MTLS ลุยปล่อยสินเชื่อโต50% เป้าปีนี้ปูพรมขยาย 600 สาขา

20 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
“ชูชาติ” บิ๊กเมืองไทย ลิสซิ่ง มองตลาดสินเชื่อรากหญ้าปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท โต 50 % ปูพรมเปิดสาขากรุงเทพฯ อีสาน และภาคใต้ ปีนี้อีก 600 สาขา ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อ 3.3 หมื่นล้านบาท ลั่น บริษัทโตด้วยตัวเองด้วยทำธุรกิจที่ถนัด ไม่คิดขยับใหญ่เป็นบริษัทโฮลดิ้ง

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยลิสซิ่งฯ ( MTLS ) เปิดเผยว่า เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อรายย่อยปีนี้ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งโต 50 % จากปีก่อนที่มีพอร์ตสินเชื่อคงค้าง 2.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 3.3 หมื่นล้านบาท โดยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นนี้ ได้จากช่องทางการขยายสาขาอีก 600 สาขา เป็น 2,200 สาขา จากสิ้นธันวาคม 2559 มีสาขา 1,600 สาขา

นายชูชาติ กล่าวว่า การขยายสาขาปีที่ผ่านมาในภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เป็นการเปิดสาขาส่วนใหญ่เน้นตัวจังหวัด ไม่ได้ขยายไปยังอำเภอ จึงมีโอกาสที่จะขยายสาขาได้อีกมาก หรือในกรุงเทพฯ ที่มีเป้าหมายเปิด สขา 100 สาขา แต่ทำได้เพียง 10 สาขา เท่านั้น ดังนั้น MTLS ยังมีโอกาสเปิดสขาตามที่ต่าง ๆ ได้อีกมาก

กรรมการผู้จัดการ กล่าวถึงนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ เช่น ฟินเทค หรือการชำระเงินผ่านร้านสะดวกซื้อ หรือการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน ไม่ได้ส่งผลกระทบการดำเนินธุรกิจของบริษัท เนื่องจาก การปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกัน บริษัทผู้ปล่อยกู้ ต้องเจอกับลูกค้า ซึ่งเป็นข้อดีทำให้มีการคัดกรองลูกค้า รู้จักตัวตนและพฤติกรรมลูกค้า ติดตามหนี้ได้โอกาสเป็นหนี้เสียจึงมีน้อย ประมาณ 1 % ขณะที่ลูกหนี้ดีมีถึง 99 %

“ การเปิดสาขายังทำต่อไป ที่ภาคใต้ อีสาน และกรุงเทพฯ ยังหลวม ส่วนการซื้อลูกหนี้ ไม่ถึงกับปิดกั้น แต่ไม่ถึงกับเคาะประตูไล่ล่า เพราะถ้าซื้อพอร์ลูกหนี้มา ก็มีแต่ลูกหนี้เสีย ขณะที่ลูกหนี้ของ MTLS เกือบทั้งหมดเป็นลูกหนี้ดี ผมเชื่อว่าเราโตด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องไปซื้อพอร์ตลูกหนี้ หรือการซื้อธุรกิจอื่นมาต่อยอด เราขอโตในสิ่งที่ถนัด”

นายชูชาติ กล่าวว่า ปี 2560 บริษัทยังไม่มีแผนออกผลิตภัณฑ์ใหม่ และทำผลิตภัณฑ์เดิม คือการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์ ) ที่ผ่านมาการปล่อยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ ทำได้ 70 % ของพอร์ต ยังมีเป้าหมายอีก 30 % และสินเชื่อที่ดิน ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ได้เพียง 8 % ของเป้าหมาย จึงปล่อยสินเชื่อได้อีกมากในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี

“ การแข่งขันของบริษัท ส่วนใหญ่เป็นการแข่งขันกับคู่แข่งที่อยู่นอกระบบ เป็นคู่แข่งในท้องถิ่นที่มีสัดส่วนถึง 70 % เช่น ร้านทอง ร้านมอเตอร์ไซค์ที่มาปล่อยสินเชื่อเอง แข่งนอกระบบนี้ คิดดอกเบี้ยสูง ให้สินเชื่อง่าย ไม่ยุ่งยาก จึงต้องแข่งขันช่วงชิงกับตลาดนอกระบบ”

กรรมการผู้จัดการ กล่าวอีกว่า ความสำเร็จจากการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้มีเงินทุนมาปล่อยสินเชื่อ ซึ่งธุรกิจของบริษัทมีโอกาสเติบโตสูง โดย ปีนี้ บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนขยาย 600 สาขา จำนวน 240 ล้านบาท และขยายสินเชื่อ 1 หมื่นล้านบาท จึงมีแผนทยอยออกหุ้นกู้ระยะยาว เป็นการล็อกดอกเบี้ยจากแนวโน้มดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560