ธุรกิจสตรีมหนัง-เพลงคึกคัก สะท้อนการบริโภคสื่อบันเทิงชาวมะกันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

15 ม.ค. 2560 | 12:00 น.
รายได้จากธุรกิจสตรีมมิ่งภาพยนตร์ในสหรัฐฯ เติบโตอย่างรวดเร็วในปีที่ผ่านมา สวนทางยอดขายแผ่น สอดคล้องกับทิศทางในธุรกิจเพลงที่การรับฟังจากบริการแบบสตรีมมิ่งแซงหน้ายอดขายเพลงรูปแบบดิจิตอลได้เป็นครั้งแรกในปี 2559
ข้อมูลจากดิจิตอล เอ็นเตอร์เทนเมนต์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า รายได้จากการขายและเช่าภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริการวมแล้วอยู่ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 ลดลง 7% จากปี 2558 โดยรายได้จากการขายภาพยนตร์ในรูปแบบแผ่นดิสก์ลดลงเกือบ 10% เมื่อเทียบกับปี 2558 เหลือเพียง 5.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ในขณะเดียวกันธุรกิจสตรีมมิ่ง ที่มีผู้ให้บริการ อาทิ เน็ตฟลิกซ์ ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระดับสูง ด้วยอัตราการเติบโตเกือบ 23% คิดเป็นรายได้ 6.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าการเติบโตจะลดลงเล็กน้อยจากปี 2558 ที่รายได้จากธุรกิจดังกล่าวเติบโตได้ถึง 25%

ยอดขายแผ่นภาพยนตร์ที่ลดลงส่งผลกระทบต่อกำไรของสตูดิโอผู้ผลิตภาพยนตร์ ที่เดิมทีหวังพึ่งพาตลาดโฮมวิดีโอเป็นปัจจัยหลักในการสร้างการเติบโตของกำไร ธุรกิจโฮมวิดีโอที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องส่งผลให้บริษัทสื่อบันเทิงยักษ์ใหญ่ อาทิ วอร์เนอร์บราเธอร์ส และยูนิเวอร์แซลพิคเจอร์ส ต้องปรับตัวด้วยการหาวิธีเผยแพร่ภาพยนตร์ในรูปแบบโฮมวิดีโอให้เร็วขึ้น โดยแนวทางหนึ่งคือการเรียกเก็บค่าบริการในอัตราสูงถึง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับรับชมภาพยนตร์ใหม่ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เพียง 2 สัปดาห์ เป็นต้น

ผลการสำรวจแสดงให้เห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคสื่อยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยการศึกษาของโฮโรวิตช์ รีเสิร์ช เมื่อปีก่อนพบว่า เกือบครึ่งหนึ่ง (49%) ของชาวอเมริกันช่วงอายุระหว่าง 18-34 ปี เลือกที่จะรับชมคอนเทนต์ผ่านบริการสตรีมมิ่งอย่างเน็ตฟลิกซ์ การอัดรายการทีวีไว้ชมทีหลัง หรือเลือกใช้บริการวิดีโอ-ออน-ดีมานด์เป็นหลัก เทียบกับเพียง 29% ที่ตอบว่ารับชมรายการโทรทัศน์สดผ่านทางทีวี

ทั้งนี้ โดยรวมแล้วในปี 2559 ชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินกับการรับชมภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ ผ่านทั้งบริการสตรีมมิ่งและรูปแบบโฮมวิดีโอรวมกันเป็นมูลค่า 1.828 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2558 โดยมีภาพยนตร์ที่ทำยอดขายได้สูงสุด อาทิ Star Wars: The Force Awakens, Deadpool, Zootopia, Batman V Superman: Dawn of Justice และ Finding Dory

ทิศทางการรับชมภาพยนตร์ของชาวอเมริกันสอดคล้องกับพฤติกรรมการฟังเพลง ที่ในปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่สัดส่วนของบริการแบบสตรีมมิ่งแซงหน้ายอดขายเพลงรูปแบบดิจิตอลได้เป็นครั้งแรก โดยข้อมูลจากนีลเซ็น มิวสิค ระบุว่า ชาวอเมริกันใช้แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลง อาทิ แอปเปิลมิวสิค กูเกิลเพลย์สปอติฟาย แพนโดรา และอเมซอนมิวสิค ในการฟังเพลง 4.31 แสนล้านครั้งในปี 2559 เพิ่มขึ้นจาก 3.1 แสนล้านครั้งในปี 2558 โดยมีเพลงของศิลปินอย่างเดรก เดอะวีคเอนด์ คานเย เวสต์ และริฮันน่า ที่ถูกฟังมากที่สุด ขณะเดียวกัน ยอดขายอัลบั้มเพลงรูปแบบดิจิตอลลดลง 20.1% จาก 102.9 ล้านอัลบั้มเหลือ 82.2 ล้านอัลบั้ม ส่วนยอดขายซิงเกิลเพลงลดลงถึง 25% จาก 9.643 แสนล้านเพลงเหลือ 7.237 แสนล้านเพลง อย่างไรก็ดี การบริโภคเพลงโดยรวมของชาวอเมริกันตลอดทั้งปี 2559 เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยการฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งก้าวขึ้นมามีสัดส่วนสูงที่สุดที่ 38%

"อุตสาหกรรมเพลงเติบโตได้อย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง และปี 2559 แสดงให้เราเห็นว่าภูมิทัศน์การบริโภคเพลงมีวิวัฒนาการไปรวดเร็วยิ่งกว่าที่เราเคยได้เห็นการเปลี่ยนผ่านรูปแบบอื่นๆ" เดวิด แบคูลา รองประธานอาวุโสของนีลเซ็น มิวสิค กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,227 วันที่ 15 - 18 มกราคม 2560