'ทีทูพี'ขยายฟินเทคเต็มตัว สยายปีต่างประเทศ ทุ่ม100ล้านลุยเมียนมา

20 ม.ค. 2560 | 00:30 น.
ทีทูพี กางแผนรุกฟินเทค ต่อยอดบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ “Deep Pocket”ผนึกซัมซุงเพย์บริการ “กาแลคซี่ กิฟท์การ์ด” สยายปีกต่างแดนประเดิม“เมียนมาร์”ประเทศแรก ร่วมทุนท้องถิ่นตั้งบริษัท 100 ล้านบาท

ตลาดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์(e-Wallet) ส่วนหนึ่งของระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์(E-Payment)ในประเทศไทย นับเป็น Financial Technology หรือ Fintech (ฟินเทค) ที่มาแรงที่สุดในปัจจุบันที่มีผู้ให้บริการแล้วอย่างน้อย 16 ราย แนวโน้มในปีนี้แข่งขันรุนแรง เมื่อผู้นำตลาดอย่าง Deep Pocket หนึ่งในฟินเทค ที่เป็นของคนไทยประกาศความพร้อมขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ

นายทวีชัย ภูรีทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททีทูพี จำกัด ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น Deep Pocket เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ปีนี้บริษัทมีแผนต่อยอดบริการภายใต้แอพพลิเคชั่น “Deep Pocket”ออกไปอีกจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถเปิดรายละเอียดที่ชัดเจนได้

นอกจากนี้ยังมีแผนร่วมกับซัมซุงในการพัฒนาบริการโปรแกรมสมาชิก หรือ โปรแกรม รอยัลตี้ “กาแลคซี่ กิฟท์ การ์ด” รวมถึง “ซัมซุง เพย์”

ผู้ใช้บริการ“Deep Pocket” ในปี 2559 มีจำนวนประมาณ 2 แสนราย หากนับรวมผู้ใช้บริการที่ทำร่วมกับโปรแกรมรอยัลตี้ของพาร์ทเนอร์ อาทิ เซ็นทรัล จะมีตัวเลขฐานผู้ใช้บริการราว 2 ล้านราย โดยในปี 2561 บริษัทคาดว่าตัวเลขฐานผู้ใช้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งไปตามแนวโน้มของตลาดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่ยังมีการเติบโตได้อีกมาก

นายทวีชัย กล่าวว่า บริษัทจะจะเริ่มขยายการให้บริการแอพพลิเคชั่น “Deep Pocket” ออกไปต่างประเทศ โดยเริ่มต้นที่ประเทศเมียนมาร์

เหตุผลที่เลือกตลาดเมียนมาร์เป็นประเทศแรก เนื่องจากเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมากแต่จำนวนบัญชีธนาคารน้อย ซึ่งขณะนี้ได้พันธมิตรท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มนันแบงก์(Non-Bank)แล้ว โดยอยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดจัดตั้งบริษัทร่วมทุน คาดว่าจะหาข้อสรุปได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เบื้องต้นบริษัทร่วมทุนมีทุนจดทะเบียนราว 100 ล้านบาท

สำหรับนวัตกรรมการเงิน ฟินเทค ในปีนี้จะมีบริการรูปแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีกมาก โดยตัวช่วยผลักดันให้เกิดบริการใหม่ชัดเจน คือ การเปิด“ศูนย์ทดสอบและพัฒนานวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีใหม่มาสนับสนุนการให้บริการการเงิน” หรือ Regulatory Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ที่เปิดให้นวัตกรรมการเงินใหม่ ที่ไม่มีกฎหมายรองรับโดยเฉพาะสามารถเข้ามาทดสอบการให้บริการได้ โดยขณะนี้มีผู้ให้บริการรอขอใบอนุญาต เปิดให้บริการใหม่ๆ อยู่ประมาณ 20 ราย

นอกจากนี้ยังมองว่าปีนี้ “บล็อกเชน” จะมีบทบาทสำคัญในฟินเทคมากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเพย์เม้นท์ เป็นบริการสำคัญเกิดขึ้น

“ปีนี้จะเกิดบริการใหม่ที่ประยุกต์ใช้บนเทคโนโลยีบล็อกเชนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งบริการรับฝากสินทรัพย์ หรือการปล่อยกู้ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งกับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก และบุคคลทั่วไป “นายทวีชัย กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560