‘ประยุทธ์’สั่ง 1 ปีโละสต๊อกข้าว 8 ล้านตัน เซ็ตซีโร่ระบบ

18 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
การประชุมคณะกรรมการ นโยบายบริหารจัดการข้าว(นบข.)เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการข้าวในสต๊อก 8.01 ล้านตัน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมา

ทั้งนี้ การระบายสต๊อกข้าวคือหนึ่งใน“วาระ” ที่ นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะ1. สต๊อกข้าวมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลขณะที่มูลค่าข้าวต่ำลงตามคุณภาพที่เสื่อมลง 2.สต๊อกข้าวที่เก็บไว้มีผลทางจิตวิทยาต่อราคาข้าวในตลาด และ 3. มาจากเหตุผลทางการเมืองเพราะสต๊อกข้าวเป็นผลพวงจากนโยบายรับจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์

สำหรับแนวทางบริหารจัดการสต๊อกข้าว 8.01 ล้านตันตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอต่อ นบข. นัยหนึ่งคือ ปฏิบัติการโละสต๊อกข้าวครั้งสุดท้ายของรัฐบาล ดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ แถลงภายหลัง นบข. มีมติว่า ตามแผนจะแบ่งสต๊อกข้าวออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ข้าวผ่านมาตรฐาน มีข้าวไม่ผ่านมาตรฐานปนอยู่เล็กน้อย ปริมาณ 3.01 ล้านตัน กลุ่มนี้เปิดระบายผ่านช่องทางปกติ 2 . ข้าวที่มีข้าวต่ำกว่ามาตรฐานปนอยู่มาก แต่อายุการเก็บไม่เกิน 5 ปี ปริมาณ 3.15 ล้านตัน ระบายให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์หรือ แปรรูป 3. ข้าวเสื่อม ข้าวผิดชนิด ผิดมาตรฐาน ไม่สามารถนำไปบริโภคทั้งคนและสัตว์ ปริมาณ 1.85 ล้านตัน ระบายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่าค่าใช้จ่ายในการดูแล สต๊อกข้าวที่สูงถึงเดือน 504 ล้านบาทต่อเดือน(เฉลี่ย 17 ล้านบาทต่อวัน)คือเหตุผลที่ต้องเร่งระบายสต๊อกข้าวในครั้งนี้ เธอยังย้ำด้วยว่า การระบายจะพิจารณาไม่ให้กระทบกับราคาตลาด

 ผู้มีส่วนได้เสียเชียร์

แม้ปฏิบัติการโละสต๊อกข้าวของรัฐบาลครั้งนี้มีแนวทางชัดเจน แต่กระทรวงพาณิชย์จะสามารถจัดการไม่ให้กับกระทบกับราคาข้าวในตลาดได้จริงหรือ ? อย่างที่ทราบกันราคาข้าวอยู่ในภาวะอ่อนตัวต่อมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปัจจุบันจากแรงกดดันของ สต๊อกข้าวโลกล้นและ ผลผลิตข้าวไทยพุ่งทะลุเป้าหมาย อีกทั้งสต๊อกข้าวปีนี้ยังอยู่ในภาวะล้นเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลระบุว่า ผลผลิตข้าวโลกปี 2560 จะมีปริมาณ 481 ล้านตัน (ปี 2559 ปริมาณ 472 ล้านตัน) และสต๊อกข้าวโลกจะเพิ่มเป็น 120 ล้านตัน จาก 116 ล้านตันในปี 2559 ที่ผ่านมา สต๊อกข้าวที่ล้นโลกคือปัจจัยกดราคาข้าวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ภาพรวมของตลาดข้าว ณ เวลานี้คือ เส้นอุปทานที่อยู่เหนืออุปสงค์จึงไม่เอื้อให้ราคาข้าวในตลาดขยับขึ้นแต่อย่างใด

ต่อประเด็นนี้ เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มีมุมมองต่างออกไปว่า สต๊อกข้าวที่เหลือ 3.01 ล้านตันที่บริโภคได้ (กลุ่มหนึ่งข้าวผ่านมาตรฐานสามารถบริโภคได้) ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป สามารถจัดการได้ตามปกติ (กลไกตลาด) มีตลาดรองรับอยู่แล้ว “ไมใช่เป็นปัญหาอีกต่อไป” เขาย้ำและยืนยันด้วยว่าสต๊อกข้าวโลกล้นจะไม่มีผลต่อราคาข้าวที่จะมีการประมูล ส่วนการเคาะราคาควรอยู่ระดับใดนั้น เจริญ บอกว่าเป็นไปตามกลไกปกติ เหมือนที่เคยทำกันมา คือตลาดมันแน่นอนอยู่แล้ว ทั้งนี้ เขาสนับสนุน แผนการระบายสต๊อกข้าวของรัฐบาล และเห็นด้วยการตัดขายข้าวกลุ่ม 3. (ขายให้โรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น) หลังจากนี้ตนเชื่อว่าสถานการณ์ราคาข้าวจะกลับมาเป็นปกติ

