ไฟฟ้าพีกทะลุ3หมื่นเมกะวัตต์ กฟผ.ชี้ปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ห่วงภาคใต้ไม่พอใช้

17 ม.ค. 2560 | 10:00 น.
กฟผ.เผยพีกไฟฟ้าปีนี้ทะลุ 3 หมื่นเมกะวัตต์ จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ชี้ห่วงไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอใช้ ลุ้นมติ กพช.ไฟเขียวสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ เผยหากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา กำลังการผลิตรวม 2,800 เมกะวัตต์เกิด จะช่วยผลักดันการกระจายเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มตามแผนพีดีพี 2015

นายกรศิษฎ์ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในปี 2560 นี้ กฟผ.คาดการณ์จะเพิ่มสูงสุด(พีก) เป็นประวัติการณ์ที่ 30,086 เมกะวัตต์ คิดเป็นอัตราการเติบโตอยู่ที่ 1.6% ต่อปี และปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งปีจะอยู่ที่ 1.94 แสนล้านหน่วย เติบโต 2.9% ต่อปี ขณะที่ในปี 2559 ที่ผ่านมา ตัวเลขพีคอยู่ที่ 29,618.8 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 เวลา 22.28 น. เติบโตจากปี 2558 ถึง 8.3% จากภาวะแล้งจนส่งผลให้มีอุณหภูมิสูง อากาศร้อนอบอ้าว

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว มาจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับอัตราการเติบโตจากภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ขยายตัว จะทำให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่ขณะนี้กำลังการผลิตไม่เพียงพอ รับความต้องการใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงต้องจำเป็นต้องเร่งสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ

ขณะที่ความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ ล่าสุดทาง กฟผ. ยังรอความชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ จะมีวาระพิจารณาโครงการดังกล่าวด้วย หาก กพช. เห็นชอบ กฟผ.ก็พร้อมดำเนินการทันที ขณะเดียวกันภาครัฐจะต้องปลดล็อกคำสั่งของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(อีเอชไอเอ) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เพื่อให้สามารถเดินหน้าได้

อย่างไรก็ตามหากมติ กพช. ไม่เห็นชอบเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของภาครัฐว่าสุดท้ายแล้วจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าพื้นที่ภาคใต้จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าใหม่ เพื่อรองรับกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงขึ้นทุกปี

นายกรศิษฎ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการกระจายเชื้อเพลิงตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2558-2579 (พีดีพี 2015) จะดำเนินการได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายองภาครัฐ แต่หากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเทพา กำลังการผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ สามารถเกิดขึ้นได้ตามแผน จะช่วยให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอยู่ที่ประมาณ 2,300 เมกะวัตต์ และหากมีกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงเข้ามาในระบบอีก 2,800 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มขึ้นเป็น 17-20% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ส่งผลให้สัดส่วนกำลังการการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลดลง จากปัจจุบันอยู่ที่ 67 %

นอกจากนี้ จะเห็นว่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน นับว่ามีต้นทุนที่ค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่น คาดว่าในปี 2564 ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะถูกกว่าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งเป็นการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศด้วย

สำหรับความคืบหน้าโครงการคลังแอลเอ็นจี ขนาด 5 ล้านตัน ของ กฟผ. นั้น ปัจจุบันมีหลายบริษัทเข้ามาเสนอเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน กฟผ. อยู่ระหว่างพิจารณาสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาว เบื้องต้นจะซื้อจากทางการ์ตา แต่หากราคารับซื้อจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถูกกว่าก็จะรับซื้อจาก ปตท.

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งชัดเจนกรณีโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งต้องการให้ท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะสร้างหรือไม่ โดยขณะนี้ทางกระทรวงพลังงานสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเข้าไปตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่ยื่นสนับสนุนโรงฟ้าและท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จำนวน 1.5 หมื่นรายชื่อ ขณะเดียวกันการจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่หรือไม่นั้นจะต้องผ่านความเห็นชอบ คชก. ก่อน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่  15 - 18  มกราคม 2560