อานิสงส์ตลาดบิ๊กไบค์รุ่ง ควิกเซอร์วิสแจ้งเกิด –ดีลเลอร์ขยายโชว์รูม

14 ม.ค. 2560 | 11:30 น.
การแข่งขันในตลาดรถจักรยานยนต์ยังคงความดุเดือด แม้จะมีการประเมินว่าตลาดมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อย เพราะสภาพเศรษฐกิจ – ราคาพืชผลทางการเกษตร รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนของผู้บริโภคอยู่ในอัตราที่สูง แต่เอาเข้าจริงตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2559 ตัวเลขการผลิต-การขาย กลับทำได้ดีกว่าที่คาด ขณะที่กลุ่มบิ๊กไบค์ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง ด้วยยอดขายเกิน 2 หมื่นคันต่อปี

การเติบโตของยอดขายในกลุ่มรถจักรยานยนต์ทั้งเครื่องยนต์ขนาดเล็กไปจนถึงกลุ่มบิ๊กไบค์ ทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องไม่ว่าจะเป็นชุดแต่ง ,อะไหล่,การบริการหลังการขาย ได้รับอานิสงส์ โดยจากการสำรวจพบว่ามูลค่าตลาดรวมธุรกิจซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ในปีที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวน 5.9 พันล้านบาท และคาดว่าในปี 2560 จะเติบโต 5%

จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการมีการเห็นโอกาสทางการตลาด และมีการเปิดควิกเซอร์วิส ภายใต้ชื่อ “ไบค์แมน” ซึ่งให้บริการดูแลและซ่อมบำรุงรถจักรยานยนต์ครบวงจรมาตรฐานเทียบเคียงศูนย์บริการของผู้แทนจำหน่าย แต่มีราคาที่ถูกกว่า

สำหรับรูปแบบการให้บริการของ “ไบค์แมน”จะครอบคลุมทั้งการตรวจเช็กสภาพ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เปลี่ยนและซ่อมบำรุงชิ้นส่วน การผ่าเครื่องระบบของจักรยานยนต์ทุกประเภทและทุกยี่ห้อ โดยมีสินค้าให้เลือกมากกว่า 16 แคติกอรี อาทิ ยางนอก ,ยางใน ,น้ำมันเครื่อง ,หลอดไฟ และมีแบรนด์รองรับตั้งแต่ระดับ บน ,กลาง และล่าง ซึ่งราคาที่ให้บริการจะถูกกว่าศูนย์บริการอย่างเป็นทางการเฉลี่ย 15 % และราคาสูงกว่าร้านซ่อมรถทั่วไป 10 %

“รูปแบบของไบค์แมน จะเหมือนกับควิกเซอร์วิสของรถยนต์ อาทิ บี-ควิก แต่เราจะมีจุดเด่นกว่าร้านซ่อมทั่วไปคือสปีดในการทำงานของช่างที่รวดเร็วกว่า มีช่างให้บริการมากกว่า 2 คน มีเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉลี่ยการทำงานที่ตั้งเป้าหมายไว้คือ 25 จ็อบต่อวัน ซึ่งปัจจุบันทำได้ 12 จ๊อบต่อวัน ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อจ๊อบอยู่ที่ 250 บาทต่อจ็อบ และเมื่อดูค่าเฉลี่ยการเมทาแนนซ์ต่อปีของลูกค้าจะอยู่ที่ 4,040 บาท ”

นายจีระพัฒน์ โสภาพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบค์แมน จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบัน “ไบค์แมน”มีสาขาที่เปิดให้บริการ 5 แห่งได้แก่ ลาดพร้าว-วังหิน ,ลาดปลาเค้า,หนองจอก,ร่มเกล้า,สายไหม และแผนงานในปีนี้จะเปิด 4 แห่ง อาทิ เทสโก้ อ่อนนุช 58 ,อมรเซ็นเตอร์ พหลโยธิน 58 และภายใน 3 - 5ปีคาดว่าจะมีจำนวนสาขา 20 แห่ง

“การลงทุนของแต่ละสาขาจะใช้เม็ดเงินประมาณ 1 ล้านบาท และเราจะโฟกัสในเขตกรุงเทพฯ ก่อน หลังจากนั้นเราจะขยายไปสู่การขายแฟรนไชส์ และขยายไปสู่การดูแลกลุ่มรถบิ๊กไบค์ ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มมีการสั่งยางรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์จากซัพพลายเออร์เข้ามาในสต๊อกแล้ว”

นายจีระพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตกว่า 60 % เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวนสาขาอีก 4 แห่ง ประกอบกับปีนี้มีการทำตลาดอย่างเข้มข้นมากขึ้น ทั้งในส่วนของการเพิ่มช่องทางการชำระเงิน จากเดิมที่รับเงินสด ในปีนี้ก็ได้เพิ่มทางเลือกกับบัตรเครดิต นอกจากนั้นแล้วจะมีการทำระบบสมาชิกหรือเมมเบอร์ ที่จะมอบสิทธิประโยชน์ ส่วนลดให้กับสมาชิก “รายได้ในปีที่ผ่านมา ทำได้ประมาณ 5 ล้านบาทแบ่งออกเป็นรายได้จากการจำหน่ายสินค้า 80% และรายได้จากการบริการ 20% และในปีนี้ก็คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 60% ส่วนแผนงานในอนาคตจะเริ่มเจาะลูกค้าฟลีต อาทิ กลุ่มประกันภัย โบรกเกอร์ ธุรกิจดีลิเวอรี เมสเซนเจอร์ วินมอเตอร์ไซค์ โดยจะติดต่อกับบริษัทฯแม่เพื่อดูแลลูกค้าฟลีตเหล่านี้”

นอกจากกลุ่มธุรกิจเกี่ยวเนื่องต่างๆจะเห็นโอกาสทางการตลาดแล้ว ในส่วนของกลุ่มผู้ผลิต - ผู้นำเข้า - ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการก็มีแผนงานรุกเต็มสูบเช่นเดียวกัน ล่าสุดค่ายไทรอัมพ์ เบอร์ 1 แบรนด์ยุโรปในตลาดบิ๊กไบค์ก็เพิ่งจะเปิดโชว์รูมและศูนย์บริการแห่งใหม่ ที่จังหวัดพิษณุโลก โดยลงทุนกว่า 40 ล้านบาท เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าภาคเหนือตอนล่าง ขณะที่ก่อนหน้านั้นไทรอัมพ์ก็ได้ลงทุนกว่า 25 ล้านบาท ผุดสาขาบางนา โดยคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ไทรอัมพ์จะมีจำนวนโชว์รูมและศูนย์บริการ 12 แห่ง

ด้านค่าย เวสปิอาริโอ ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของแบรนด์ เวสป้า และพิอาจิโอ ก็มีการเพิ่มอีก 2 แบรนด์ในการทำตลาดประเทศไทย ได้แก่ โมโต กุซซี่ และ เอพริลเลีย ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป ครั้งที่ 33 ที่ผ่านมา และมีการเปิดโชว์รูมแฟลกชิพที่เอ สแควร์ พระราม 4 ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน

ค่ายฮาร์เลย์- เดวิดสัน ก็ขยายแนวรบตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งการเปิดมหาวิทยาลัยฮาร์เลย์-เดวิดสัน เพื่อผลิตบุคลากรออกมารองรับกับการขยายตัวของฮาร์เลย์ในไทย ขณะเดียวกันก็เพิ่มจำนวนโชว์รูมอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เตรียมเปิดสาขาใหม่ล่าสุดในปลายเดือนมกราคมนี้ โดยมีการลงทุนมากกว่า 300 ล้านบาท บนถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นโชว์รูมแฟล็กชิพหรือต้นแบบที่มีความทันสมัยที่สุดในภูมิภาค

ส่วนสถานการณ์ของผู้นำเข้ารถจักรยานยนต์อิสระ “เรด บารอน บีเคเค ” (REB BARON BKK) ภายใต้บริษัท ออโต้ เซ็นเตอร์การประมูล จำกัด หลังจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการทำตลาดบิ๊กไบค์โดยผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการ ตลอดจนการเปิดข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งภายในปีนี้ภาษีนำเข้าจะเหลือ 0% ก็เตรียมการปรับตัวมาสักระยะแล้ว โดย “เรด บารอน บีเคเค” หันมาเน้นทำตลาดบิ๊กไบค์มือสองและมุ่งธุรกิจไปที่การบริการหลังการขายมากขึ้น พร้อมปรับปรุงศูนย์บริการ การบริหารจัดการอะไหล่ ระดมเครื่องมือทันสมัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า สำหรับ REB BARON BKK ประเทศไทย เป็นหนึ่งในสาขาของ RED BARON GROUP ประเทศญี่ปุ่น เปิดทำการมาตั้งแต่ปี 2538 ให้บริการในส่วนของการขายรถจักรยานยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นรถมือสองจากต่างประเทศ) ศูนย์บริการซ่อมบำรุงและอะไหล่นำเข้า ตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล 3

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560