ยิ่งลักษณ์‘หนี-เข้าคุก-รอด?’ ‘ตุลาคม’ตัดสินคดีจำนำข้าว

14 ม.ค. 2560 | 02:00 น.
เห็นตรงกันเป็นเอกฉันท์ว่า คดีรับจำนำข้าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คือปัจจัยหลักประการหนึ่ง ที่จะปลุกเร้าสถานการณ์การเมืองให้ร้อนแรงในรอบปี 2560 นี้ เมื่อชัดเจนแล้วว่า การพิจารณาคดีนี้ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง น่าจะเสร็จสิ้นภายในช่วงต้นของครึ่งปีหลัง ซึ่งองค์คณะตุลาการจะได้นัดวันเพื่ออ่านคำพิพากษาตัดสินคดีต่อไป

โดยที่คดีนี้เป็นการฟ้องทางอาญา ที่อัยการพิเศษเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นคดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 กล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 และปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามป.อาญา มาตรา 157 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวกว่า 5 แสนล้านบาท

นอกจากนี้แล้วเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 กระทรวงคลัง ได้มีคำสั่ง 1351/2559 ตามพ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แจ้งอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ เรียกสินไหมทดแทนความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดยให้ชดใช้เป็นเงิน 35,717 ล้านบาท ในทำนองเดียวกับที่มีคำสั่งให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ กับพวกรวม 6 ราย ที่เป็นจำเลยในคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ในกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการ ให้ชดใช้สินไหมทดแทน รวมเกือบ 2 หมื่นล้านบาทเช่นกัน ซึ่งท้ายที่สุดนายบุญทรงและพวกได้ใช้สิทธิทางศาล ยื่นฟ้องนายกฯ กับพวกต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้สั่งเพิกถอนคำสั่งนี้แล้ว ซึ่งต้องรอผลการตัดสินของศาลต่อไป โดยคู่ความมีโอกาสต่อสู้คดีทั้งในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุด

แต่ที่หวาดเสียวกว่า คือคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะเป็นคดีอาญามีโทษถึงจำคุก และตามไทม์ไลน์ของคดีเดินมาน่าจะสุดทาง ถึงขั้นมีคำพิพากษาตัดสินคดีได้ในภายในปี 2560 นี้แล้ว

 ศาลกำชับ 21ก.ค. ไกลสุดแล้ว

โดยที่คดีรับจำนำข้าวยิ่งลักษณ์นี้ อัยการสูงสุดนำสำนวนส่งฟ้องศาลฎีกาฯ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 องค์คณะตุลาการประทับรับฟ้องในอีกหนึ่งเดือนถัดมา ในการนัดพิจารณาคดีครั้งแรก อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์แถลงประกอบการฉายพาวเวอร์พอยต์ปฏิเสธทุกข้อหา และขอส่งคำแถลงเป็นรายลักษณ์อักษรในภายหลัง โดยทีมกฎหมายของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ใช้ทุกช่องทางตามกฎหมายเพื่อต่อสู้คดี

เริ่มตั้งแต่วันที่องค์คณะนัดคู่ความตรวจบัญชีพยาน อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ยื่นคำร้อง 2 ประเด็น คือ 1.ขอให้ศาลชะลอการพิจารณาคดี เนื่องจากจำเลยเห็นว่าคดีนี้เป็นอำนาจของศาลปกครอง และ 2.คัดค้านการเพิ่มพยานหลักฐานทั้งเอกสารและบุคคลของฝ่ายโจทก์ ซึ่งองค์คณะตุลาการได้รับคำร้องไปพิจารณา ก่อนจะมีคำสั่งยกคำร้องในเวลาต่อมา หรือการไปยื่นฟ้องอัยการสูงสุดต่อศาลอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ในการสั่งฟ้องคดีรับจำนำข้าวนี้ ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องเช่นกัน

กว่าการตรวจบัญชีพยานหลักฐานและพยานโจทก์-จำเลยจะแล้วเสร็จ โดยองค์คณะตุลาการพิจารณาแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2558 กำหนดให้โจทก์นำพยานเข้าไต่สวนได้ 14 ปาก จากเดิมที่ยื่นบัญชีพยาน 17 ปาก กำหนดไต่สวนพยานโจทก์ 5 นัด นัดแรกวันที่ 15 มกราคม 2559 และเสร็จสิ้นในวันที่ 23 มีนาคม 2559 ส่วนจำเลยศาลอนุญาตให้นำพยานเข้าไต่สวนได้ 42 ปาก จากที่ยื่นขอ 43 ปาก เริ่มไต่สวนพยานจำเลยนัดแรกวันที่ 1 เมษายน เสร็จสิ้นการไต่สวน 16 นัดในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559

