สหภาพฯกสทร้องนายก ค้านตั้งบริษัทลูกร่วมทุน

17 ม.ค. 2560 | 08:00 น.
สหภาพฯ กสท. ส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี ค้านแผนควบรวมโครงข่ายระหว่างประเทศตั้งบริษัทลูกร่วม “ทีโอที”เร่งรีบ ขาดความชัดเจน นักวิชาการชี้หลังควบรวมไม่สำเร็จ รัฐเปลี่ยนรูปแบบใหม่แต่บริษัทฯลูกออกมาร่วมทุน

นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนคม จำกัด (มหาชน) หรือ สร. กสท เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สร.กสท ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ กรณีที่คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหา ของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

โดยให้แยกทรัพย์สินที่เป็นโครงข่ายหลักออกพร้อมจัดตั้ง 3 บริษัทใหม่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับ กสท และ ทีโอที คือบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ (NGNCo) บริษัท ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (IDCCo) และ บริษัท โครงข่าย บรอดแบนด์ภายในประเทศฯ (NBN Co)

อย่างไรก็ตาม สร.กสท เห็นว่าการดำเนินการดังกล่าว มีความเร่งรีบ ขาดการมีส่วนร่วม ไม่มีความชัดเจน เมื่อแยกทรัพย์สินและบริการ ออกไปแล้ว จะไม่สามารถหารายได้และแข่งกับเอกชนได้ เป็นการสร้างปัญหาให้กับผู้ใช้บริการและองค์กร มากขึ้น ไม่ได้แก้ปัญหาเพื่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้เข้มแข็ง ไม่วิเคราะห์ผลกระทบในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง แผนการดำเนินธุรกิจในระยะยาว ความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และ สถานะความอยู่รอดของแต่ละบริษัท ว่าการแบ่งแยกโครงข่ายหลักออกไป จะตอบสนองหรือรองรับนโยบายของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0 หรือ ไม่ และ ที่สำคัญ คือ ความมั่นคงของประเทศจะเป็นอย่างไรไม่มีผู้ใดออกมาชี้แจง

นายสังวรณ์ กล่าวเพิ่มเติมอกีว่า รัฐบาลต้องมีความชัดเจนว่าจะให้ กสท และ ทีโอที เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องแข่งขัน หารายได้นำส่งรัฐ หรือ เป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อสาธารณะประโยชน์ ไม่แสวงหารายได้ ผลกำไร นอกจากนี้แล้วควรมีหน่วยงานเดียวที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการพัฒนาประเทศ และ ความมั่นคง เพราะที่ผ่านมามีหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงต้นสังกัดในการกำกับดูแล และ กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น ทำให้ยากต่อบริหารจัดการ

ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความคิดเห็นกรณีที่ สร.กสท ไม่เห็นด้วยกับการตั้งบริษัทฯลูกว่า ที่ผ่านมาก็มีสหภาพเป็นคนไม่เห็นด้วย แม้จะให้เวลามาหลายรัฐบาล แนวทางการให้ไปตกลงควบรวมกันเองไม่มีแนวโน้มว่าจะทำได้แนวคิดจึงเปลี่ยนใหม่ แทนที่จะควบรวม จึง เป็นการเปิดบริษัทใหม่ ขึ้นมาดูแลทรัพย์สินและโครงข่ายที่ลงทุนด้วยเงินของรัฐ แล้วพอจะทำกำไรได้ออกมาเข้า บ. ใหม่ และบริหารแบบธุรกิจ

ส่วนคน หรือ พนักงาน ก็เช่นกัน ให้โอนย้ายบุคลากรรุ่นใหม่ หรือ สมัครใจ และมีศักยภาพ มาสังกัดบริษัทฯใหม่โครงข่ายที่ดึงมาลงบริษัท ที่จัดตั้งใหม่ก็จะดึงมาจาก กสท และ ทีโอที พนง. ก็เช่นกัน หรือ รับสมัครใหม่3 ธุรกิจ คือ โครงข่ายระหว่างประเทศ IDC โครงข่ายในประเทศ+บรอดแบนด์ ดูจะเป็นธุรกิจที่พอจะเอามาปั้นได้

ก่อนหน้านี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ร่วมกับรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวในช่วงต้นของการประชุมว่า การประชุมต่อไปนี้ ทุกคณะให้เวลา 3 เดือน ต้องได้ข้อยุติในทุกเรื่อง ถ้า 3 เดือนไม่ได้ข้อยุติ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็จำเป็นต้องเข้าไปดูแลงานโครงสร้างทั้งหมด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่ 15 - 18 มกราคม 2560