นานาทัศนะ รับได้เลือกตั้งกลางปี 61

20 ม.ค. 2560 | 02:00 น.
ทันทีที่กฎกติกาทางการเมือง ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เริ่มปรากฏภาพชัดขึ้น บรรยากาศทางการเมืองฉายแววคึกคักรับฆ้องกลอนที่เตรียมลั่นในสนามเลือกตั้งครั้งใหม่

แต่จากความไม่ชัดเจนเรื่องเงื่อนเวลาการเลือกตั้งว่ายังจะเลื่อนเป็นปี 2561 หรือไม่นั้น“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจท่าทีจากหลายภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ส่วนใหญ่มีความเห็นเป็นไปในทิศทางสอดคล้องกันว่า การเลือกตั้งอาจต้องเลื่อนออกไปประมาณกลางปี 2561

 ปชป. เชื่อเลือกตั้งกลางปี61

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา แสดงความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นประมาณกลางปี 2561 โดยวิเคราะห์จากประเด็นเศรษฐกิจ เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ต้องเร่งให้มีรัฐบาลประชาธิปไตย ถ้าปล่อยให้เศรษฐกิจซึมไปอย่างนี้จะลำบาก รวมทั้งเรื่องสังคม และการเมืองก็เป็นปัจจัยสำคัญร่วมด้วย

ที่สำคัญคือ พล.อ.ประยุทธ์ ไปรับปากไว้บนเวทีนานาชาติในปี 2560 จะมีการเลือกตั้งด้วยซ้ำไป แต่เงื่อนไขหลายอย่างที่ต้องเลื่อนและประชาชนก็รับได้ที่จะให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปนิดหน่อย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเหตุผล เพราะจะเลื่อนในปี 2561 มีการถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้นคงจะมีพระบรมราชาภิเษก ปัญหาว่าการเลือกตั้งจะมาก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือไม่ก็คงไม่ว่ากัน ในกรณีที่มีการปรับแก้รัฐธรรมนูญ อาจมีประเด็นบางมาตรา การแก้รัฐธรรมนูญต้องมีระยะเวลา อาจจะมีประเด็นอะไรก็แล้วแต่ก็ยืดออกไปนิดหน่อย เชื่อว่าคนไทยรับได้

คนไทยมีภาษาเดียวกันทั้งประเทศ มีพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน การเกิดวาทกรรมไพร่อำมาตย์และวาทกรรมสีเสื้อต่างๆนั้น มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมา เราต้องดึงสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นนี้ออกไป ถ้าคนสร้างเงื่อนไขนี้ไม่ได้สร้างแล้วก็จบ คนที่สร้างเงื่อนไขนี้ขึ้นมาเพื่อไม่ต้องการให้เข้าสู่ขบวนการยุติธรรม ก็ใช้พวกมากอัดเข้าไปโดยมีบริวารที่ปากกล้ามาใส่ข้อเท็จจริงที่ไม่จริง โดยมีวิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือ หากสกัดวิทยุชุมชน สกัดบริวารปากกล้าและสลายกองกำลังไม่ทราบฝ่านที่เข่นฆ่าคนไทยมาเยอะมาก ถ้าองค์ประกอบเหล่านี้หมดไป รัฐเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องบ้านเมืองก็เข้าสู่ภาวะปกติ วิธีการทหารรู้อยู่แล้ว ตั้งแต่ปี 2544 มาปี 2547 และฆ่ากันกลางเมืองปี 2552-2553 ขวดคนละใบเผาเลยพี่น้องผมรับผิดชอบเอง วาทกรรมเหล่านี้ โดยบริวารฝีปากกล้าเหล่านี้ต้องเลิกให้หมด

“ผมก็บอกว่าวิธีการต้องให้ท่านพล.อ.ประวิตร (วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ) มานั่งหัวโต๊ะทำเอ็มโอยูขึ้นมา เพราะท่านเป็นคนทุกคนยอมรับ อะไรที่รับได้ก็ทำเอ็มโอยู อะไรที่คุยกันยังไม่รู้เรื่องก็เลื่อนไป มันต้องคุยกันได้สักวัน มีสิ่งที่คุยรู้เรื่องได้อยู่แล้ว ในส่วนของนิรโทษต้องทำให้ทุกคนทุกชุมนุม ที่เป็นประชาชนที่ชุมนุมปราศจากอาวุธและบริสุทธิ์ต้องคืนสิทธิให้เขาเหล่านี้ เพราะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 รองรับอยู่ แต่ต้องไม่รวมถึงมาตรา 112 และคดีทุจริตคอรัปชั่น ส่วนแกนนำถ้าศาลพิพากษาว่าไม่ผิดก็จบ”