นั่นคือ การต่อสู้ในเนื้อหาของคดีจริง ๆ มาเริ่มต้นเอาเมื่อต้นปี 2559 ในการนัดไต่สวนพยานโจทก์และจำเลยดังกล่าว ที่วงการการเมืองคาดหมายว่าคดีจะเสร็จสิ้นในปลายปี 2559 และน่าจะตัดสินชี้ชะตาได้ในต้นปี 2560 แต่ในการพิจารณาจริงปรากฏว่าการไต่สวนพยานทั้งโจทก์และจำเลย ต้องขยายวันนัดเพิ่มจากที่กำหนดเดิม

โดยการไต่สวนพยานโจทก์ 14 ปาก 5 นัด เดิมจะเสร็จสิ้นปลายเดือนมีนาคม แต่ไม่จบในกำหนด ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์นัดสุดท้ายได้จริงวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งต้องเลื่อนกำหนดนัดไต่สวนพยานจำเลย 42 ปาก จากเดิมจะเริ่มนัดแรกวันที่ 1 เมษายน ก็มานัดอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ขึ้นให้ปากคำในฐานะพยานจำเลยปากแรกได้เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม และนัดไต่สวนพยานจำเลยต่อเนื่องถึงปากที่ 13 ในการนัดเมื่อวันที่ 9 และ 15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นนัดสุดท้ายของปี 2559 โดยศาลนัดไต่สวนต่อวันที่ 17 มกราคม 2560 เป็นนัดที่ 10 และนัดแรกของปีใหม่

ทั้งนี้ ยังคงเหลือพยานจำเลยอีก 28 ปาก (นายอำพน กิตติอำพน ขอถอนตัวจากพยานจำเลย 1 คน) และก่อนสิ้นปี องค์คณะตุลาการได้แจ้งคู่ความเพิ่มวันนัดไต่สวนพยานที่คงเหลือ หรือบางรายที่ในวันนัดแจ้งขอเลื่อนไต่สวนเนื่องจากเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน โดยกำชับทนายจำเลย ให้บริหารจัดการพยานเพื่อให้มาเบิกความต่อศาลทันกำหนดภายใน 21 กรกฏาคม ซึ่งนัดไต่สวนพยานเป็นวันสุดท้าย “ซึ่งตามระบบราชการศาลไม่อาจเลื่อนให้ออกไปไกลกว่านี้ได้อีก”

การกำชับให้ทนายจำเลยบริหารเวลานำพยานจำเลยขึ้นไต่สวนภายในกำหนดดังกล่าว เป็นการส่งสัญญาณกรอบเวลาการพิจารณาคดีว่างวดเข้ามาตามลำดับ แต่ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับว่า เมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวนพยานชุดแรกรวม 56 คนแล้วนั้น ศาลจะปัดฝุ่นให้ไต่สวนพยานโจทก์-จำเลยอีก 4 คนที่ถูกตัดออกในรอบแรกเพิ่มเติมเข้ามาอีกหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลโดยตรง

อย่างไรก็ตาม จากที่ศาลกำหนดนัดไต่สวนพยานจำเลยคดีจำนำข้าว นัดสุดท้ายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ก็พอคาดคะเนได้ว่าศาลอาจนัดพิพากษาคดีนี้ ในเดือนกันยายน หรือตุลาคม

เพราะหากเทียบเคียงกับคดีที่ น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ถูกฟ้องกรณีอนุมัติแปลงสัญญาสัมปทานดาวเทียม จากการนัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย จนถึงวันที่ศาลนัดพิพากษา ทิ้งช่วงเวลาไว้ 70 วัน

 ลุ้นวันนัดอ่านคำพิพากษา

แต่ทั้งนี้จะมีช่องทางหรือขั้นตอนทางกฎหมายใดที่จะยืดคดีออกไปอีกหรือไม่นั้น น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ จังหวัดพิษณุโลก ผู้เกาะติดเปิดโปงโครงการรับจำนำข้าวยิ่งลักษณ์มาแต่ต้น กล่าวว่า เรื่องกระบวนการทางศาลเป็นดุลพินิจของศาล ไม่ขอออกความเห็นดีกว่า จะไปชี้นำศาล ไปแทรกแซงศาล ซึ่งทางศาลได้วางไทม์ไลน์ไว้ชัดเจน ว่าเมื่อไหร่ทำอะไร ถ้าจะเลื่อนหรืออะไรก็ให้จบภายในเดือนก.ค. และที่จำได้คือศาลท่านย้ำไว้แล้วเรื่องบริหารเวลา แสดงว่าศาลท่านก็มีเจตนา จากเดิมที่จะเสร็จก่อนหน้าแล้วแต่ก็เลื่อนให้ ได้อะลุ่มอะหล่วยมาเยอะแล้ว

