แบงก์ชี้‘กำลังซื้อ’ฟื้น หนี้ครัวเรือนลด-ภาษีหนุน

18 ม.ค. 2560 | 08:00 น.
นายแบงก์มั่นใจกำลังซื้อปีนี้ฟื้นตัว จาก 3 ปัจจัยหลัก หนี้ครัวเรือนลด รถคันแรกทยอยปลดล็อก และภาษีใหม่ เพิ่มเงินในระบบกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

นายสมประวิณ มันประเสริฐหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ได้ทำบทสรุปสำหรับผู้บริหาร(Executive Summary) ล่าสุดเสนอต่อผู้บริหารระดับสูงธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยระบุว่า กำลังซื้อในประเทศปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการลดลงของหนี้ครัวเรือน ภาระการผ่อนรถคันแรก และ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เพิ่มหักลดหย่อนทำให้มีเงินเข้ามาในระบบมากขึ้น

ทั้งนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีนายสมประวินมองว่า มีแนวโน้มลดลง และเป็นลดลงต่อเนื่องมาจากปลายปี 2559 ในขณะที่รายได้ของผู้บริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มเข้ามา

ขณะที่รถยนต์คันแรกที่เป็นมาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ที่รับผลกระทบจากน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทยอยที่จะหมดภาระในการผ่อนชำระโดยจากการประเมินของบริษัท กรุงศรีออโต้ จำกัด พบว่าภาระการผ่อนชำระของลูกค้าจะลดลงเดือนละประมาณ 400 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จะถูกส่งผ่านเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ

นอกจากนี้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่จะมีการเพิ่มการหักค่าลดหย่อนได้มากขึ้น เช่นหักของผู้มีเงินได้เป็น 50% ของรายได้แต่ไม่เกิน 6 หมื่นบาท จากเดิมไม่เกิน 3 หมื่นบาท การหักค่าใช้จ่ายเพิ่มจาก 6 หมื่นบาท เป็น 1 แสนบาท และ หักลดหย่อนบุตรได้คนละ 3 หมื่นบาท โดยไม่จำกัดจำนวน โดยจะมีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2561 เป็นต้นไปนั้น จะทำให้มนุษย์เงินเดือนจ่ายภาษีรวมลดลง 15,360 ล้านบาท

นางสาววรดา ตันติสุนทร ผู้ชำนาญการวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวในงานสัมมนา ทิศทางเศรษฐกิจและค่าเงินปีระกา” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงเป็นปีที่ภาครัฐยังต้องเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง โดยเฉพาะผ่านการลงทุนที่จะมีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจประมาณ 1.3% จากจีดีพีที่คาดว่าจะขยายตัว 3.3%

ขณะที่ภาคการส่งออกได้แรงหนุนจากราคาน้ำมันที่ปรับตัว โดยคาดว่าภาคการส่งออกปีนี้จะขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยอยู่ที่ 0.8% ส่วนภาคการบริโภคได้รับอานิสงส์จากมาตรการรถคันแรกที่จะหมดลงในปีนี้ คาดว่าจะเริ่มเห็นคนเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ และหมดภาระการชำระหนี้ ส่งผลดีตอรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้มีการใช้จ่ายและบริโภคเพิ่มขึ้นโดยประเมินว่าการบริโภคภาคเอกชนทั้งปีขยายตัวที่ระดับ 2.2%

นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าน่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 3.3% หรือกรณีที่เศรษฐกิจดีกว่าคาดน่าจะขยายตัวได้ถึง 3.5% ปัจจัยการสนับสนุนมาจากการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง และนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นการลงทุนที่มีเม็ดเงินมากกว่า 9 แสนล้านบาท แม้ว่าภาพรวมการบริโภคยังชะลอตัว ส่วนหนึ่งมาจากภาคการเกษตรยังคงได้รับผลกระทบ ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนยังคงกดดันอยู่ในระดับสูง

นายกิตติ เจริญกิจชัยชนะ ผู้บริหารกลุ่มงานขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ทิศทางค่าเงินบาทในปีนี้ ธนาคารมองว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า ซึ่งมีทิศทางเดียวกับในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยต้นปีค่าเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าก่อนจะค่อยๆ อ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะอยู่ภายใต้ธีมแข็งค่า ซึ่งสิ้นปีมองกรอบค่าเงินบาทอยู่ที่ 36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

การเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างทางอาจจะสวิงรุนแรง มาจาก 3 ปัจจัย คือ 1.นโยบายของโดนัลด์ทรัมป์ ที่จะกระทบต่อค่าเงินในภูมิภาค 2.การเลือกตั้งในยุโรปที่จะมีผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจยุโรป และ 3.แนวโน้มเศรษฐกิจประเทศจีนที่จะสามารถประคับประคองได้หรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่  15 - 18  มกราคม 2560