  พท.หวังบ้านเมืองสงบ

ขณะที่ นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย แสดงความมั่นใจว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้น ต้นปี 2561 หรือกลางปี 2561 ซึ่งทางพรรคเพื่อไทยพร้อมอยู่ลงสนามเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ห่างประชาชน มองว่าประชาชนเหมือนพี่น้องกัน มีอะไรก็พบปะกัน เข้าใจว่าเมื่อมีการเลือกตั้งบรรยากาศต่างๆที่เป็นข้อห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง จะคลีคลายมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังเลือกตั้งฟันธงได้เลยว่าเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน ไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเหมือนในอดีต และค่อนข้างจะเป็นรัฐบาลผสมที่ล้มลุกคลุกคลาน เพราะกติกาเขียนว่า สมมุตินายกรัฐมนตรีรอบแรกที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไม่ได้ ก็ต้องเลือกรอบ 2 โดยมีส.ว.สรรหา 250 คนช่วยเลือก ซึ่งอาจจะได้คนมาจากนอกพรรค ในการเลือกนายกรัฐมนตรี มีส.ว.สรรหา 250 คนช่วย แต่เวลาทำงานต้องทำงานในสภาผู้แทนราษฎร หากเป็นนายกรัฐมนตรีจากคนนอก มีสิทธิถูกตั้งกระทู้สด หรือถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือถ้ากฎหมายสำคัญไม่ผ่านก็ต้องออก

ไม่ว่าการเมืองหลังเลือกตั้งพรรคใดจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อดีตส.ส.เชียงราย สะท้อนความเห็นว่า สิ่งที่เราควรช่วยกันคิดช่วยกันทำ คือ บ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อย เพื่อประชาชนทั้งปวง เพื่อการพัฒนาประเทศ วันนี้ถ้ามัวแต่ทะเลาะกัน ไม่มีใครคบกับเราแล้ว เขาผ่านไปทาง เวียดนาม เมียนมา ไม่มีใครมาลงทุน กับเรา ในที่สุดเราก็จะทรุดโทรมไปเรื่อยๆ สิ่งแรกที่ต้องทำคือ สร้างความปรองดองสามัคคี ความสงบให้เกิดขึ้น แล้วเอาพลังจากความปรองดองสามัคคีมาช่วยกันผลักดันให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ถ้าปล่อยให้คาราคาซังเรายิ่งมีปัญหาหนักขึ้น โลกวันนี้สู้กันด้วยสมองและความสามัคคี ถ้าเราขาดสิ่งนี้โอกาสในการพัฒนาประเทศก็จะไม่เกิดขึ้น

 ภท.ชี้คนไทยเข้าใจสถานการณ์

นายศุภชัย ใจสมุทร อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย(พท.) ให้ความเห็นว่า แรกสุดทีเดียว พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า กำหนดโรดแมปให้เลือกตั้งปี 2560 แต่ความเป็นจริงต้องยอมรับว่า มีสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ซึ่งสถานการณ์นั้นเป็นสถานการณ์ที่คนไทยทุกคนเข้าใจ เพราะหลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ก็มีหมายกำหนดการแล้วคาดว่าประมาณ ปลายปี 2560 จะมีพระราชพิธีพระบรมศพ

คำถามคือ บรรยากาศเช่นนี้ หากมีการเลือกตั้งจะเหมาะสมหรือไม่ ถามความเห็นส่วนตัวของตนตอบได้เลยว่าไม่เหมาะสม หลังจากเสร็จสิ้น พระราชพิธีพระบรมศพ ก็จะมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เชื่อว่าทั้ง 2 กรณีที่จะเกิดขึ้นคนไทยทั้งประเทศรับได้ นอกจากนั้นรัฐบาลน่าจะอภิบายให้สังคมโลกเข้าใจด้วยว่าประเทศไทย จะมีพระราชพิธีสำคัญ เพื่อให้ต่างชาติรู้ว่าประชาชนคนไทยมีความผูกพันกัยพระมหากษัตริย์มาก ด้วยเหตุผลดังกล่าว การเลือกตั้งจึงน่าจะเลยต้นปี 2561 ไปแล้ว

 “ปรีชา”ชี้ล‹าชŒาจากเดิม

นายปรีชา สุวรรณทัต อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับกำหนดการเลือกตั้งว่า ถ้าดูจากสถานการณ์ขณะนี้คิดว่าน่าจะล่าช้าออกไปจากเดิมที่พล.อ.ประยุทธ์ พูดว่าต้องเลือกตั้งในปี 2560 แต่จะบอกห้วงเวลาให้ชัดเลยคงยาก เพราะ ประเด็นแรกคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องขอกลับมาเพื่อแก้ไขในเรื่องพระราชอำนาจ และไม่สามารถตอบเรื่องเวลาได้ เมื่อพระราชคืนกลับมาแล้วก็ต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับที่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. แก้ไขประมาณ 2-3 มาตรา ความจริงการแก้ไขไม่มาก แต่ต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เมื่อแล้วเสร็จต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง

ประเด็นที่ 2 ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ ก็ต้องมีกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญอีก ที่สำคัญต้องให้เสร็จหลังรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เลือกตั้ง และ พ.ร.ป. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต) ซึ่งขณะนี้กำลังยกร่างถึงแม้จะใกล้เสร็จแต่ก็ยังไม่ชัดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560