‘อลงกรณ์’ฉายภาพภารกิจ เร่งปฏิรูปประเทศโค้งท้าย

18 ม.ค. 2560 | 02:00 น.
หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ประกาศบังคับใช้ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ภายใน 120 วันจะมีกลไกใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่รับผิดชอบการปฏิรูปซึ่งจะส่งผลให้สภาปฏิรูปประเทศต้องพ้นไปนั้น นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป “ฐานเศรษฐกิจ” ขอนำบทสัมภาษณ์พิเศษของ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท.คนที่ 1 เกี่ยวกับภารกิจโค้งสุดท้ายที่งวดเข้ามาทุกขณะ

นายอลงกรณ์ บอกว่า ที่ผ่านมานั้น สปท. ได้สานต่อ 37 วาระปฏิรูป 6 วาระการพัฒนาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ถึงวันนี้สามารถผลิตแผนปฏิรูปและเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปเสร็จแล้วจำนวน 142 เรื่อง แบ่งเป็น ส่งไปยังคณะรัฐมนตรีจำนวน 111 เรื่อง และที่ส่งตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อีกจำนวน 20 เรื่อง

สำหรับภารกิจโค้งสุดท้ายของการทำหน้าที่ สปท. ในขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมโดยมอบหมายให้คณะกรรมาธิการสามัญและคณะกรรมาธิการวิสามัญของสปท.ไปคั้นกะทิ รวบรวมกฎหมายที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงของแต่ละคณะได้ออกมาเป็น กฎหมายจำนวน 36 ฉบับ และแผนปฏิรูปที่เหลืออยู่ต้องดำเนินการต่ออีกจำนวน 40 เรื่อง

 กลไกใหม่เคลื่อนงานปฏิรูป

อย่างไรก็ดี ระยะของการเปลี่ยนผ่านการทำงานในปี 2560 นี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการปฏิรูปและปรองดอง เป็นปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 โดยได้ออกแบบกลไกและโครงสร้างใหม่ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเร่งรัดแผนงานการปฏิรูปต่างๆให้เกิดความต่อเนื่องอีกขั้น โดยนายอลงกรณ์ เรียกขานคณะกรรมการระดับชาติชุดนี้ว่า “กรรมการเทอร์โบ” ซึ่งตัวเขาเองนั้น ติดโผเป็นหนึ่งในคณะทำงานชุดนี้ด้วยนั้น จะประกอบด้วย 1.คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ 2.คณะกรรมการปรองดอง 3.คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ และ 4.คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูป ทำงานภายใต้ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดอง” ที่มีนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ

“สำหรับคณะกรรมการระดับชาติทั้ง 4 คณะนี้ เป็นกลไกใหม่ที่จะสร้างความมั่นใจให้มากที่สุดในระยะเปลี่ยนผ่าน ในการส่งต่อการปฏิรูปประเทศให้เป็นไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง และเป็นการส่งต่อที่สมบูรณ์แบบเนื่องจากมีการจัดการบริหารลำดับความสำคัญในแต่ละเรื่อง ดังนั้น เชื่อมั่นว่า เวลาที่เหลืออยู่เราจะต้องส่งมอบแพ็คเก็จที่ดีที่สุดให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ดำเนินการต่อไปได้” นายอลงกรณ์ ระบุ

จนถึงวันนี้นายอลงกรณ์ กล่าวย้ำชัดว่า การปฏิรูปไม่ใช่การปฏิวัติและไม่ใช่วิวัฒนาการ ไม่ใช่การสร้างรถยนต์คันใหม่หรือเปลี่ยนรถยนต์ทั้งคัน แต่หมายถึง การ Re-Engineering บนฐานของ 3 คำ คือ 1.การซ่อม (จุดอ่อน) คือ การแก้ปัญหาที่มีนัยะสำคัญของสิ่งที่มีอยู่แล้ว คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70 % ของภาพรวมการปฏิรูปทั้งหมด อาทิ การปฏิรูปเรื่องการศึกษา สาธารณะสุข ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม พลังงาน สังคม และการบริหารราชการแผ่นดิน เป็นต้น

2.การเสริม (จุดแข็ง) มีสัดส่วนประมาณ 20% ต่อยอดจากงานปฏิรูปเดิม อาทิ การปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปรากฎข้อมูลว่า ประเทศไทยเสี่ยงต่อการคุกคามของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ติด 1 ใน 10 ของโลก จึงต้องมีแผนรับมือทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ดังเช่น มีแผนปฏิรูปสร้างสังคมคาร์บอนต่ำให้เกิดขึ้น หรือส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เป็นต้น

3.การสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์โลก สร้างสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ช่วง 2 ปีของการปฏิรูปนี้มีสัดส่วนอยู่ที่ 10% ดังเช่น การจัดตั้งศาลปราบโกง และการสร้างกลไกใหม่ในกิจการตำรวจ ซึ่งถือเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนจะสัมผัสได้ ระยะที่ 1 สถานีตำรวจกว่า 1,400 แห่งได้ดำเนินการการรับแจ้งความและการสอบสวนดำเนินคดีความให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ระยะที่ 2 ที่สร้างขึ้นใหม่ คือ การแต่งตั้งโยกย้ายอย่างเป็นธรรมที่ต้องปลอดจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ต้องไม่มีคำว่า “ได้ดีเพราะพี่ให้” หรือการนำทรัพยากรของกิจการตำรวจไปสนองตอบกิจการทางการเมือง เป็นต้น