เช่นเดียวกับ ระวิ รุ่งเรือง ประธานเครือข่ายชาวนาไทย มองว่าการระบายสต๊อกข้าวของรัฐบาลครั้งนี้จะทำให้ราคาข้าวดีขึ้น เพราะอุปทานการสะสมที่ค้างสต๊อกหมดไป วงจรข้าวใหม่ที่ผลิตได้แต่ละรอบการผลิต ซึ่งเกินความต้องการบริโภคในประเทศอยู่แล้ว อีกทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทั้งภายในและภายนอกมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ในเรื่องภาพลักษณ์คุณภาพข้าว เขาเชื่อว่า หากสต๊อกข้าว(รัฐบาล)หมดไป จะทำให้ราคาข้าวลื่นไหล กลับสู่วงจรตลาดได้อย่างปกติไม่แรงกดดันใดๆ และจะส่งผลให้การกำหนดราคาข้าวดีขึ้น

ด้านสมพร อัศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ แสดงความเห็นสนับสนุนแผนการระบายสต๊อกข้าวของรัฐบาลครั้งนี้เช่นกัน สมพร มั่นใจสต๊อกข้าวที่ระบายมีสต๊อกที่สามารถบริโภคได้เพียง 3.01 ล้านตันเท่านั้นจะมีผลกระทบ(ต่อตลาดและราคา)น้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เพราะราคาข้าวได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และข้าวที่ออกสู่ตลาดก็อยู่ในมือโรงสี และพ่อค้าข้าว ซึ่งเป็นราคาที่ตลาดรับรู้หมดแล้ว เขาชี้ว่าการเร่งระบาย(สต๊อก)จะทำให้ข้อมูลสต๊อกข้าวที่โชว์ต่างประเทศ ถูกยกระดับราคาสูงขึ้น เพราะข้าวดีมีเพียง 3.01 ล้านตันเท่านั้น นักวิชาการผู้นี้เชื่อว่าการเร่งระบายสต๊อกจะช่วยยกระดับราคาข้าวทำให้ ราคาข้าวในฤดูกาลหน้าปรับตัวดีขึ้นอย่างแน่นอน

ปัจจัยที่ต้องพิจารณาเพิ่ม

อย่างไรก็ดีแม้ สุ่มเสียงจากผู้มีส่วนได้เสียมองมุมบวกต่อแผนการระบายสต๊อกข้าวของรัฐบาลครั้งนี้ และ วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ออกมาย้ำก่อนหน้านี้ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่เหมาะสมเนื่องจากยังไม่มีข้าวใหม่เข้ามา แต่ถ้าดูข้อมูลการระบาย สต๊อกย้อนหลังแล้วเป้าหมายในการระบายข้าวแบบยกสต๊อก 8.01 ล้านตันให้หมดภายในปีนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ทั้งนี้นับแต่รัฐบาลเริ่มระบายสต๊อกข้าว ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2557 ถึง สิงหาคม 2559 หรือ 2 ปีโดยประมาณรัฐบาลเปิดประมูลเพื่อระบายสต๊อกข้าวไปแล้ว 23 ครั้ง คิดเป็นปริมาณ 8.4 ล้านตัน (รวมข้าวทั่วไป ข้าวอุตสาหกรรม และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ) มูลค่า 8.72 ล้านบาท ถ้ารัฐบาลจะระบายสต๊อกข้าวในปริมาณใกล้เคียงกันแต่ใช้เวลาเพียง 1 ปี โดยคาดว่าการประมูลครั้งแรกจะเริ่มภายในไตรมาสแรกปีนี้ จะต้องมีมาตรการพิเศษสุดๆจริงๆ ที่สามารถเพิ่มปริมาณการระบายในสัดส่วนเท่ากับการระบายในช่วงก่อนหน้าแต่ใช้เวลาน้อยกว่าถึงเท่าตัว

 รัฐบาลได้หรือเสีย

แน่นอนในสถานการณ์ที่รัฐบาลต้องเร่งการขายในระยะเวลาจำกัด แม้ผู้มีส่วนได้เสียในตลาดมองว่าจะไม่กระทบกับราคาข้าวมากนัก โดยยกเหตุผลว่า ราคาข้าวได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ราคาข้าวที่จะได้จากการประมูลย่อมไม่ต่างไปจาก ราคาสินค้าที่ร้านค้าขายเลหลังก่อนปิดกิจการแต่อย่างใดซึ่งอาจถูกนำไปขยายผลโดยฝ่ายการเมืองตรงกันข้าม

กระนั้นก็ตามถึงไม่สามารถคาดหวังรายได้จากการประมูลมากนัก แต่ถ้าหักกลบระหว่างส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ อาทิแลกกับการลดภาระในการดูแลรักษาซึ่งมีต้นทุนมหาศาล และส่งผลทางจิตวิทยาต่อตลาดข้าวไทย อีกทั้งในมุมการเมืองการจัดการสต๊อกข้าวซึ่งเป็นผลพวงจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาลก่อน นอกจากทำให้กลไกตลาดข้าวกลับเข้าที่เข้าทางแล้ว ย่อมถือเป็นชัยชนะทางการเมืองของรัฐบาล ปฏิบัติการโละสต๊อกข้าวตามคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์นายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ ย่อมส่งผลดีมากกว่าเสียต่อรัฐบาล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่  15 - 18  มกราคม 2560