‘ปรองดอง’ ต้องทำยุครัฐบาลคนกลาง

17 ม.ค. 2560 | 01:00 น.
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า แสดงความเห็นถึงการสร้างความปรองดองว่า เรื่องปรองดองเคยพูดเคยทำกันมาซ้ำๆ หลายครั้งหลายเที่ยวแล้ว แต่ยังปรองดองกันไม่ได้สักที มาถึงตอนนี้ที่รัฐบาลมาบอกว่าจะมีกรรมการปรองดองขึ้นมาอีกครั้ง เป็น 1 ใน 4 ชุดภายใต้กรรมการชุดใหญ่ที่นายกฯเป็นประธาน ซึ่งต้องรอดูว่าจะตั้งใครเป็นกรรมการ และจะมีแนวทางอย่างไร

แต่ประเด็นคือ พอพูดถึงเรื่องปรองดองปุ๊บก็จะโดนโจมตี ว่าจะนิรโทษกรรมอีกแล้ว จะเหมาเข่งอีกแล้ว ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ โดยในเรื่องการจัดการความขัดแย้งนั้นมี 3 มิติ คือ 1.เชิงป้องกัน 2.เชิงแก้ไข และ3.เชิงปรองดองและเยียวยา ปัจจุบันนี้อยู่ในมิติที่ 3 และอยู่ในเฟสที่ 3 ของรัฐบาลด้วยตามโรดแมปคสช.

ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการแล้วบางส่วน เช่น ในเชิงป้องกันได้มีกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะมาบังคับใช้ เพราะก่อนหน้านั้นไม่มีกฎหมาย ไม่มีพื้นที่รองรับการชุมชน พอมีการชุมนุมก็ใช้ถนนหรือที่สาธารณะทั่วไป ต่อไปมีกฎหมายชัดเจน มีพื้นที่ให้ชุมนุม และกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ

[caption id="attachment_124816" align="aligncenter" width="377"] พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า[/caption]

หรือในด้านการเยียวยาก็ดำเนินการมา 2 รัฐบาลแล้ว แต่มีปัญหาฟ้องร้องกันอยู่ เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการเยียวยาที่ชัดเจน ที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันซึ่งมีสูตรคำนวณที่ต่างชาติใช้อยู่เป็นแนวทางพิจารณาได้ เช่น รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี คูณด้วย 30 เท่า ให้กับคนที่เสียชีวิต เราสามารถทำเกณฑ์มาตรฐานนี้ได้เพื่อจะไม่ต้องมาทะเลาะเบาะแว้ง

แต่การเยียวยาด้านจิตใจยังไม่ได้ทำทั้งที่จำเป็น เช่น คนที่เห็นพ่อแม่ถูกฆ่าตายต่อหน้าต่อตา เป็นบาดแผลในใจที่ยากจะลืม ต้องมีกระบวนการเยียวยาด้วย ซึ่งหน่วยงานเช่นกรมสุขภาพจิตจะเชี่ยวชาญเรื่องนี้ ควรให้เข้าบำบัดฟื้นฟูว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ แล้วตั้งโครงการขออนุมัติงบ มาให้ไปดำเนินการ ดีกว่าจะให้เงินทั้งก้อนไปหมดเลยแล้วไม่ได้กับการบำบัดฟื้นฟูทางจิตใจคู่ไปด้วย

ส่วนงานของกรรมการปรองดองชุดใหม่นั้น ไม่ต้องเสียเวลาไปเริ่มต้นใหม่ โดยชุดอ.เอนกที่เสนอให้รัฐบาลไว้แล้ว เราได้ศึกษาจากทุกฉบับก่อนหน้า และลงพื้นที่เก็บข้อมูล พูดคุยคนทุกกลุ่ม ไปเยี่ยมหมดทุกฝ่าย ใช้ตรงนี้เป็นหลักแล้วปรับปรุงต่อเติมเอาได้ รวมทั้งของกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปท. ก็ใช้เป็นต้นเรื่องแล้วขยายรายละเอียด ซึ่งต้องจำแนกกลุ่มวางกรอบดำเนินการและระยะเวลาที่แน่นอนชัดเจนต่อไป

หัวใจของความสำเร็จการปรองดองนั้น คนจะมาทำงานนี้ต้อง 1.อดทนเพียงพอ ที่จะฟังทุกคนทุกฝ่าย ตอนนี้เราไม่อดทนและก็ไม่อยากฟังด้วย ฝ่ายโน้นพูดก็ไม่อยากฟัง ฝ่ายนี้พูดก็ไม่อยากฟัง พอฝ่ายโน้นกับฝ่ายนี้พูดตรงกัน ก็ว่าอย่างนี้มาร่วมมือกันมาโจมตีรัฐบาลอะไรหรือเปล่า 2.เปิดใจ คือตั้งใจมุ่งมั่นเลยว่าจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จให้ได้ และ 3.ไม่อคติ

