ผงะบีอีทะลักนอกตลาด โรงรับจำนำ-รปภ.แห่กู้

19 ม.ค. 2560 | 08:00 น.
ตลาดตั๋วบี/อีกระทบวงกว้าง ไม่เพียงบริษัทจดทะเบียนระดมทุน ยังมีบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกเพียบ พบทั้งโรงรับจำนำ บริษัทรักษาความปลอดภัย อสังหาฯ ลีสซิ่ง สมาคมตลาดตราสารหนี้ฯเครียด ผู้ออกยังไม่ตื่นตัวเรื่องความเสี่ยง กระทุ้งสำรองเงินไว้หน้าตักตลอดเวลากันช็อตหากลูกค้าไม่ต่ออายุ

การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน (บี/อี) ได้กลายเป็นไฟลามทุ่ง กระทบความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อตลาดตั๋วบี/อีทั้งผู้ออกหน้าเดิมที่ทำให้นักลงทุนไม่ต่ออายุหรือโรลโอเวอร์ตั๋วบี/อีแต่ยังกระทบกับผู้ออกรายใหม่

ขณะที่การออกตั๋วบี/อีไม่เพียงเป็นช่องทางการระดมทุนสำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น และมีต้นทุนดอกเบี้ยตํ่าของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ยังเป็นเครื่องมือการระดมทุนของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า ยังมีบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวนมากที่ออกตั๋วบี/อี และส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์ ทั้งผู้ประกอบการกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้างสินเชื่อเช่าซื้อ หรือลีสซิ่ง ธุรกิจอาหาร นอกจากนี้ยังมีธุรกิจรักษาความปลอดภัย และโรงรับจำนำ(ดูตารางประกอบตัวอย่างบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯที่ออกตั๋วบี/อี)
นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นที่นักลงทุนมีต่อตั๋วบี/อีและหุ้นกู้ระยะสั้นทั้งที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เรตติ้ง) และไม่จัดเรตติ้ง หรือนอนเรต โดยเฉพาะผู้ออกที่มีเรตติ้งตํ่าๆ ตั้งแต่ BBB ลงไป ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนในการระดมทุนสูงขึ้น ส่วนตั๋วบี/อีและหุ้นกู้ระยะสั้นที่ไม่มีเรตติ้ง อาจทำให้ลูกค้าไม่ต่ออายุ

“การออกตราสารหนี้เครดิตสำคัญมาก ฉะนั้นผู้ออกตราสารต้องพยายามหาสภาพคล่องมาไถ่ถอนให้ได้ อย่าผิดนัดชำระหนี้เด็ดขาด” นางสาวศิรินารถ กล่าว

สิ่งที่สมาคมตลาดตราสารหนี้ จะทำถัดจากนี้ คือ ป้องกันการลุกลามของตลาดตั๋วบี/อี โดยจะเดินสายพูดคุยกับผู้ออกตั๋วบี/อี ให้เตรียมสภาพคล่องไว้

“ตอนนี้ผู้ออกตั๋วบี/อี ยังไม่ตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะตามมา ดังนั้นต้องกระทุ้งให้เขาสำรองสภาพคล่องไว้หน้าตักเผื่อโรลโอเวอร์ ไม่ได้ เพราะการออกตราสารหนี้จะผิดนัดชำระไม่ได้เพราะเครดิตเสียทันที”

ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ฯ เปิดเผย ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2559 มูลค่าคงค้างตราสารหนี้เฉพาะภาคเรียลเซ็กเตอร์ มีจำนวน 2.6 แสนล้านบาทมีตั๋วบีอีมากที่สุด 2.2 แสนล้านบาท รองลงมาเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น 3.8 หมื่นล้านบาท และตั๋วสัญญาใช้เงิน 1,140 ล้านบาท.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560