กางโรดแมปกรมท่าฯ ยกเครื่องสนามบินภูมิภาค รับดีมานด์ผู้โดยสารบินขยายตัว

14 ม.ค. 2560 | 08:00 น.
การขับเคลื่อนการบริหารจัดการสนามบินทั้ง 28 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมท่าอากาศยาน(ทย.) นับจากนี้จะมีทิศทางอย่างไร อ่านได้จากสัมภาษณ์นายดรุณ แสงฉายอธิบดีกรมท่าอากาศยาน

 กันงบ 750 ล. รับมือUSAP

ภารกิจเร่งด่วนของอธิบดีทย.คนใหม่ นอกจากต้องเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมสนามบินนครศรีธรรมราช จากปัญหาน้ำท่วมรันเวย์ อันเป็นผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยการพยายามลดปริมาณน้ำที่ท่วมขัง หลังการออกประกาศปิดการให้บริการของสนามบินไปตั้งแต่วันที่ 6 มกราคมแล้ว การจะกลับมาเปิดใช้สนามบินใหม่อีกครั้ง ก็ต้องมีการตรวจสอบระบบไฟฟ้า รวมถึงความแข็งแรงบนพื้นผิวของรันเวย์ ระบบเครื่องช่วยเดินอากาศทั้งหมด เพื่อความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้ผู้โดยสาร ก่อนจะประกาศเปิดให้บริการตามปกติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขและจะมีการของบกลางวงเงิน 400 ล้านบาทในการแก้ปัญหานํ้าท่วมในระยะยาว โดยจะมีการสร้างเขื่อนรอบสนามบิน

อีกเรื่อง คือ การรับมือโครงการตรวจสอบด้านการรักษาความปลอดภัยสากลโดยวิธีการเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง The Universal Security Audit Programme Continuous Monitoring Approach (USAP- CMA) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)ที่จะเข้ามาตรวจสอบการทำงานของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ในเดือนกรกฎาคมนี้ แต่ด้วยความที่โครงการนี้อาจต้องมีสนามบินถูกสุ่มตรวจระบบการรักษาความปลอดภัย

ทำให้ทย.ต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับการตรวจสอบที่จะเกิดขึ้น โดยทย.ได้รับราว 750 ล้านบาทในการแก้ไขข้อบกพร่อง ใน 3 สนามบินนานาชาติ คือ สนามบินกระบี่ สนามบินสุราษฎร์ธานี สนามบินอุดรธานี โดยหลักๆจะเป็นเรื่องของการจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์ การติดตั้งเครื่องซีซีทีวี และเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยในสนามบิน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้

 วางแผนรับผู้โดยสาร 30.1 ล.ปี68

ไม่เพียงแต่ภารกิจเร่งด่วนดังกล่าว อธิบดีทย.ยังอยู่ระหว่างการวางแผนขยายสนามบินของทย.ในหลายแห่ง ที่เจ้าตัวเปิดใจว่า วันนี้ในหลายสนามบินของทย.ไม่ได้มีปัญหาสนามบินร้างเหมือนในอดีต เพราะต้องยอมรับว่าจากการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำของไทย ทำให้มีการเปิดเที่ยวบินมายังสนามบินในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายสนามบินใน

ขณะนี้มีปัญหาศักยภาพในการรองรับ เพราะมีผู้ใช้บริการเกินศักยภาพของสนามบินไปแล้ว และนับวันจะยิ่งเติบโต เพราะไม่เพียงแต่การเปิดบินข้ามภาคของสายการบินของไทยเท่านั้น แต่ยังมีการบินเชื่อมจากภูมิภาคนี้ ที่เริ่มบินเข้ามายังสนามบินในภูมิภาคเหล่านี้มากขึ้น

ทั้งนี้จะเห็นว่าปัจจุบันมีสนามบิน 6 แห่งของทย.ที่มีผู้โดยสารใช้บริการตั้งแต่ 1,000,001 ล้านคนไปแล้ว คือ สนามบินกระบี่ มีผู้ใช้บริการสูงสุด 3.6 ล้านคน ตามมาด้วยสนามบินอุดรธานีสนามบินสุราษฏร์ธานี สนามบินอุบลราชธานี สนามบินขอนแก่น สนามบินนครศรีธรรมราชตามลำดับ

MP26-3226-A ดังนั้นเรา จึงต้องมองแผนลงทุนในระยะช่วงปี2561-2563 เพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสารในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือไปถึงปี 2568 โดยคาดว่าการเติบโตของผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินรวม 28 แห่ง จากในปี 2558 อยู่ที่ 15.4 ล้านคน เพิ่มมาเป็น 30.1 ล้านคน ซึ่งการลงทุนยกระดับสนามบินของ ทย.จะขอการสนับสนุนงบประมาณการลงทุนจากรัฐบาล เพราะสนามบินภูมิภาคเหล่านี้ถือเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การลงทุนรัฐบาลควรจะเป็นผู้ลงทุน ไม่ใช่เปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุน เพราะไม่เช่นนั้นผู้ใช้บริการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการสนามบินที่สูง ซึ่งแนวทางนี้ทางกระทรวงคมนาคมก็เห็นด้วย และเร่งให้เราจัดทำแผนลงทุนในช่วง 10 ปีนี้ เพื่อเสนอเข้าครม. แต่การดึงเอกชนเข้ามาควรเป็นในเรื่องของดึงเอกชนมาบริหารจัดการในรูปแบบ PPP ที่อาจนำร่องที่สนามบินกระบี่ เพื่อไม่ให้เกิดการเรียกเก็บค่าบริการที่สูงเกินไป

 ดันแผน10ปีลงทุน3.5 หมื่นล.