ทั้งนี้ กรรมการปรองดองที่จะตั้งขึ้นต้องเป็นที่ยอมรับ ตรงนี้ก็สำคัญ รัฐบาลเข้ามาตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เชื่อแน่ว่ารัฐบาลก็คิดว่าตัวเองเป็นกลาง เราก็คิดว่ารัฐบาลเป็นกลาง คนที่เป็นกลางสามารถทำได้ ไม่สามารถรอไปให้รัฐบาลหน้าเป็นคนทำ เพราะรัฐบาลหน้าคือคู่ขัดแย้งของอีกฝ่ายหนึ่ง ทำไม่ได้แน่นอนบอกไว้ได้เลย

เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำไป มีอำนาจเหนือกว่ากองทัพ เหนือกว่าทุกกระทรวง จึงมีความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้แหละ ถ้ามุ่งมั่นตั้งใจ และไม่มีอคติ เปิดใจรับฟัง และอดทนพออย่างที่ว่า สามารถทำงานตรงนี้สำเร็จ ถ้าเผื่อทำด้วยความจริงใจ

ถึงแม้ว่าตอนนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งบางครั้ง แต่รัฐบาลมีอำนาจที่จะทำได้ อย่างน้อยก็ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งมากเหมือนรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนบทบาทของทหาร ตามที่นายกฯระบุจะให้กลาโหมและมหาดไทยรับผิดชอบ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกฯเป็นผู้ดูแลนั้น เห็นว่าวันนี้กองทัพเหมือนเป็นคู่ขัดแย้งไปแล้ว เพราะที่ได้คุยคนเสื้อสีต่าง ๆ เขาถูกทหารติดตามตลอดเวลาจนถึงวันนี้ แม้แต่อดีตนายกฯก็ออกมาบอกว่ามีทหารตาม ถ้าให้กองทัพโดดมาทำตรงนี้ก็จะยาก แต่กำกับดูแลอยู่ข้างหลังได้ไม่เป็นไร แต่ไม่จำเป็นต้องโดดเล่นเอง

คนที่สร้างปัญหา หยุดการกระทำทุกอย่างจบ




[caption id="attachment_124815" align="aligncenter" width="500"] นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์[/caption]

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ สะท้อนมุมมองกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ในประเด็นที่รัฐบาลเร่งผลักดันให้เกิดการปรองดอง โดยจะเชิญพรรคการเมืองร่วมหาทางออกร่วมกันว่า การที่รัฐบาลมีแนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พบปะพูดคุยกันมองว่าเป็นเรื่องที่ดี ควรเชิญทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่างมีพูดคุยหาทางออกร่วมกัน เชื่อว่ายินดีที่จะพบปะพูดคุย แต่ต้องเปิดโอกาสให้เท่าเทียมกัน

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผลจากคำสั่งห้ามไม่ให้พรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจกรรมใดๆ ทางพรรคจึงไม่มีการประชุมเรื่องนี้ แต่โดยขั้นตอนคิดว่าทางรัฐบาล คงทำเป็นหนังสือเชิญมายังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้พิจารณาส่งคนมาร่วมประชุมหารือ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าทางนายอภิสิทธิ์ จะเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง หรืออาจส่งตัวแทนเข้าประชุมต้องแล้วแต่หัวหน้าพรรค โดยส่วนตัวคิดว่าทางพรรคไม่น่ามีปัญหาในเรื่องสิ่งที่ทุกคนต้องการให้เกิดความปรองดองในชาติบ้านเมืองอยู่แล้ว

อดีตส.ส.สงขลา กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบสภาพปัญหาความขัดแย้งในไทยและประเทศอื่น อาทิ ประเทศมาเลเซีย หรือ อินเดีย ประเทศเหล่านี้มีวัฒนธรรม ภาษา ที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความเห็นที่ต่างกันและเกิดความขัดแย้งขึ้นโดยธรรมชาติ ขณะที่ประเทศไทย เกิดจากการกระทำของคน ที่ต้องการทำให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งๆที่เรามีพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน และมีภาษาเดียวกัน

“ปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทย เกิดจากบุคคลแดนไกล และบริวารของคนแดนไกล พยายามสร้างวาทกรรม กำหนดสีเสื้อขึ้นมาให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างกัน ใส่ร้ายกันในเรื่องต่างๆ นำมาสู่ความไม่ปรองดองขึ้นดังกล่าว ทางแก้ก็ต้องแก้ที่บุคคล ถ้าบุคคลที่ก่อปัญหาขึ้นไม่หยุด ปัญหาย่อมไม่จบ ในทางตรงกันข้ามถ้าคนที่สร้างปัญหาหยุด การกระทำทุกอย่างที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก็จะจบ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ”

‘ต้องจริงใจ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ’




[caption id="attachment_124817" align="aligncenter" width="500"] MP-38-3227-d นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย[/caption]

