กดดันผู้นำใหม่สหรัฐฯ เชื่อมีหลายมาตรการใช้เป็นอาวุธรับมือ

17 ม.ค. 2560 | 00:00 น.
แม้ว่าท่าทีดุเด็ดและจริงจังของโดนัลด์ทรัมป์ ผู้ที่กำลังจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปลายสัปดาห์หน้า ส่งสัญญาณว่าสหรัฐฯในยุคของรัฐบาลใหม่จะเอาจริงกับการตอบโต้ประเทศคู่ค้าใดก็ตามที่ทำให้อุตสาหกรรมของสหรัฐฯตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบ โดยเฉพาะกับจีน ที่ทรัมป์ประกาศชัดเจนว่าเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินหยวนให้ต่ำเกินความเป็นจริงเพื่อสร้างสภาวะได้เปรียบในเวทีการค้าโลก แต่ทางการจีนก็ยังคงสงวนท่าทีไม่ได้แสดงวิวาทะโต้กลับแต่อย่างใด ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของจีนส่วนหนึ่งมองว่าสถานการณ์ไม่ได้ย่ำแย่อย่างที่หลายฝ่ายกังวลใจ

ในงานสัมมนาแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่จัดขึ้นโดยคณะกรรมการแห่งชาติด้านวิเทศสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนเมื่อเร็วๆนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของจีนส่วนหนึ่งมองว่ายังคงมีผลประโยชน์ร่วมที่สหรัฐอเมริกาและจีนสามารถทำความเข้าใจและตกลงกันได้ สิ่งใดที่ทำให้จีนได้ประโยชน์ สิ่งนั้นก็สร้างประโยชน์ให้สหรัฐฯได้เช่นกัน นายจัสตินลิน ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์โครงสร้างใหม่แห่งมหาวิทยาลัยปัปปิ่ง อดีตหัวหน้าสำนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ให้ความเห็นว่า ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งอาจจะใช้ถ้อยคำที่ซ้ำย้ำในบางเรื่องเพื่อให้ได้รับชัยชนะ แต่เมื่อต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ก็มักจะพยายามหาช่องทางที่จะประนีประนอมเพื่อแสวงประโยชน์ร่วมกันให้ได้

ไม่เพียงเท่านั้นนักธุรกิจจีนจำนวนมากที่ออกมาให้ความเห็นหลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาไปแล้ว มองว่าโดนัลด์ทรัมป์ เป็นนักธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรอง เขามักจะใช้ถ้อยคำที่แข็งกร้าว แต่หลังจากนั้นก็จะเจรจาอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยเพื่อพยายามแสวงหาจุดที่เป็นประโยชน์ร่วมของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะในท้ายที่สุดแล้ว จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา ก็ยังคงเป็นตลาดใหญ่สำหรับผู้ผลิตสินค้าของสหรัฐฯและเป็นคู่ค้ารายสำคัญ ข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ ยูเอสทีอาร์ ระบุว่า จีนเป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนตลาดสหรัฐฯรายใหญ่ที่สุดในปี 2558 และเป็นประเทศที่นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากเป็นอันดับ 3 แม้ในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ก็เคยมีการสร้างแรงกดดันด้วยการกล่าวหาว่าจีนได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯมูลค่ามหาศาลเพราะใช้กลยุทธ์ค่าเงินมาแล้วเช่นกัน แต่ก็ไม่เคยมีการออกมาประณามจีนว่าเป็นผู้ปลุกปั้นค่าเงินตลอดช่วง 8 ปีที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านั้น จีนยังเป็นผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากเป็นอันดับ 2 ของโลก แม้กระนั้นนักเศรษฐศาสตร์ยังเชื่อว่า จีนจะไม่นำข้อได้เปรียบนี้มาใช้ในการงัดข้อก่อสงครามการค้ากับสหรัฐฯ นายเอสวา ปราสาท นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า เขาเชื่อว่าจีนมีเครื่องมืออย่างอื่นที่จะนำมาใช้เป็นอาวุธในการรับมือกับสหรัฐฯ หากประธานาธิบดีทรัมป์ตั้งใจจะเล่นงานจีนจริงๆ อาวุธดังกล่าวได้แก่การใช้มาตรการจำกัดหรือสกัดกั้นช่องทางเข้าตลาดจีนของบริษัทอเมริกัน ทั้งนี้เนื่องจากจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่และยังคงมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ถือเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจนานาชาติ ซึ่งรวมถึงธุรกิจของสหรัฐฯเอง

อาวุธลำดับถัดมาของจีนคือการสร้างอุปสรรคให้กับซัพพลายเชนในประเทศจีนของบริษัทอเมริกัน ทั้งนี้เนื่องจากจีนเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนหลายอย่างที่สำคัญในผลิตภัณฑ์สินค้าของสหรัฐฯ ดังนั้น การสะดุดหรือติดขัดในห่วงโซ่การผลิตจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจของสหรัฐฯเอง

เจมส์ คีธ ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจ แมคลาร์ที แอสโซชิเอทส์ อดีตรองผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และอดีตผู้อำนวยการคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ความเป็นไปได้ที่จีนจะตอบกลับมาตรการกดดันของสหรัฐฯ (ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์) ด้วยการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯก็มีอยู่ และเป็นมาตรการตอบโต้ที่ได้ผลมากที่สุดด้วย แต่จะส่งผลกระทบรุนแรงกับบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ๆที่พึ่งพาตลาดจีนเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการเติบโต “จีนจะสั่งสอนรัฐบาลใหม่(ของสหรัฐฯ) ว่าการทำสงครามการค้ามันมีต้นทุนสูงขนาดไหน” ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับทัศนะของมาร์ค วิลเลียมส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากแคปปิตอลอิโคโนมิคส์ ที่ระบุว่า บริษัทอเมริกันจะพบกับปัญหาที่ว่าทั้งสินค้าและการทำธุรกิจในจีนอาจเจอกฎระเบียบหรือข้อจำกัดต่างๆมากขึ้นจนยากที่จะดำเนินกิจการต่อไปหรือยากที่จะทำกำไร

อีกกลไกรับมือแรงกดดันจากสหรัฐฯที่บรรดานักวิเคราะห์มองว่าเป็นไปได้คือนโยบายกำหนดค่าเงินหยวนของจีน เพราะหลายครั้งที่ผ่านมา เมื่อธนาคารกลางของจีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ตลาดการเงินทั่วโลกก็จะมีปฏิกิริยาตอบรับปั่นป่วนรุนแรง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเครื่องมือค่าเงินหยวนจะไม่ถูกนำมาใช้มากนัก โดยจะเห็นว่าในระยะหลังทางการจีนพยายามเข้ามาใช้มาตรการแทรกแซงเพื่อให้ค่าเงินหยวนขยับสูงขึ้น และส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าจีนเองไม่อยากถูกตราหน้าว่าเป็นจอมบงการปั่นค่าเงินอย่างที่โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวหาไว้เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่  15 - 18  มกราคม 2560