ภารกิจหลัก‘อนันตพร’ปี60 รับนโยบายขับเคลื่อนพลังงาน4.0

17 ม.ค. 2560 | 09:00 น.
กระทรวงพลังงาน ถือเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศก็ว่าได้ เพราะจะต้องบริหารงานด้านพลังงานของประเทศไม่ให้เกิดการขาดแคลน และมีต้นทุนที่เหมาะสม ไม่ให้เป็นภาระของประชาชนมากจนเกินไป โดยในปีนี้ ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน ของพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาฉายภาพให้เห็นว่า การดำเนินงานของกระทรวงจะต้องสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีจุดมุ่งหมายการยกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานในปัจจุบัน และการนำนวัตกรรมที่เหมาะสมมาใช้ในการพัฒนา ภายใต้คำว่า “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

เน้นหนักความมั่นคงด้านพลังงาน

โดยพล.อ.อนันตพร ได้ชี้ให้เห็นถึงภารกิจที่จะต้องขับเคลื่อนการดำเนินงานในปี 2560 ว่า จะยังให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านพลังงานเป็นหลัก ที่จะผลักดันให้เกิดการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ.2558-2579 (พีดีพี 2015)ให้ได้เนื่องจากปัจจุบันการผลิตไฟฟ้ายังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไปถึง 67% โดยเฉพาะการผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ขึ้นมา เพื่อลดสัดส่วนเชื้อเพลิงก๊าซฯในการผลิตไฟฟ้า ที่จะต้องสร้างการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ให้ได้

รวมถึงการขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการซื้อขายไฟฟ้าให้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพลังงานมีความร่วมมือด้านไฟฟ้ากับหลายประเทศไปแล้ว ล่าสุดได้ดำเนินการขยายกรอบการรับซื้อไฟฟ้าจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จากเดิม 7,000 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 9,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้น จะมีการกำหนดแนวทางการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เนื่องจากไทยยังเป็นประเทศนำเข้าพลังงานจำนวนมาก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีความมั่นคงด้านน้ำมันนอกเหนือจากการสำรองน้ำมันตามกฎหมายที่ให้ภาคเอกชนเป็นผู้สำรอง ปัจจุบันกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการศึกษาสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบขนส่งน้ำมันทางท่อ สายเหนือ เส้นทาง อยุธยา-กำแพงเพชร-ลำปาง และสายอีสาน เส้นทาง สระบุรี-ขอนแก่น

ที่สำคัญจะต้องเร่งผลักดันพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้ออกมามีผลใช้บังคับ เพื่อนำไปสู่การประมูลสัมปทานปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดอายุในช่วงปี 2565-2566 เนื่องจากปัจจุบันการออกพ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ยังคงยืดเยื้อไม่มีข้อยุติ จนส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ในแหล่งเอราวัณและบงกช ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งผลิตปิโตรเลียมสำคัญในอ่าวไทย หากยังไม่มีความชัดเจน จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เข้ามาทดแทนจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงพลังงานจะต้องเร่งผลักดันให้พ.ร.บ.ปิโตรเลียมมีความชัดเจนโดยเร็ว เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ที่เตรียมเข้าร่วมประมูลและมีเวลาเตรียมแผนกำลังการผลิตในอนาคต

ดูแลราคาพลังงานให้เหมาะสม

ส่วนการดูแลราคาพลังงานนั้น กระทรวงพลังงานจะมีนโยบายการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างสมดุลในช่วงทิศทางราคาน้ำมันขาขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการปล่อยลอยตัวราคาพลังงานทุกชนิดเกือบ 100% แล้ว ส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ และไม่เป็นภาระในการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนมากนัก ขณะเดียวกันจะต้องผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ออกมาโดยเร็ว เพื่อให้การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความชัดเจนและมีกฎหมายรองรับ ล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขณะที่การดูแลค่าไฟฟ้าไม่ให้เป็นภาระของประชาชนมากเกินไปนัก ก็มีกลไกผ่านทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เป็นผู้ดูแลอยู่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับประชาชน โดยได้มีการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2558 – ธันวาคม 2559 ลงจำนวน 52.68 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ประเทศประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 9.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

