เพอร์ม่าฯผนึกเครือสหพัฒน์ ชูนวัตกรรมนาโนซิงค์ใส่ชุดชั้นใน-ถุงเท้า-ของใช้ในบ้าน

14 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
ชูนวัตกรรมนาโนซิงค์ พลิกโฉมวงการสิ่งทอ "เจเค กรุ้ป"เตรียมลอนช์ "เพอร์ม่า ฮีลก้า" ไตรมาส 1 นี้หลังพัฒนามากว่า 3 ปี เล็งเปิดตัวพร้อมพันธมิตรรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ นำทัพโดยเครือสหพัฒน์ มั่นใจ 2 ปีดันรายได้โตทะลุ 1,500 ล้านบาท

นายไชยยศ รุ่งเจริญชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เพอร์มา ครอปเปอร์เรชั่น จำกัด บริษัทในกลุ่มเดอะเจเคกรุ้ป ผู้ผลิตสิ่งทอ ภายใต้ชื่อ "เพอร์ม่าฮีลก้า" (PermaHealCA) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า หลังใช้เวลาในการพัฒนามากว่า 3 ปีล่าสุดบริษัทเตรียมเปิดตัวนวัตกรรมสิ่งทอ "เพอร์ม่าฮีลก้า" สิ่งทอที่ถูกวิจัยและพัฒนาขึ้นด้วย
เทคโนโลยี"นาโนซิงค์"ที่ได้รับการพิสูจน์และยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์ว่ามีคุณสมบัติในการกำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของกลิ่นไม่พึงประสงค์ โรคผิวหนัง ไซนัส และภูมิแพ้ในชีวิตประจำวัน

ปัจจุบันบริษัทได้ร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการรายใหญ่ ได้แก่ เครือสหพัฒน์ ในการนำสิ่งทอมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ อาทิ ชุดชั้นใน กางเกงชั้นใน ฯลฯ ขณะที่ผ่านมามีการนำไปผลิตเป็นผ้าปูที่นอน ถุงเท้า ฯลฯ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

"การพัฒนาเพื่อให้ได้นวัตกรรมสิ่งทอเพื่อตอบรับการก้าวเข้าสู่ Thailand Textile 4.0 สิ่งทอไทยล้ำหน้าร่วมพัฒนาด้วยนวัตกรรม ด้วยการผลิตสิ่งทอนวัตกรรมใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษและความคงทนถาวร (Permanent Functional Textile) "

นายไชยยศ กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่การผลิตสิ่งทอที่มีความสวยงามและง่ายต่อการผลิต แต่ในปัจจุบันยังไม่พออุตสาหกรรมสิ่งทอเริ่มมุ่งเน้นไปยังสิ่งทอที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆเพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นและดีขึ้นในทุกๆวัน เทคโนโลยีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ และต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้าที่เป็นนาโนเทคโนโลยี ปัจจุบันก็ก้าวข้ามเข้าสู่นาโนซิงค์ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของเส้นใยคงทนยาวนาน แม้จะผ่านการซักหลายครั้ง

ทั้งนี้นาโนซิงค์ เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศแถบยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะถูกนำไปพัฒนาเป็นเสื้อผ้านักกีฬา จนประสบความสำเร็จและเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศเอเชียรวมถึงประเทศไทยมากขึ้น โดยบริษัทเริ่มผลิตแบบครบวงจรตั้งแต่วัตถุดิบ เส้นใย เส้นด้าย ไปจนเป็นผ้าสำเร็จรูป เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น ของใช้ในครัวเรือน ยานยนต์ กีฬา ของใช้ในโรงพยาบาล เป็นต้น

"ในปลายไตรมาส 1 จะเริ่มมีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกสู่ตลาดมากขึ้น เพื่อรองรับทั้งลูกค้ากลุ่มผู้ผลิตซึ่งมีอยู่ราว 200 รายแบ่งเป็นผู้ผลิตในประเทศ 100 ราย และต่างประเทศกว่า 100 ราย ขณะที่กลุ่มผู้ซื้อวัตถุดิบมีอยู่ราว 200-300 ราย ทั้งในและต่างประเทศ โดยลูกค้ารายใหญ่ได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย"

สินค้าหลายประเภทที่ผลิตโดยนาโนซิงค์ได้รับความนิยมอย่างสูง เช่นในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งด้วยเทคโนโลยีเดียวกัน แต่ราคาจำหน่ายกลับแตกต่างกันมาก โดยพบว่าราคาสินค้าของไทย เช่น ถุงเท้า ที่ใช้เทคโนโลยีนาโนซิงค์ของประเทศญี่ปุ่น จะมีราคาสูงกว่าที่ผลิตในประเทศไทย 1 - 2.5 เท่า ซึ่งขณะนี้มีแบรนด์ชั้นนำในประเทศญี่ปุ่นสนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการนำเส้นใยนาโนซิงค์ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในเครือมีรายได้ราว 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ในประเทศ 800 ล้านบาท และต่างประเทศ 200 ล้านบาท และในอีก 2 ปีข้างหน้าบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ในประเทศ 1,000 ล้านบาท และต่างประเทศ 500 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560