โตโยต้ายอดร่วง3ปีซ้อน สรุปขายรถปี59‘มาสด้า-ซูซูกิ’ดาวรุ่ง

17 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหลังจบปีปฏิทินเก่า 2559 ที่ “ฐานฯยานยนต์” ต้องออกมาสรุปยอดขายรถยนต์ ซึ่งสถานการณ์ตลาดรวมถือว่าไม่ดีและไม่แย่กว่าที่ประเมินกันไว้ ด้วยตัวเลขประมาณ 7.69 แสนคัน ลดลง 3.77% เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยกลุ่มรถตลาด(ไม่ใช่กลุ่มรถหรู) หรือค่ายหลักที่มียอดขายเกิน 1 หมื่นคันต่อปี ต่างฟาดฟันกันเต็มที่ด้วยโปรดักต์ใหม่ ศักยภาพในการทำตลาด และอัดแคมเปญกระตุ้นยอดขายอย่างต่อเนื่อง

ค่ายใหญ่ “โตโยต้า” ที่เริ่มต้นปีวอกด้วยการมองว่า ตลาดรถยนต์ไทยจะวูบหนักหรือปิดเพียง 7.2 แสนคัน แม้ผ่านครึ่งปีหลังที่เริ่มเห็นภาพต่างๆชัดเจนยิ่งขึ้น จึงประเมินยอดขายตลาดรวมของปี 2559 ใหม่ หรือปรับเพิ่มเป็น 7.4 แสนคัน แต่สุดท้ายก็ยังต่ำกว่ายอดที่ออกมาจริงอยู่พอควร

อย่างไรก็ตาม โตโยต้ายอมรับตั้งแต่ต้นปี 2559 แล้วว่า ยอดขายรถยนต์ของตนเองต้องตกตามสภาพตลาด หรือทำได้ 2.4 แสนคัน ซึ่งหลังผ่าน 12 เดือนก็สามารถทำตัวเลขได้ 2.45 แสนคัน ติบลบ 7.86% เมื่อเทียบกับปี 2558 (ดูตารางประกอบ) ขณะเดียวกันยังเป็นสถานการณ์การขายที่ลดลงต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกันของโตโยต้าในเมืองไทย โดยย้อนไปในปี 2558 ทำได้ 2.66 แสนคัน ตก18.7% และปี 2557 กับยอดขาย 3.27 คัน ลดลง 26.6%

เมื่อพิจารณาแยกลงไปตามเซ็กเมนต์“โตโยต้า”โดน “ฮอนด้า” แซงในกลุ่มยอดขายรถยนต์นั่งไปเรียบร้อย ด้วยตัวเลข 8.72 หมื่นคัน และ 1.07 แสนคันตามลำดับ

“จากการเปิดตัวรถยนต์ใหม่หลายรุ่นในปี 2559 ทำให้ฮอนด้าสามารถครองอันดับ 1 ในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และปีนี้ฮอนด้าเตรียมแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดอีกหลายรุ่น” พิทักษ์ พฤทธิสาริกรประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงความสำเร็จ

แต่กระนั้น โตโยต้าไม่ถึงกับเสียรังวัดไปทั้งหมดเพราะในกลุ่มปิกอัพ 1 ตัน ที่สามารถทำยอดขายได้ถึง 1.48 แสนคัน (รวมพีพีวี) เหนือกว่าอีซูซุที่ตามมา 1.28 แสนคัน (มีบางช่วงในปี 2559 ที่อีซูซุสามารถเบียดแซงโตโยต้าขึ้นมาได้ด้วยซ้ำ)

ทั้งนี้ หากมองว่าเป็นปีที่ไม่สวยงามของโตโยต้า คงเป็นปีที่แย่ของหลายค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน เพราะฮอนด้า ยอดขายลดลงไป 4.31% มิตซูบิชิติดลบ 7.37% ขณะที่นิสสันอาการหนักกว่าคือยอดขายตก 16.64% ซึ่งค่ายหลังกำลังปรับโครงสร้างการบริหารภายใน รวมถึงเน้นไปที่ศักยภาพงานขายและเครือข่ายผู้แทนจำหน่ายให้เข้มข้นขึ้น และยังน่าจับตาว่าการมาของ“โน้ต ใหม่” ภายใต้อีโคคาร์เฟส2 ที่มีกำหนดเปิดตัวในวันที่ 17 มกราคมนี้ จะช่วยกู้สถานการณ์ของนิสสันในปีนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