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันให้ความสนใจที่จะสร้างความปรองดองให้บ้านเมือง เราต้องยอมรับว่าที่ผ่านมามีเรื่องไม่ปรองดอง สมานฉันท์ในบ้านเมือง ถ้าจำได้ พรรคเพื่อไทย เป็นคนริเริ่มที่จะหาทางออกในเรื่องนี้มีการตั้งกรรมาธิการในสภา ศึกษาเรื่องปรองดอง เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรองดอง มาจนกระทั่งเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนเราสะบักสะบอมอยู่จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะอยากจะเห็นความสามัคคีปรองดองเกิดขึ้น ที่ผ่านมาไม่สำเร็จ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายกลายเป็นคู่ขัดแย้งกันแล้วไม่มีใครยอมใคร แต่ละฝ่ายก็เกี่ยงงอนกัน

สำหรับท่าทีของพรรคเพื่อไทย แม้วันนี้เราถูกห้ามโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) ไม่มีกิจกรรมทางการเมือง แต่เราได้ปรึกษาหารือกัน หลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลตั้งคณะทำงานเพื่อเอาจริงเอาจังเรื่องปรองดองให้เกิดขึ้นในปีนี้ บอกเลยว่าไม่มีใครปฎิเสธที่จะไม่สนับสนุน ก็ขอให้เชิญมาทางพรรคเพื่อไทย เรายินดีเพราะเป็นผู้ริเริ่มเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น

ถ้ามีการเชิญมา เราคงต้องพิจารณาผู้ใหญ่ในพรรคที่มีประสบการณ์ อาศัยแนวทางจากที่เคยศึกษามา ไม่ว่าจาก นโยบายการปรองดอง ชุดที่ นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (ครป.) เคยศึกษาไว้ หรือการศึกษาของ นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล และ พ.ร.บ.ปรองดอง ที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะเอาข้อมูลต่างๆเหล่านี้มาพิจารณา ต้องถือว่าวันนี้ทางสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ชุดนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ให้ความสำคัญและศึกษาไว้แล้ว ผลจากการศึกษาทั้งหลายเหล่านี้ ฝ่ายที่มีข้อมูลก็จะเอามาคุยกัน

“วันนี้ที่บอกว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างความสมานฉันท์ ตรงที่ว่าคนที่เป็นเหมือนกรรมการกลางเป็นฝ่ายที่มีอำนาจในปัจจุบันท่านได้ลงมาทำเรื่องนี้เอง แถมมีอำนาจพิเศษ ที่ทุกคนเกรงใจ อยู่ที่ว่าถ้าท่านจริงใจจะทำเรื่องนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะสร้างความปรองดองสมานฉันท์เกิดขึ้นได้” อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวพร้อมแนะว่า

การทำงานเพื่อความปรองดอง ชุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีต้องทำการบ้านก่อน ควรจำแนกว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นจะโยงไปถึงการนิรโทษกรรมบรรดาคดีทั้งหลาย ที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง อาจจำแนกออกเป็นกลุ่ม คดีขัดแย้งจากความเห็นทางการเมือง มีการปลุกเร้ากันมาทั้งสีเหลืองและสีแดง กลุ่มที่เป็นความเป็นส่วนตัว เรื่องผิด มาตรา 112 และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น เมื่อจัดกลุ่มแล้วหากบริหารจัดการง่ายก็พิจารณาไปก่อน กลุ่มที่มีปัญหาสลับซับซ้อนค่อยดูกันเป็นเรื่องๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คนทำต้องจริงใจ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ บางเรื่องถ้ากระทบถึงความรู้สึกของผู้สูญเสีย เนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆควรได้รับการเยียวยาผลกระทบนั้นด้วย ถ้าทุกอย่างเป็นอย่างนี้การแก้ปัญหาก็จะเดินหน้าด้วยดี

“ขออย่างเดียวว่า ผู้มีอำนาจอย่าเพิ่งพูดอะไรกับสังคมก่อนที่จะได้คุยกันเพราะเรื่องนี้ละเอียดอ่อนควรนั่งจับเขาคุยกัน เรื่องไหนรับได้เรื่องไหนรับไม่ได้ให้คุยกันก่อน วันนี้ผมเชื่อว่า คงไม่ได้ใช้ขบวนการออกกฎหมายในสภา หากใช้ขบวนการนี้คงยากในการแก้ปัญหา แต่คงเป็นการใช้อำนาจพิเศษ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้งานสำเร็จ แต่ถ้าไปพูดต่อสังคมโดยไม่ได้ตกลงกันก่อน เดี๋ยววงแตก ก็จะย้อนกลับไปมีปัญหาเหมือนเดิม

ที่ผ่านมาเราบอบช้ำกันมามาก จากการแตกความสามัคคีของคนในชาติ เมื่อทุกฝ่ายจูนคลื่นเข้ามาหากันและเราได้บทเรียนจากความบอบช้ำ

คิดว่าขึ้นศักราชใหม่ ขึ้นรัชกาลใหม่ น่าจะมีอะไรใหม่ที่จะให้บ้านเมืองให้ลูกหลานได้เห็นอนาคตของเขา จึงมั่นใจว่าถ้าทุกฝ่ายร่วมกัน บนพื้นฐานของหลักธรรม ให้อภัยต่อกันและกัน ผู้เสียหายได้กับการดูแล สีเสื้อก็จะสลายไปเอง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่ 15 - 18 มกราคม 2560