เปิดแข่งขันเสรีให้มากขึ้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นแนวทางการดำเนินงานอีกว่า ในปีนี้ จะเห็นการแข่งขันเสรีของธุรกิจด้านพลังงานที่จะชัดเจนขึ้นมาก โดยจะส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการขับเคลื่อน Third Party Access Code การสร้างความต่อเนื่องการผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศ และการขยายคลังแอลเอ็นจี( LNG Terminal) และท่อก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้มีผู้เล่นในระบบเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผูกขาดอยู่ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดผู้เล่นรายใหม่ในกิจการก๊าซธรรมชาติ ล่าสุดก็ได้อนุมัติให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดำเนินโครงการ Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) เพื่อรองรับการนำเข้าแอลเอ็นจี มาผลิตไฟฟ้าแล้ว

รวมทั้งการเปิดให้มีการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) เสรี โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านก่อนเปิดเสรีทั้งระบบ และระยะที่ 2 เปิดเสรีทั้งระบบ ซึ่งเบื้องต้นให้ดำเนินการในระยะที่ 1 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไปแล้ว

ส่งเสริมสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน

นอกจากพลังงานจะมีความมั่นคงแล้ว จะมุ่งเน้นความยั่งยืนควบคู่ด้วย ดังนั้นการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน สิ่งที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือการส่งเสริมโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(วีเอสพีพี) ให้เกิดขึ้นในชุมชนลักษณะเป็นSocial Enterprise ในรูปแบบ Distributed Generation ซึ่งตั้งเป้าให้ชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมีเงินทุนเพียงพอ สามารถมีโรงไฟฟ้าวีเอสพีพีในชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน เบื้องต้นอาจมีนักลงทุนที่ไม่หวังผลกำไร ในระยะแรกอาจเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ก่อน

อีกทั้ง การส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)และมีการขายไฟฟ้าได้ โดยไม่เป็นภาระด้านค่าไฟ เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายเปิดโซลาร์รูฟท็อปเสรีแม้ว่าโครงการนำร่อง 100 เมกะวัตต์ จะไม่ได้รับความสนใจมากนักเพราะไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ แต่ในอนาคตทางกระทรวงพลังงานจะเปิดให้สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ แต่ราคารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปอาจถูกลง เพื่อเน้นการใช้ไฟฟ้าภายในที่อยู่อาศัยก่อนขายเข้าระบบ ที่สำคัญส่งเสริมการวิจัยด้าน Energy Storage เนื่องจากปัจจุบันแม้ว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจำนวนมาก แต่ระบบการกักเก็บไฟฟ้ายังไม่พัฒนามากนัก ดังนั้นหากสามารถพัฒนาแบตเตอรี่ที่สามารถเก็บไฟฟ้าได้จำนวนมากก็จะสามารถนำมาใช้ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงได้

นอกจากนี้ จะกำหนดมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแบบ Firm มากขึ้น รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลในพื้นที่ภาคใต้ และการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม

หนุนโครงการประชารัฐ

ขณะที่การผลักดันโครงการประชารัฐ มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยได้มีการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานทดแทน เช่น การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านโครงการไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน การนำของเหลือใช้มาผลิตพลังงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดรายจ่ายชุมชน และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรจากพืชพลังงาน สิ่งเหลือใช้ เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพและชีวมวล

รวมถึงการนำร่องให้มีการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สมาร์ทซิตี) และโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ(สมาร์ทกริด) เพื่อพัฒนาให้ระบบไฟฟ้าสามารถตอบสนองต่อการทํางานได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถทําให้เกิดขึ้นได้โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบสื่อสารสารสนเทศ (ไอซีที) ระบบเซ็นเซอร์ ระบบเก็บข้อมูล และเทคโนโลยีทางด้านการควบคุมอัตโนมัติเพื่อทําให้ระบบไฟฟ้ากําลังสามารถรับรู้ข้อมูลสถานะต่างๆ ในระบบมากขึ้น

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นภารกิจหลักที่พล.อ.อนันตพร ที่จะใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านพลังงานในปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่  15 - 18  มกราคม 2560