รัฐอัดฉีดซํ้างบหมู่บ้าน ปค.ลุ้นบรรจุแผนรายจ่ายประจำปี

14 ม.ค. 2560 | 05:00 น.
ปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้รัฐต้องออกมาตรการเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ทั้งมาตรการเชิงมหภาค การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และมาตรการระดับจุลภาคครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เช่นโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย, โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรา

รวมถึง “โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐากรากตามแนวประชารัฐ”ที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) ซึ่งปีงบประมาณ 2559 ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ 2 มาตรการ คือ มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ในระดับตำบล(ตำบลละ 5 ล้านบาท ) และโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน (หมู่บ้านละ 2 แสนบาท ) ขณะที่ในปีงบประมาณ2560 รัฐได้ออกมาตรการ “โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านหมู่บ้านละ2.5 แสนบาท” เพื่อมาทดแทนโครงการเดิม ผ่านกลไกหมู่บ้าน ใช้งบทั้งสิ้น18,660 ล้านบาท จำนวน 74,655หมู่บ้าน โดยมีจำนวนโครงการที่เสนอ82,271 โครงการ (รวมควบรวม 182โครงการ) กรอบดำ เนินการ 90 วัน (1 พ.ย. 59-31 ม.ค. 60)

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) กระทรวงมหาดไทย เจ้าภาพโดยตรงในโครงการนี้ ดังรายละเอียด...

 กระตุ้นศก.ฐานราก ?

โครงการนี้เป็นการลงในระดับฐานราก โดยให้กลไกของหมู่บ้าน หรือก็คือ คณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) เป็นกลไกขับเคลื่อน โดยชาวบ้านคิดโครงการ ตัดสินใจ และก็ดำเนินการเอง ดังนั้นในลักษณะของปัจเจกมีเงินเข้ากระเป๋าชาวบ้านแน่นอน เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลผลิตและรายได้ในอนาคต เช่นการขุดลอกคลอง โครงการส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ โดยที่ของใหม่คือโครงการหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท ยังมีข้อแตกต่างจากของเดิม (หมู่บ้านละ 2 แสนบาท )คือเปิดทางให้ควบรวมได้ ตัวอย่างเช่นระบบน้ำเดิมที่โครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาททำไปอาจได้แค่นี้ ต่อมาได้ 2.5 แสนบาทก็มาต่อยอด หรือแม้แต่การให้ 2 หมู่บ้านสามารถควบรวมโครงการกันได้ เช่นมีคลองแบ่งเขต ก็เอา 2 หมู่บ้านมารวมกัน แล้วเอามาขุดลอกคลอง เพื่อให้น้ำไหลสะดวก หรือใช้เป็นการสัญจรข้ามระหว่างหมู่บ้าน โดยการจ้างเหมา ก็ต้องใช้แรงงานในหมู่บ้านนั้น ๆ ถ้าหมู่บ้านนั้นไม่มี ก็ให้เป็นแรงงานในหมู่บ้านถัดไป คือต้องเป็นแรงงานคนไทยเท่านั้น

“งบประมาณที่ใส่ไปตามพื้นที่ (Area based ) ที่เป็นคนชี้เป้า ผ่านกลไกในพื้นที่ คือมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นตัวตั้ง มีนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นแกน โดยมีกระทรวงมหาดไทยอำนวยการอยู่ ซึ่งแน่นอนต้องมีความเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์6 ด้านของรัฐบาล 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 รวมทั้งเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาต่าง ๆของกลุ่มจังหวัด เท่านั้นไม่พอยังต้องสะท้อนปัญหาความต้องการของพื้นที่ขึ้นมาด้วย จึงจะขับเคลื่อนไปด้วยกันได้”

 เปลี่ยนหัวจ่ายเป็น”เงินอุดหนุน”

ร.ต.ท .อาทิตย์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเราได้บทเรียนจากโครงการตำบลละ5 ล้านบาท พื้นที่ค่อนข้างเหนื่อย เพราะว่าอำเภอเป็นหน่วยดำเนินการ ระบบการจ้างต้องทำตามระเบียบพัสดุ ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องรายละเอียดวิธีการปฏิบัติต้องลงทรัพยากรใหม่ เช่นติดตั้งคอมพ์ทุกอำเภอ จึงได้แก้ไขอุปสรรคปรับมาเป็นโครงการหมู่บ้านละ 2 แสนบาท และ2.5 แสนบาท เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนหัวจ่าย จากที่เป็นเงินลงทุน (โครงการตำบลละ 5 ล้านบาท) มาเป็นเงินอุดหนุนคือ ให้ชาวบ้านคิดเอง ทำเอง โดยที่จังหวัดจะเป็นข้อต่อสำคัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะหัวเรือใหญ่ ต้องกำกับขับเคลื่อนและติดตามทำงานอย่างเป็นบูรณาการ ”

 คืบหน้า”หมู่บ้านละ 2.5 แสนบ.