ส่วนหลังจากไต่สวนพยานปากสุดท้ายเสร็จสิ้นแล้ว “เท่าที่ผมฟังนักกฎหมายพูด ไม่น่าเกินเดือนก็จะมีคำพิพากษา ไม่น่าจะเกินจากนั้น อันนี้คือที่ได้ยินมาจากผู้รู้ ผมไม่ใช่นักกฎหมาย ปกติหลังไต่สวนพยานสุดท้ายแล้วอีกไม่นานท่านก็จะอ่านเลย”

 คดีงวดเร้าการเมืองร้อน

จากปฏิทินคดีดังกล่าว วงการการเมืองจึงเฝ้าจับตาว่าคดีนี้จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเมืองขึ้นอย่างแน่นอน โดยน.พ.วรงค์ ก็มั่นใจว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองเกี่ยวกับคดีรับจำนำข้าวน่าจะร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงใกล้จะปิดคดี และใกล้จะมีคำพิพากษา ซึ่งจะร้อนแรงเข้มข้นขึ้นเป็นช่วง ๆ เช่นเดียวกับที่เคยเคลื่อนไหวจนสถานการณ์การเมืองร้อนแรงขึ้นช่วงก่อนคดีจะขึ้นสู่ศาล หรือในคดีเรียกค่าเสียหายตอนจะสรุปตัวเลข ก็โหมเคลื่อนไหวแรงขึ้น จนถึงระดับหนึ่งแล้วค่อยซาลงเมื่อคดีเคลื่อนไปถึงชั้นศาล ซึ่งทุกฝ่ายมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีได้เต็มที่ตามกระบวนการ และสุดท้ายก็ไปตัดสินกันในทางศาล

ที่ผ่านมานั้นอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ใช้การสร้างกระแสสังคมปลุกกระแสทางการเมืองมาเป็นข้อต่อสู้ในเรื่องคดีมากกว่า ไม่ว่าจะเรื่องการพยายามฟ้องสังคมว่า นายกฯใช้อำนาจ มาตรา 44 จากการรัฐประหารสั่งอายัดทรัพย์ชดใช้ความเสียหาย คดีอาญายังไต่สวนอยู่ในศาลฎีกาฯ ก็รีบเร่งรวบรัดเรียกชดใช้ความเสียหายรับจำนำข้าวก่อนแล้ว และความเสียหายหากจะเรียกชดใช้ต้องฟ้องทางแพ่งเท่านั้นจึงจะเป็นธรรม หรือกระทั่งการขายข้าวถุงให้ชาวนา เพื่อหวังดิสเครดิตรัฐบาลว่าปล่อยให้ข้าวราคาตกต่ำจนชาวนาเดือดร้อน

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ น.พ.วรงค์ ย้ำว่าหวังผลการเมือง “ของพวกนี้นักการเมืองเราแค่อ้าปากก็มองออกแล้ว เราต้องตามให้ทันทางการเมืองเหมือนกัน” และเป็นเหตุให้ต้องออกมาชี้แจงตอบโต้ทุกเม็ดเช่นกัน “คือถ้าเขาไม่พูดอะไรเราก็อยู่เฉย ๆ ไม่ไปตอบโต้อะไร แต่ถ้าพูดออกมาแล้วไม่ถูกต้องเราต้องเอาข้อเท็จจริงมาชี้แจง ซึ่งก็มีเอกสารหลักฐานและเหตุผลประกอบทั้งหมด หากปล่อยให้อีกฝ่ายพูดไปเรื่อย จะสร้างความไขว้เขวให้สังคมจนคนเข้าใจผิดไปทั้งประเทศ และสร้างความเสียหายเหมือนที่ผ่านมา เพราะคนเรายังไม่ค่อยคิดวิเคราะห์เชิงเหตุผล”

ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะอธิบายหรือแก้ปัญหาอยู่บ้าง แต่ยังน้อยไปทำไม่พอ เช่น เรื่องการจ่ายค่าเสียหายมีกฎหมายหลายฉบับ เช่น จะฟ้องทางแพ่ง ใช้กฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ หรือแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับอาญา รัฐมีหน้าที่เลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละกรณี ซึ่งรัฐเลือกแล้ว ที่คุณยิ่งลักษณ์ไปเรียกร้องให้ใช้กฎหมายอีกอย่าง กลับจะกลายเป็นอภิสิทธิ์ของจำเลย ต่อไปมีคดีจำเลยก็สามารถร้องให้ใช้กฎหมายฉบับนั้นฉบับนี้กับตนได้อย่างนั้นหรือ ถ้ารัฐใช้กฎหมายผิดกลับเป็นผลดีกับจำเลยที่จะยกมาต่อสู้ในศาลปกครองเพื่อให้ตัดสินเพิกถอนในท้ายสุด และเรื่องนี้รัฐต้องทำคู่กันไปเพราะมีอายุความ และทางคดีเดินคนละช่องไม่เกี่ยวกัน เดินคู่กันไปได้

แต่ก็มีความพยายามสร้างกระแส โดยวิ่งไปร้องตรงโน้นตรงนี้ ไปยื่นเรื่องร้องเรียนนายกฯ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วมาตอกย้ำว่า เห็นไหมถูกกลั่นแกล้ง ไปร้องไม่รู้กี่ครั้งไม่เคยพิจารณา ไม่ได้รับความเป็นธรรม เร่งรีบรวบรัด แต่ในความเป็นจริงกฎหมายไม่ได้ให้ไปร้องคนเหล่านั้น ต้องไปฟ้องศาลปกครองเพื่อให้ศาลตัดสิน ซึ่งในท้ายที่สุดคดีคุณบุญทรง ก็ไปที่ศาลปกครอง และจะตามไปด้วยคดีคุณยิ่งลักษณ์ ซึ่งเรื่องก็จบ ศาลก็รับ แล้วไปรอผลคำตัดสินกัน

เป็นความพยายามเคลื่อนไหวเพื่อให้คนเข้าใจผิด ให้คนสงสารเห็นใจ ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ว่าถูกกลั่นแกล้ง เป็นการเอาทั้งข้อเท็จจริงและไม่ใช่ข้อเท็จจริงมาเคลื่อนไหว เราไม่อยากได้ยินแต่ก็กังวลว่าจะเกิดขึ้นอีก ที่ไปต่อว่าศาลว่าไม่เป็นธรรม 2 มาตรฐาน เหมือนตอนมีคำพิพากษาคดีคุณทักษิณ

การเอาข้อเท็จจริงมาตีแผ่ ประชาชนจะได้รับข้อมูลสองฝ่าย แล้วไปคิดวิเคราะห์ว่าข้อมูลฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด จะเป็นผลดีหลังจากมีคำพิพากษาออกมาแล้ว ทุกคนจะมีฐานข้อมูลในมือไว้ประกอบการพิจารณา

 “สามารถ”โต้เรื่องคดีอยู่ในศาล

คดีรับจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ที่ถูกจับตาจากทุกฝ่ายว่าจะเป็นชนวนร้อนทางการเมืองนั้น นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เพื่อไทย จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ไม่จริง เรื่องนี้ไม่มีอะไรที่จะทำให้การเมืองร้อนแรง เนื่องจากคดีเข้าสู่การไต่สวนของศาล ซึ่งทั้งท่านยิ่งลักษณ์และท่านบุญทรงก็เข้าสู่กระบวนการ ได้ใช้สิทธิต่อสู้คดีในทางศาลตามกระบวนการอยู่แล้ว ก็ใช้สิทธิของท่านไป เป็นเรื่องคิดมากกันไปเอง

ศาลก็ได้นัดไต่สวนพยานไว้ตามลำดับ เห็นว่านัดสุดท้ายเดือนกรกฎาคม ถ้าเป็นไปตามศาลนัด หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม-กันยายน ก็น่าจะมีคำตัดสินในคดีนี้ออกมา เป็นเรื่องที่เป็นไปตามกระบวนการ จากเรื่องที่ยืดเยื้อมานานก็จะได้มีความชัดเจน ส่วนเรื่องการจะยึดทรัพย อายัดทรัพย์ หรือให้ใช้หนี้ความเสียหายอะไรนั้น ท่านยิ่งลักษณ์หรือท่านบุญทรง ก็ได้ใช้สิทธิตามกฎหมาย ยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครอง คดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกเช่นกัน จึงไม่มีเหตุอะไรที่จะทำให้การเมืองร้อนแรง ก็ต่อสู้คดีกันไปตามกระบวนการทางศาล และให้ศาลตัดสินต่อไป

