ็มอี‘รับช่วงผลิต’เดี้ยงเกือบ 500 บริษัทดิ้นปรับตัวสู่ New S-curve

21 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
อุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตทรุด ชี้ปัจจัยเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศชะลอตัว ทั้งกระแสรถยนต์อีวี และเอสเอ็มอีต่างชาติทั้งญี่ปุ่น จีน และไต้หวันแย่งงาน ดิ้นหาตลาดใหม่นอกประเทศ และปรับเปลี่ยนการผลิตมุ่งสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายแทน

นายชนาธิป สุรชัยสิทธิกุล นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการใ นอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตไทยที่มีสมาชิกรวมเกือบ 500 บริษัทส่วนใหญ่เป็นผู้รับช่วงการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ 80-90% รองลงมาเป็นอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ พลาสติกยาง และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้นซึ่งในส่วนของการรับงานมาผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์สถานการณ์การดำเนินงานต้องยอมรับว่าอยู่ในภาวะเงียบเหงามาก แม้ว่ายอดการผลิตรถยนต์จะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ภาวะเศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศที่ชะลอตัวทำให้ปริมาณการรับงานผลิตไม่มีการขยายตัวเกิดขึ้น ประกอบกับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จะตกอยู่ในมือของเอสเอ็มอีต่างชาติมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น จีน ไต้หวันที่ได้เข้ามาลงทุนในไทยก่อนหน้านี้ทำให้การรับงานผลิตของผู้ประกอบการลดลงตามไปด้วย

อีกทั้ง กระแสเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ รวมถึงรัฐบาลไทยกำลังจะผลักดันนโยบายให้มีรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีเกิดขึ้น ส่งผลให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ เริ่มปรับตัว หันมาผลิตรถยนต์อีวีมากขึ้น

“ในภาพรวมของการรับช่วงการผลิต ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเอสเอ็มอี ขณะนี้ทางผู้ประกอบการจะยังไม่มีการขยายกำลังการผลิตและสั่งเครื่องจักรเข้ามาใหม่แต่จะใช้ของเดิมที่มีอยู่ เพื่อประคองตัวให้รอดก่อน เพราะนับวันงานจะลดน้อยลง ทำให้ต้องหาตลาดใหม่ให้มากขึ้นกว่าเดิม”

นายชนาธิป กล่าวอีกว่าทางรอดของอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตนี้ที่จะอยู่ได้ ผู้ประกอบการจะต้องเตรียมปรับตัว เพื่อเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญโดยเฉพาะการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่ผู้ประกอบการจะต้องตื่นตัวว่าจะสามารถเปลี่ยนเครื่องจักรหรือพัฒนาไปสู่การรับช่วงการผลิตใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างไร

ดังนั้น หากผู้ประกอบการสามารถปรับตัว และกล้าลงทุนที่จะเปลี่ยนเครื่องจักรที่มีอยู่ จากเดิมที่เคยผลิตอยู่เพียงกลุ่มอุตสาหกรรมเดียว อาจจะพิจารณาปรับเครื่องจักรที่มีอยู่ไปสู่อุตสาหกรรมอื่นที่มีความตอ้ งการใน 10 กลุ่ม อุตสาหกรรมเป้าหมายได้ ก็จะทำให้ธุรกิจยังสามารถเดินต่อไปได้ ที่เวลานี้หลายบริษัทเริ่มปรับตัวแล้ว (ดูตารางประกอบ)

ต่อเรื่องนี้นายบุญเลิศ ชดช้อย ประธาน บริษัท ซี.ซี.ออโตพาร์ท จำกัด หรือ CCA ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสายพันธุ์ไทยเติบโตจากกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ กล่าวยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาบริษัทมีออร์เดอร์ชิ้นส่วนรถยนต์น้อยลงไปทุกที ช่วงที่ผ่านมาจึงปรับตัวเองโดยศึกษาว่า เครื่องจักรที่มีอยู่ควรจะหันไปพัฒนาโปรดักต์ตัวไหนโดยไม่ต้องปิดโรงงาน ก็พบว่าอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ตอบโจทย์ได้ เวลานี้เตียงหรือเก้าอี้ทำฟันได้รับการตอบรับมากขึ้น มียอดการผลิตเพิ่มเป็น100 ยูนิต ปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มอีกเท่าตัวหรือราว 200 ยูนิต โดยส่วนหนึ่งจะมาจากคำสั่งซื้อจากการส่งออกไปยังตลาดเมียนมาและเวียดนามด้วย

ล่าสุดบริษัทได้พัฒนาเครื่องมือและอุปกรณ์ในคลินิกทันตกรรมได้ทั้งหมด 42 โปรดักต์แล้ว ถือเป็นการผลิตที่มีนวัตกรรมสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่โดยเฉพาะในส่วนที่เป็น 5 กลุ่มใหม่ New S-curve (ประกอบด้วยอุตสาหกรรมหุ่นยนต์, การบินและโลจิสติกส์, เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, ดิจิตอล,การแพทย์ครบวงจร)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560