โดยยอดถึง ณ วันที่ 9 มกราคม 2560 เบิกจ่ายแล้วเป็นงบ 10,379.90ล้านบาท คิดเป็น 55.63% โดยมีโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 36,759 โครงการ เป็น 44.50%ของจำนวนที่เสนอ คิดเป็นงบฯ 8,304.23 ล้านบาท โดยมี 2 จังหวัดที่ดำเนินการเสร็จสิ้น 100 %คือจังหวัดอุตรดิตถ์และนราธิวาส คาดจะเบิกจ่ายได้ครบทุกโครงการภายในสิ้นเดือนนี้ แม้จะมีเหตุอุทกภัยภาคใต้ แต่เชื่อยังทันตามกรอบ

ทั้งนี้โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านหมู่บ้านละ 2.5 แสนบาท จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1. โครงการด้านสาธารณประโยชน์ เป็นสัดส่วนถึง90.28% จำนวน 73,028 โครงการ ใช้งบ16,454.74 ล้านบาท อาทิ โครงการปรับปรุง/ต่อเติมประปาภูเขาเพื่ออุปโภคบริโภค, โครงการขุดลอกกำจัดวัชพืชลำคลองและขยะสิ่งปฏิกูล, โครงการขุดลอกคลองระบายนํ้าเพื่อส่งเสริมการเกษตร,ปรับปรุงต่อเติมฝายเก็บกักนํ้า ฯลฯ2. ด้านเศรษฐกิจ 8.55% จำนวน 6,915โครงการ ใช้งบ 1,575.08 ล้านบาทและ 3. ด้านสังคม 1.17% จำนวน 946โครงการ งบประมาณ 194.29 ล้านบาท

ต่อข้อถามที่ว่า ที่มาของโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน สืบเนื่องจากที่ผ่านมาหลายพื้นที่เกิดปัญหาภัยแล้งและขาดกำลังซื้อย่างหนัก ทำให้รัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แต่หากสถานการณ์คลี่คลายลง รัฐจะให้ความสำคัญต่อโครงการนี้น้อยลงหรือไม่ ?

หนุนสานโครงการต่อเนื่อง

อธิบดีปค. กล่าวว่า ในอนาคตถ้าเศรษฐกิจกลับมาดีแล้ว โครงการที่พื้นที่ทำกันก็จะส่งผลกลับมา ถ้าจะสานต่อก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานระดับหมู่บ้าน และจะเป็นจุดยึดโยงเหมือนเติมฟันหลอ บางโครงการที่เสนอไปท้องถิ่นแล้วยังไม่ได้ ตรงนี้ก็อาจจะมีส่วนเติมเต็ม ซึ่งการจะทำให้กลไกหมู่บ้านมีศักยภาพยิ่งขึ้นในอนาคต ก็คือการใส่เงินลงไปในพื้นที่ เพื่อจะตอบสนองความต้องการพื้นฐาน และตอบสนองการแก้ไขปัญหาเของประชาชนฐานรากและยังเป็นการพัฒนาพื้นที่

เสนอบรรจุเป็นงบรายจ่ายประจำ?

ส่วนที่ว่ากระทรวงมหาดไทย (มท.)จะเสนอโครงการดังกล่าวบรรจุเป็นงบประจำในปีงบประมาณ 2561 หรือไม่เขากล่าวว่าคงต้องขึ้นอยู่กับทางนโยบายปค.ก็มีความคิดเช่นนั้น ได้คุยกันกับทางมท.ว่า อยากให้มีลักษณะเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ(จากเดิมที่เป็นการอนุมัติจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ปีงบประมาณ2559/2560) ซึ่งในมุมมองของผม ถ้าเปรียบเทียบยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดก็เหมือนกับการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไปสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของจังหวัด เมื่อจีดีพีจังหวัดเพิ่ม รายได้ต่อหัวในภาพรวมก็ดีขึ้น
แต่เรายังไม่ได้พูดถึงความแตกต่างด้านรายได้ ในยุทธศาสตร์ 6 ด้านเรื่องของความเหลื่อมลํ้า ดังนั้นการจะเดินไปข้างหน้า ก็ควรจะดึงคนข้างล่างและปัญหาความต้องการพื้นฐานก็ควรจะได้รับการแก้ไขไปด้วย ซึ่งกลไกศักยภาพหมู่บ้านสามารถทำได้อยู่แล้ว และถ้ามีงบประมาณตอบสนอง ก็เท่ากับประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมกับฐานรากควบคู่

ส่วนเม็ดเงินงบประมาณที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับฐานะการคลังของรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางส่วนบนจะคิด ผมคงตอบไม่ได้

เม็ดเงินที่อัดฉีดลงสู่ฐานราก จะยกระดับศักยภาพหมู่บ้านให้เข้มแข็งยั่งยืนได้หรือไม่ปัจจุบันยังเร็วไปที่จะตอบ แต่อย่างน้อยในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นไม่เป็นปกติ ก็น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน ดีกว่าที่รัฐจะไม่มีมาตรการใดๆ เลย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560