ส่วนกิจกรรมการลงพื้นที่ต่าง ๆ ของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ถูกตีความว่าเป็นการเคลื่อนไหวปลุกกระแสทางการเมืองก็เช่นกัน นายสามารถย้ำว่า เป็นกิจวัตรประจำของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ไปพบชาวบ้านไปไหว้พระทำบุญให้สบายใจเท่านั้น ไม่ได้จะไปปลุกกระแสการเมืองอะไรอย่างที่เป็นห่วงกัน เพราะเรื่องเข้ากระบวนการทางศาลแล้ว ก็ต่อสู้คดีและรอคำตัดสินของศาล

“การเมืองที่จะร้อนแรงเป็นเรื่องอื่นมากกว่า อย่างกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติผ่าน 3 วาระรวด ร่างพ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับใหม่ เป็นเรื่องที่กระทบความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ ซึ่งก็ไม่ทราบว่ามีเหตุผลอะไรถึงต้องพิจารณาเร่งด่วนขนาดนั้น ฝ่ายที่เห็นว่าไม่น่าจะชอบก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์หรือเคลื่อนไหว หรือกรณีเรื่องธรรมกายที่กำลังดำเนินการกันอยู่ เรื่องพวกนี้ต่างหากที่จะทำให้การเมืองร้อนแรง”

ปลุกม็อบขึ้นหรือไม่อยู่ที่ผลงานรัฐ

ส่วนการปลุกกระแสมวลชนเพื่อหวังผลต่อคดีจำนำข้าว จะได้ผลแค่ไหนนั้น นายตระกูล มีชัย อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า อยู่ที่รัฐบาลว่าทำงานได้ดีมากน้อยแค่ไหน ถ้าทำดีมีผลงานประชาชนพอใจ มวลชนก็ปลุกไม่ขึ้น แต่ถ้าทำไปแล้วไม่ดีขึ้น มวลชนลุกขึ้นแน่นอน วัดกันที่ผลงานรัฐบาลเท่านั้น ว่าทำงานดีและเข้าตาประชาชนมากน้อยแค่ไหน

แต่ว่าถึงที่สุดแล้ว อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์จะขึ้นศาลฟังคำตัดสินคดีนี้หรือไม่ น.พ.วรงค์ กล่าวว่า “ก็เดายากอยู่นะว่าเขาจะคิดอย่างไร แต่เห็นนักการเมืองหนีก็เยอะ เราคงไม่ไปคาดเดาอะไรให้เขาตัดสินใจเอง หลักของผมคือเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพคำตัดสินของศาล ถ้าศาลตัดสินออกมาว่าไม่ผิดผมก็ยอมรับ จบ แต่วันนี้เขาสู้คดีเต็มที่อยู่แล้ว เหมือนนักมวยชกกัน 10 ยก ตอนนี้ผ่านยก 6 ยก 7 แล้ว เห็นอาการแล้ว ผมตามอ่านคำให้การพยานทุกนัด ดูว่าตรงไหนเชื่อได้ เชื่อไม่ได้ เพราะเราไม่มีสิทธิไปโต้แล้ว อยู่ที่ดุลยพินิจของศาลท่าน”

ขณะที่นายตระกูล ฟันธงโครม เชื่อว่าคงหนีไปต่างประเทศ เขาหนีได้อยู่แล้ว แต่ที่ไม่ไปช่วงนี้เพื่อรักษาฐานมวลชน เนื่องจากคดียังไม่จบตอนนี้ ไม่ต้องห่วงหรอก นักการเมืองหลายคนก็ยังหนีได้ ผมคิดว่าถ้าหนีไปต่างประเทศกลับจะเป็นผลดีกับผู้ครองอำนาจรัฐ เพราะถ้าอยู่ก็จะสร้างความหนักใจ อาจสร้างดรามา สร้างเรตติ้ง “เธอคงไม่อยู่ให้ถูกจับ เพราะบอบบางมากและไม่ใช่ตัวเอกในการขับเคลื่อนทางการเมือง”

ทั้งยังวิเคราะห์เส้นพรรคเพื่อไทยด้วยว่า ถ้าต้องการพลิกฟื้นทางการเมือง มีเวลาที่ต้องรอไปอีก 4 ปี ในการบริหารประเทศภายใต้เงื่อนไขกติกาของรัฐธรรมนูญใหม่ ของบทเฉพาะกาลในการเลือกนายกฯ ต้องเฝ้ารอผลการบริหารของรัฐบาล ว่าจะเข้มแข็งเด็ดขาดและแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จหรือไม่ ถ้าไม่ก็เป็นโอกาสในการฟื้นของเพื่อไทย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560