สำหรับแผนลงทุนในช่วง 5 ปีนี้ เพื่อเสนอไปยังกระทรวงคมนาคม เราจะขอสนับสนุนงบประมาณในช่วงปี 2561-2564 มูลค่าการลงทุนระยะแรกราว 2 หมื่นล้านบาท สำหรับการขยายศักยภาพของ 6 สนามบิน ที่ปัจจุบันสนามบินเหล่านี้มีผู้โดยสารใช้บริการเกินศักยภาพของสนามบินไปแล้ว ได้แก่ สนามบินกระบี่ สนามบินนครศรีธรรมราช สนามบินขอนแก่น สนามบินตรัง และสนามบินอุบลราชธานี

ยกตัวอย่าง สนามบินกระบี่ รองรับได้ 3 ล้านคน แต่ขณะนี้มีผู้โดยสารใช้บริการ 3.2 ล้านคนแล้ว ทย.จะขอรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณปี 2561-2563 วงเงิน 6,800 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 8 ล้านคนต่อปี สนามบินนครศรีธรรมราช ศักยภาพสนามบินรองรับอยู่ที่ 1 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 1.2 ล้านคน ทย.ขอตั้งงบประมาณปี 2561-2563 วงเงิน 5,200 ล้านบาท ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 2 ล้านคนในปี 2568 สนามบินขอนแก่น ศักยภาพรองรับได้ 1.1 ล้านคน ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการ 1.3 ล้านคน ทย.ขอตั้งงบประมาณปี2561-2562 วงเงิน 2,500 ล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารและอาคารจอดรถ ขยายการรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น2.4 ล้านคน

ส่วนสนามบินตรัง จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ขยายการรองรับเพิ่มเป็น 2 ล้านคน สนามบินสุราษฎร์ธานี มีแผนจะขยายอาคารเทียบเครื่องบินเพื่อรองรับการให้บริการสายการบินรวมเป็น 7 สายการบินในชั่วโมงคับคั่ง และสนามบินอุบลราชธานี มีแผนจะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อขยายการรองรับเพิ่มเป็น 2.8 ล้านคนในปี 2568

ส่วนใน 5 ปีถัดไปจะใช้งบอีก 1.23 หมื่นล้านบาท พัฒนาสนามบินสุราษฎร์ธานีสนามบินอุบลราชธานี สนามบินอุดรธานีสนามบินร้อยเอ็ด สนามบินลำปาง สนามบินสกลนคร สนามบินเลย สนามบินหัวหิน รวมการลงทุนในช่วง10 ปีราว 3.5หมื่นล้านบาท

 สนามบินใหม่เบตงเปิดปี63

อีกสิ่งของการใช้ประโยชน์สนามบินของทย. อธิบดีดรุณ ยังมองถึงการเปิดพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาดำเนินการด้านการบิน ที่ในขณะนี้ก็มีเอกชนบางรายเสนอตัวเข้ามา อาทิ การขอเช่าพื้นที่ 300 ไร่ เปิดให้บริการศูนย์ซ่อมที่สนามบินนครศรีธรรมราช ที่ก็ต้องหารือกันถึงความเป็นไปได้ การเปิดโรงเรียนการบิน เป็นต้น ส่วนสนามบินบางแห่งที่อาจจะไม่มีการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ อาทิ ตาก แต่ก็มีการใช้งานของเครื่องบินจากหน่วยงานต่างๆของรัฐอยู่ การบริหารจัดการสนามบินก็ยังคงต้องให้บริการอยู่

ขณะที่สนามบินใหม่ของทย.ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างมีเพียง 1 แห่ง คือสนามบินเบตง จ.ยะลา จะใช้งบประมาณปี2560-2562 ลงทุน 1,650 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี2563

“ไม่เพียงแต่การยกเครื่องสนามบินเท่านั้น ขณะเดียวกันผมยังวางเป้าหมายในการบริหารจัดการสนามบิน ผมจะเน้นใน 2 เรื่องหลัก คือ 1.ทุกสนามบินต้องมีความปลอดภัยและ2.ทุกสนามบินต้องทันสมัย และรองรับการเติบโตของผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสิ่งสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมาย คือ การต้องพัฒนาบุคลากรในองค์กรทั้ง 1,500 คน ให้เขาเหล่านี้เป็นมืออาชีพในการบริหารจัดการสนามบิน ที่ภายในปี 2561-2562 จะมีการจัดเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ ขึ้น เพื่อพัฒนาบุคคลากรให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO“ นายดรุณ ย้ำ ปิดท้ายการขับเคลื่อนองค์กรที่จะเกิดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560