 ปฏิรูปศก. สำเร็จเป็นรูปธรรม

ตัวอย่างหนึ่งเรื่องการปฏิรูปที่ก้าวรุดหน้าไปมาก นั่นก็คือ การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ นับจากวันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่งมอบรายงาน “วิสัยทัศน์อนาคตประเทศไทย” หรือ พิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศ กระทั่งแปลงมาสู่แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง คณะกรรมการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ชาติ จนนำมาสู่การประกาศเป้าหมายนำประเทศก้าวไปสู่การเป็น“ไทยแลนด์ 4.0” ภายในระยะเวลา 20 ปี

ที่สำคัญ คือ บัญญัติยุทธศาสตร์ชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ และบัญญัติหมวดการปฏิรูปไว้เป็นการเฉพาะ ในรัฐธรรมนูญยังออกแบบให้วุฒิสภาทำหน้าที่กำกับการปฎิรูป รัฐบาลชุดต่อไปมีหน้าที่ต้องขับเคลื่อน เมื่อมีนโยบายก็ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต้องดำเนินการปฏิรูปและกำหนดให้ต้องรายงานต่อวุฒิสภาทุก 3 เดือน

“เราวางเรื่องความมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน ไว้เป็นคีย์เวิร์ดแล้วออกแบบโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ โดยในมุมของการปฏิรูปนั้นมี 6 ฐานเศรษฐกิจใหม่ หรือโมเดลเศรษฐกิจใหม่ อาทิ 1.เศรษฐกิจดิจิตอล 2.เศรษฐกิจชีวภาพ 3.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 4.เศรษฐกิจเพื่อสังคม 5.เศรษฐกิจผู้สูงวัย และ 6.เศรษฐกิจท้องถิ่นชุมชน ซึ่งบีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริม และมีการยื่นขอการลงทุนจากทั้งในและนอกประเทศมาสู่ทิศทางใหม่นี้ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2559 และพบว่า เกือบ 70 % ของแผนการปฏิรูปทั้งหมดที่ส่งไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วนั้นได้รับการอนุมัติงบประมาณในปีงบประมาณ 2560”

 ยกไทยโมเดลปฏิรูปรอบด้าน

จากผลของการปฏิรูปช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นายอลงกรณ์ ชี้ให้เห็นว่า ได้เริ่มปรากฎเป็นรูปธรรมเป็นที่น่าพอใจเห็นได้จากตัวชี้วัดขององค์การระหว่างประเทศ เช่น สถาบันระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการจัดการ หรือ IMD ที่ยกอันดับความสามารถทางการแข่งขันประจำปี 2559 จากทั้งหมด 61 ประเทศ ไทยขยับขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 30 จากลำดับที่ 28 ซึ่งเป็นปีแรกที่เราแซงหน้าเกาหลีใต้ที่อยู่ในลำดับที่ 29 ในขณะที่อีก 9 ประเทศในอาเซียนอันดับลดลงหมด เชื่อว่า ในปี 2560 อันดับของเราจะดีขึ้นอีก อาจจะขยับไปถึงลำดับที่ 25 ของโลกได้

นอกจากนี้การที่ธนาคารโลกประเมินภาวะเศรษฐกิจโลกปรับขึ้นคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยว่า จะขยายตัวได้ 2.5 % จากที่คาดการณ์เดิมไว้ที่ 2 % และจะขยายตัวขึ้น 2.6 % ในปี 2559 จากคาดการณ์เดิมที่ 2.4% ซึ่งประเทศไทย เป็นประเทศเดียวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกที่ได้ปรับคาดการณ์จีดีพีเพิ่มจากรายงานเดิม ในขณะที่องค์การอนามัยโลก หรือ WTO ประเมินให้ไทยอยู่ในลำดับ 4 ของโลก หลังจากที่ปฏิรูปด้านสาธารณะสุขมาตลอดช่วง 2 ปีนี้

เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยแข็งแรงขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ดีที่สุด เพราะเพิ่งเริ่มทำ และปัญหาก็สะสมหมักหมมมารายปี ความสงบที่เกิดขึ้น ความมีเสถียรภาพของรัฐบาลและความต่อเนื่อง

“การปฏิรูปประเทศเป็น Infinity ประเทศจะต้องปฏิรูปอย่างต่อเนื่องต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน เราจะยืนอยู่กับที่ โดยบอกว่าปฏิรูปมาแล้ว ไม่ต้องปฏิรูปอีกคงไม่ได้”

วันนี้เขายกให้ประเทศไทย เป็นประเทศโมเดลตัวอย่างของการอัพเกรดประเทศ และมองว่าเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ทำการปฏิรูปแบบรอบด้าน ยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีการปฏิรูปประเทศ และดำเนินการรอบด้านแบบพร้อมกันเช่นนี้มาก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่ 15 - 18 มกราคม 2560