ในขณะที่ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ดูอืดเอื่อยลงไป กลับเป็นโอกาสของค่ายดาวรุ่งอย่าง “มาสด้า” และ “ซูซูกิ” ที่สามารถทำยอดขายในปีที่แล้วเป็นบวก เริ่มจาก“อัตสึชิ ยาสึโมโต” รองประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ไทยถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มียอดขายสูงสุดอย่างต่อเนื่องของมาสด้า โดยปีที่ผ่านมาทำได้ทะลุเป้า 42,537 คัน เติบโต 8% (+7.77%) เมื่อเทียบกับปี 2558 (39,471 คัน) ครองส่วนแบ่งการตลาด 5.5% เพิ่มขึ้น 0.7% ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตเป็นอันดับ 1 ของมาสด้าทั่วโลก และกลายเป็นตลาดอันดับ 2 ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดรองจากประเทศออสเตรเลีย

ขณะที่ “ซูซูกิ” เจ้าพ่อเก๋งเล็ก แม้ปีที่แล้วจะไม่มีโปรดักต์ใหม่ปั้นยอด(มีเพียงเออร์ติก้า ไมเนอร์เชนจ์) แต่สามารถประคองยอดขายได้ 22,913 คัน เติบโต 7.65% ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้ไม่มีโปรดักต์ใหม่สดซิง แต่สามารถดึงลูกค้าให้ซื้อรถยนต์ซูซูกิได้ ด้วยการลงรายอะเอียดในขั้นตอนการขาย สร้างความสะดวกในด้านสินเชื่อ พร้อมเพิ่มความพอใจให้แก่ผู้บริโภค เช่นเดียวกับการสื่อสารที่ชัดเจนถึงความคุ้มค่าของซีดานรุ่น “เซียส” จนทำยอดขายได้เกือบ 1 หมื่นคันในปีที่ผ่านมา หรือกลายเป็นตัวขายหลักคู่กับ “สวิฟท์” (ประมาณ8,000 คัน) ไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังเป็นปีที่ท้าทายของซูซูกิ เพราะอาจจะไม่มีโปรดักต์ใหม่เปิดตัวสร้างความฮือฮา ส่วน “สวิฟท์ โฉมใหม่” ที่เปิดตัวให้เห็นในตลาดโลกแล้ว คงพร้อมทำตลาดในไทยช่วงต้นปี 2561

ฝั่งค่ายอเมริกันอย่าง “ฟอร์ด” ที่มีปิกอัพ “เรนเจอร์” เป็นเส้นเลือดใหญ่ และเสริมทัพด้วยเอสยูวี(พีพีวี) “เอเวอเรสต์” สามารถทำผลงานได้ดีต่อเนื่อง พร้อมดันยอดขายรวมให้กว่า 4 หมื่นคัน เติบโต 12.22% สวนทางกับเพื่อนรวมชาติเชฟโรเลตที่ยอดขายตกลงไป 14.51%

จากปี“ลิง ลุกลน”สู่ปี “ไก่ทอง 2560” ยังเป็นช่วงจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะการวางแผนโปรดักต์ใหม่ๆที่ต่างขยับตามโครงสร้างภาษี ส่วนค่ายใหญ่อย่าง “โตโยต้า” และ “นิสสัน”หลังพิงกำแพง ไม่สามารถเสียส่วนแบ่งการตลาดไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว ขณะที่ค่ายเล็กแสดงให้เห็นแล้วว่า ถ้าวางแผนดีๆ โปรดักต์มีภาพโดดเด่นชัดเจนไปทางใดทางหนึ่ง ตอบสนองถึงความคุ้มค่า ผู้บริโภคก็พร้อมเปิดใจยอมรับเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่ 15 - 18 มกราคม 2560