ตลุยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย (ตอนที่ 1)

18 ม.ค. 2560 | 10:00 น.
หลายท่านอาจจะสงสัยว่าไปยังไง มีเส้นทางเชื่อมกันด้วยหรือ เส้นทางโหด มัน ฮาขนาดไหน อันตรายหรือเปล่า ที่สำคัญคือไปทำอะไร?

ก็ขอเรียนท่านผู้อ่านว่าผมกับคณะได้เดินทางย้อนศรไปบนเส้นทางที่เรียกว่า ทางหลวงไตรภาคี อินเดีย–เมียนมา–ไทย (India–Myanmar–Thailand Trilateral Highway) เพื่อศึกษาสภาพเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สภาพเส้นทางการขนส่งสินค้า ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์กับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมตามเมืองต่างๆของประเทศเมียนมาตลอดเส้นทางที่ผ่านไปจนทะลุเข้าไปชายแดนฝั่งประเทศอินเดียเลย

ตามแผนของคณะเราจะออกเดินทางโดยรถยนต์จากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ข้ามไปฝั่งเมียนมาที่เมืองเมียวดีแล้วเดินทางต่อไปเมืองเมาะละแหม่ง เข้ากรุงย่างกุ้ง แล้วต่อไปเมืองมัณฑะเลย์ หลังจากนั้นก็มุ่งหน้าต่อไปเมืองกะเล แล้วไปสุดเขตแดนเมียนมาที่เมืองทามู เพื่อจะข้ามไปเมืองมอเร่ห์ ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของอินเดีย แล้วจะไปจบทริปที่เมืองอิมพาล เมืองหลวงของรัฐมณีปุระ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย รวมระยะทางทั้งสิ้น 1,757 กิโลเมตร ซึ่งจะเป็นระยะทางในเมียนมาประมาณ 1,650 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วค่อยเดินทางกลับทางเครื่องบินจากเมืองอิมพาล รัฐมณีปุระไปเปลี่ยนเครื่องบินที่เมืองกอลกัตตา เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียเพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

แต่ก่อนที่จะเล่าประสบการณ์การเดินทางในทริปนี้ ผมขออนุญาตพูดถึงที่มาที่ไปของเส้นทางไตรภาคีนี้เพื่อเป็นการปูพื้นให้กับท่านผู้อ่านเสียก่อนนะครับ โดยเส้นทางไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทยนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดจากนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ของนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของอินเดียคือ ท่าน พี.วี. นรซิมฮา ราว ซึ่งดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2534-2539 โดยในระยะแรกของนโยบายมองตะวันออกนั้น รัฐบาลอินเดียได้ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการต่างประเทศของอินเดียที่มีต่ออาเซียน ในขณะเดียวกันก็เร่งรัดการพัฒนาพื้นที่ใน 8 รัฐ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียคือ อรุณาจัลประเทศ อัสสัม มณีปุระ เมฆกัลยา มิโซรัม นากาแลนด์ สิกขิม และตรีปุระ ซึ่งจะมีรัฐมณีปุระเป็นประตูเชื่อมโยงมายังอาเซียนโดยผ่านเมียนมาเข้าสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
ต้องขอเรียนตามตรงว่า แม้อินเดียจะมีนโยบาย “มองตะวันออก” มาหลายปี แต่การเชื่อมโยงกับอาเซียนก็ยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม จนกระทั่งเมื่อปี 2557 รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของท่านนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้ประกาศนโยบายใหม่ที่เรียกว่า “ปฏิบัติการตะวันออก” หรือ “Act East Policy” ซึ่งเป็นนโยบายที่สืบเนื่องมาจากนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) แต่เป็นรูปธรรมมากกว่า เนื่องจากนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดียมีบุคลิกและลักษณะการทำงานเชิงรุก

โดยภายหลังจากที่รัฐบาลของท่านได้เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้มีการประกาศนโยบาย “ปฏิบัติการตะวันออก”เพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติแทนนโยบาย “มองตะวันออก” ซึ่งท่านเห็นว่าถ้ามัวแต่มองตากันอยู่ก็ย่อมไม่เกิดผลในทางปฏิบัติแต่ประการใด การปรับนโยบายใหม่จึงมุ่งเน้นไปที่การขยายขอบเขตการเชื่อมโยงระหว่างอินเดียกับอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น โดยอยู่บนพื้นฐานการเชื่อมโยงใน 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ การเชื่อมโยงด้านการค้า การเชื่อมโยงด้านวัฒนธรรม และการเชื่อมโยงด้านการขนส่ง

การเชื่อมโยงด้านการค้าและการขนส่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ตามนโยบายปฏิบัติการตะวันออกในการเชื่อมอินเดียกับอาเซียน อันจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลอินเดียพยายามเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจใน 8 รัฐภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ควบคู่ไปกับการพัฒนาเส้นทางการคมนาคมขนส่งทางถนนเชื่อมโยงอินเดีย-เมียนมา-ไทย หรือ ทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-เมียนมา-ไทย เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการเข้ามาแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเมียนมา ตลอดจนเชื่อมโยงมาสู่ประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่น ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

สำหรับไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากนโยบายดังกล่าว เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคและเป็นประตูสู่อาเซียนของอินเดียที่ต้องการเข้ามาค้าขายและลงทุนกับไทย รวมทั้งใช้ไทยเป็นฐานขยายการค้าและการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอื่นๆ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดียได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับภาคการค้าสินค้าแล้ว ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้การค้าระหว่างสองฝ่ายเพิ่มขึ้นอีกมากและจะทำให้อินเดียมีบทบาทมากขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียน ในขณะเดียวกันไทยก็จะได้ประโยชน์จากการใช้ทางหลวงไตรภาคีดังกล่าว ในการขนส่งสินค้าผ่านเมียนมาไปยังอินเดียเช่นกัน อีกทั้งยังจะเป็นการส่งเสริมและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางการค้าเพื่อลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการไทยมากขึ้นด้วย

แค่เริ่มต้นก็น่าสนใจแล้วนะครับ เราจะต้องคุยกันต่อเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกหลายตอนเลยทีเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560