บราซิลลดดอกเบี้ย0.75% กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นต่ำคาด

18 ม.ค. 2560 | 11:00 น.
ธนาคารกลางบราซิลเร่งลดอัตราดอกเบี้ยหวังกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดหมาย หลังจากอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงเอื้อต่อการปรับลดดอกเบี้ย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของบราซิล ตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือเซลิก ลงจาก 13.75% เหลือ 13% นับเป็นการปรับลดดอกเบี้ยในอัตราที่เหนือความคดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ โดยก่อนหน้านี้ธนาคารกลางบราซิลเริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว 2 ครั้งในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2559 ในอัตราครั้งละ 0.25%

ธนาคารกลางบราซิลส่งสัญญาณตั้งแต่ต้นปี 2560 ว่าแนวโน้มของเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงเข้าสู่เป้าหมายของธนาคาร ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่คาด และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะชะลอตัวออกไปอีก

ด้านนายมิเชล เทเมอร์ ประธานาธิบดีบราซิล ระบุผ่านโฆษกประจำตัว แสดงความพึงพอใจต่อการตัดสินใจลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางบราซิลในครั้งนี้ โดยนายเทเมอร์กล่าวว่า การปรับลดดอกเบี้ยเป็นการเน้นย้ำถึงความเชื่อมั่นของตนว่าองค์ประกอบต่างๆ พร้อมแล้วสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการสร้างงานใหม่ในปีนี้

ขณะที่นายอังเดรเพอร์เฟียโต หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทบริหารจัดการกองทุน แกรดวล ซีซีทีวีเอ็ม ให้ความเห็นว่า ธนาคารกลางบราซิลน่าจะลดอัตราดอกเบี้ยในระดับเดียวกันนี้ในการประชุมอีก 2 ครั้งถัดไป "มันสมเหตุสมผลที่จะคาดหมายว่า เราจะได้เห็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาเหลือในระดับใกล้เคียงเลขตัวเดียวภายในสิ้นปีนี้"

การลดดอกเบี้ยในอัตราที่รวดเร็วขึ้นของธนาคารกลางบราซิล เกิดขึ้นในเวลาที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงมาอย่างมากจนเข้าใกล้ระดับเป้าหมาย 4.5% ของธนาคารมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อในปี 2559 อยู่ที่ 6.29% ลดลงจาก 10.7% ในช่วงต้นปี ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบ 12 ปี

ขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจของธนาคารกลางบราซิลคาดหมายว่า เงินเฟ้อจะปิดท้ายปลายปี 2560 ในระดับ 4.8% ซึ่งจะเป็นระดับเงินเฟ้อที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2553

เงินเฟ้อของบราซิลชะลอตัวลงหลังจากเศรษฐกิจบราซิลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถดถอยอย่างรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปี เป็นที่คาดหมายว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หดตัวลง 3.5% ในปี 2559 หลังจากหดตัวไปแล้ว 3.8% ในปี 2558

นายเจสัน วิเอรา นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัท อินฟินิตี แอสเซ็ตเมเนจเมนต์ฯ กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ แต่ไม่ใช่ในระยะสั้น "ครัวเรือนและธุรกิจยังมีหนี้สินในระดับสูง ซึ่งทำให้พวกเขายังชะลอการใช้จ่ายในระยะนี้ อย่างไรก็ดี การปรับลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายได้ในระยะต่อไป" นายวิเอรากล่าว พร้อมกับคาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจบราซิลจะอยู่ที่ 0.5% ในปีนี้ สอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่า ความรวดเร็วและอัตราการปรับลดดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับว่าเงินเฟ้อลดลงรวดเร็วเพียงใด และกิจกรรมการฟื้นตัวเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด ขณะที่นายวิเอรากล่าวเพิ่มเติมว่า การเข้ามาของรัฐบาลนายโดนัลด์ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยของบราซิล แม้จะยังไม่มีความชัดเจนใดๆ โดยนโยบายของนายทรัมป์อาจนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยที่รวดเร็วขึ้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่  15 - 18  มกราคม 2560