สั่งกนอ.ซื้อที่ไม่อั้น รับไฮเทคปูฐานอีอีซี

14 ม.ค. 2560 | 07:00 น.
“สมคิด”สั่งกนอ.ระดมซื้อที่ดินจากภาคเอกชนไม่อั้น พัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม รองรับการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี15 ปีข้างหน้า เตรียมประกาศเชิญชวนผู้สนใจเสนอขายได้ไม่เกินไตรมาสแรกปีนี้ ตั้งเงื่อนไข 500 ไร่ขึ้นไป พร้อมเตรียมชงบอร์ดจัดตั้งนิคมฯร่วมดำเนินการใหม่อีก 3 แห่งรับการลงทุน

แหล่งข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผย”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยมีการวางเป้าหมายการพัฒนาใน 15 ปีข้างหน้า จะต้องใช้พื้นที่ประมาณ 1.8 แสนไร่ เพื่อรองรับการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ของภาคเอกชนที่มีอยู่ราว 3 หมื่นไร่ แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้ว 1.5 หมื่นไร่ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1.5 หมื่นไร่ จะไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ที่จะมาลงทุน

ดังนั้น เพื่อเป็นการจัดหาพื้นที่รองรับการลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับกนอ.ไม่ได้มีพื้นที่นิคมฯของตัวเองมากนัก และ ส่วนใหญ่เป็นนิคมฯร่วมพัฒนากับภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน รวมถึงพื้นที่ราชพัสดุมีจำนวนจำกัด ทางนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ จึงมีแนวคิด ที่จะให้กนอ.พัฒนาเป็นพื้นที่ของตนเองมากขึ้น จากปัจจุบันมีเพียง 11 แห่ง และได้มอบนโยบายกนอ.ไปจัดซื้อที่ดินจากภาคเอกชนที่มีที่ดินอยู่ในมือ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมของตัวเองเพิ่มขึ้นอีกเป็นการรองรับการเติบโตในพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดมีการจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์ และการจัดทำทีโออาร์ใกล้จะแล้วเสร็จ เพื่อที่จะประกาศเชิญชวนให้ภาคเอกชนที่มีที่ดินอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา นำมาเสนอขายให้กับกนอ.ในราคาตลาดหรือราคาประเมิน แต่ต้องเป็นราคาที่กนอ.รับได้ โดยคาดว่าจะประกาศเชิญชวนได้เร็วสุดไม่น่าจะเกินไตรมาสแรกของปีนี้

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การยื่นเสนอขายที่ดินดังกล่าว กำลังพิจารณาว่าจะต้องเป็นที่ดินที่มีพื้นที่ติดกันอย่างน้อย 1,000 ไร่ขึ้นไปหรือไม่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุนจัดทำเป็นนิคม หรือว่า อาจจะปรับลดลงมาเหลือ 500 ไร่ เนื่องจากที่ดินขนาดใหญ่มีค่อนข้างจำกัด หรืออาจจะไม่มีก็ได้ อีกทั้ง อุตสาหกรรมที่จะมาลงทุน จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การตั้งโรงงานอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่จำนวนมาก

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กนอ.ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายการจัดซื้อที่ดินไว้จำนวนกี่ไร่ แต่ในเบื้องต้นกำหนดไว้จะจัดซื้อในจำนวนที่ไม่จำกัดก่อน เพราะจะต้องประเมินจากภาคเอกชนก่อนว่าจะมีพื้นที่นำมาเสนอจำนวนมากน้อยเพียงใด
ส่วนเม็ดเงินที่จะนำมาจัดซื้อที่ดินนั้น คงจะมาจากรายได้ของกนอ.เอง ที่ในแต่ละปีจะมีรายได้เข้ามาประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อที่ดินนี้ไม่ได้ดำเนินการทำทันทีทั้งหมด แต่อาจจะทยอยดำเนินการไป เพราะจะต้องดูความเหมาะสมของพื้นที่ที่นำมาเสนอด้วย หรืออาจจะไปกู้เงินมาลงทุน ในระยะแรก อีกทั้ง เมื่อพ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณามีผลใช้บังคับ ซึ่งสามารถให้ตั้งบริษัทลูกขึ้นมาดำเนินการลงทุนได้ ก็อาจจะใช้บริษัทลูกเข้าดำเนินการในส่วนนี้ก็สามารถทำได้หลายช่องทาง

ประกอบกับพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นนิคมนั้น จะต้องมีการศึกษาว่าพื้นที่ใดมีศักยภาพในการรองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะพัฒนาให้แต่ละนิคม เป็นรูปแบบคลัสเตอร์ ที่มีเพียงอุตสาหกรรมเดียว ไม่สะเปะสะปะเหมือนนิคมทั่วไป และแต่ละคลัสเตอร์ควรจะอยู่พื้นที่ไหน ซึ่งในปีนี้จะเริ่มศึกษาศักยภาพของพื้นที่ดังกล่าว ควบคู่ไปกับการจัดซื้อที่ดิน

“นโยบายของนายสมคิด ที่ให้กนอ.จัดซื้อที่ดิน เพื่อมาพัฒนาเป็นนิคมนี้ เพราะเห็นว่ากนอ.ไม่ได้จัดซื้อที่ดินของตัวเองมาเป็นเวลานาน การลงทุนส่วนใหญ่เป็นนิคมร่วมพัฒนา ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินเอง จึงต้องการเร่งรัดให้กนอ.จัดหาที่ดินของตัวเองมากขึ้น และเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะจัดหาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซีด้วย

ส่วนกรณีที่มองว่า การจัดซื้อที่ดินของกนอ.มาพัฒนาเป็นนิคม จะเป็นการแข่งขันกับภาคเอกชนที่มีอยู่แล้วหรือไม่นั้น มองว่านโยบายของรัฐบาลไม่ต้องการรอการพัฒนาที่ดินมาจากภาคเอกชนเพียงฝ่ายเดียว และคงไม่ได้แข่งขันกัน เพราะแต่ละนิคมก็มีจุดเด่นของตัวเอง ขึ้นอยู่กับลูกค้าจะเลือกหรือให้ความสำคัญในพื้นที่ใด ซึ่งนิคมของกนอ.ที่จะพัฒนาขึ้นมาใหม่ก็ต้องเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในอีอีซีนั้น นอกจากมีพื้นที่รองรับในระยะแรกแล้ว 3 หมื่นไร่ แบ่งเป็นนิคม ของภาคเอกชนที่พัฒนาแล้ว 1.5 หมื่นไร่ และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1.5 หมื่นไร่ ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต ดังนั้น การจัดหาพื้นที่มาเพิ่มเติม ทางกนอ.ก็มีแนวคิดไว้ 3 แนวทาง ได้แก่ การใช้พื้นที่รัฐ การจัดซื้อที่ดินจากภาคเอกชน และการเข้าเทกโอเวอร์นิคมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ว่าแนวทางไหนเหมาะสมกว่า

“การจัดซื้อที่ดินจากภาคเอกชน เป็นแนวทางหนึ่งที่จะนำที่ดินว่างเปล่ามาพัฒนาต่อ เพราะต้องยอมรับว่าที่ดินราชพัสดุหายากแล้วในเวลานี้ และเป็นการเร่งจัดหาพื้นที่เพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่ ซึ่งยังขาดอยู่อีก 2 หมื่นไร่ ที่มีเป้าหมายว่าในช่วง 5 ปีแรก จะต้องมีพื้นที่รองรับในอีอีซีถึง 5 หมื่นไร่ก่อนในระยะแรก”

นอกจากนี้ ยังมีภาคเอกชนหลายรายให้ความสนใจ ที่จะเข้ามาลงทุนในการทำนิคมแห่งใหม่ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้กนอ.อยู่ระหว่างพิจารณาเอกสาร และการลงสำรวจพื้นที่ เพื่อประเมินความเหมาะสมทางกายภาพของพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งนิคม ซึ่งมี 3 พื้นที่ที่ได้ผ่านหลักเกณฑ์แล้ว และพร้อมที่จะให้คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)กนอ.อนุมัติเห็นชอบในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ได้แก่ พื้นที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี จำนวน 843 ไร่ ของนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งเป็นนิคมใหม่ที่จะมารองรับการลงทุนในอีอีซี เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น พื้นที่ 1,746 ไร่ ในจังหวัดปราจีนบุรี ของบริษัท บ่อทอง อินดัสทรี เทคโนโลยี จำกัด ในจังหวัดปราจีนบุรี รองรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เกษตรแปรรูป เป็นต้น และพื้นที่ 1,500 ไร่ อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ของบริษัท กรีนเทค ซึ่งเป็นนิคมบริการ โลจิสติกส์ ศูนย์กระจายสินค้า เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560