ผ่านเเล้ว! สนช.เห็นชอบ 3 วาระรวด แก้ไข “รธน.ฉบับชั่วคราว ปี 2557”

13 ม.ค. 2560 | 08:37 น.
วันที่ 13 ม.ค. 60 — ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า เมื่อเวลา 10.10 น. มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…..  ตามที่ ครม. และ คสช. เป็นผู้เสนอมา โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมว.ยุติธรรม เป็นตัวแทน ครม. และ คสช. โดยเป็นการพิจารณา 3 วาระรวด

18 นายวิษณุ กล่าวต่อที่ประชุม สนช. ว่า เหตุผลการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 นั้น มีหลักการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 คือ 1.การเพิ่มข้อความใหม่ในมาตรา 2 วรรคสาม เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในบางกรณี 2.การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 39/1 วรรคสิบเอ็ด เกี่ยวกับการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขอพระราชทานนำร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯ กลับมาปรับปรุงแก้ไขในบางประเด็นอีกครั้งหนึ่ง และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายใหม่ภายในเวลาที่กำหนด

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ขึ้นทูลเกล้าฯ วันที่ 8 พ.ย. 2559 โดยอยู่ระหว่างในพระราชอำนาจที่ทรงพิจารณาภายใน 90 วัน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว สำนักราชเลขาธิการแจ้งมายังรัฐบาลว่า มีข้อสังเกตบางประการ สมควรที่รัฐบาลจะรับไปดำเนินการ เมื่อรัฐบาลพิจารณาข้อสังเกตร่วมกับ คสช. แล้ว เห็นเป็นข้อสังเกตที่สมควรจะดำเนินการในขณะนี้ หากผัดผ่อนรอดำเนินการให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วค่อยแก้ไข แม้กลไกทางกฎหมายจะทำได้ แต่จะเกิดปัญหายุ่งยาก เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นกฎหมายแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมบางข้อความ บางมาตรา หรือบางหมวด จะต้องนำไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติจะเป็นภาระผูกพันต่อไปอีกยืดยาวและกระทบต่อเรื่องอื่น ๆ ตามมาหลายเรื่อง

"หากสามารถปรับปรุงแก้ไขให้เสร็จสิ้นขณะนี้ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงพิจารณาใหม่ น่าจะเป็นการชอบด้วยวิธีปฏิบัติทั้งปวงจะเป็นการเหมาะสม ไม่เกิดความยุ่งยากขึ้น"

นายวิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนที่จะมีผู้มองเเละนึกว่า ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว การจะขอรับพระราชทานกลับมาแก้ไขจะชอบด้วยเหตุผลประการใด ขอเรียนว่า เมื่อรัฐบาลนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว จะอยู่ในพระราชอำนาจ ในฐานะองค์พระประมุขที่จะทรงลงพระปรมาภิไธยรัฐธรรมนูญและเป็นที่ทราบทั่วไปว่า ร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใด ที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่ทรงพิจารณา หากไม่ทรงเห็นชอบด้วย ก็พระราชทานกลับคืนทั้งฉบับดังที่เกิดมาแล้วในอดีต เช่น สมัยรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 โดยไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐสภาจะดำเนินการต่อไปอย่างไร   ดังนั้น รัฐบาล และ คสช. จึงเห็นควรทำในบัดนี้ให้ถูกต้องและถูกกฎหมาย โดยถือว่า ทั้งหมดอยู่ในชั้นการใช้พระราชอำนาจ

"คือ การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ให้นายกฯ ขอพระราชทานนำกลับคืนมาแก้ไขเพื่อให้เกิดความชอบธรรมที่จะขอกลับมาปรับปรุงแก้ไข ที่จะต้องมีขั้นตอนรอบคอบรัดกุม"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากนั้นสมาชิก สนช. ได้อภิปรายสนับสนุนหลักการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และลงมติรับหลักการวาระแรก โดยการขานชื่อเป็นรายบุคคลด้วยคะแนน 229 งดออกเสียง 3 เสียง ต่อมาที่ประชุมตั้งกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณาเรียงตามมาตรา ในวาระ 2 ซึ่งมี 4 มาตราตามร่างฉบับที่ ครม. และ คสช. เสนอมา โดยนายวิษณุชี้แจงว่า ครม. และ คสช. ขอปรับปรุงถ้อยคำในมาตรา 3 ให้เกิดความชัดเจนขึ้นจากเดิม ระบุว่า “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง”

เป็น “ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นำความในมาตรา 18 มาตรา 19 และมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 มาใช้บังคับ”

สาระสำคัญในมาตรา 18, 19 และ 20 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 คือ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ และในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน

นายวิษณุยังแจ้งต่อที่ประชุมว่า  ครม. และ คสช. ขอปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในมาตรา 4 เพื่อให้เกิดความชัดเจนและปฏิบัติได้จริง โดยเพิ่มถ้อยคำจากเดิมที่ระบุว่า “ให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการออกเสียงทำประชามติตามข้อสังเกตที่พระมหากษัตริย์พระราชทาน” เป็น “ให้สามารถแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านการออกเสียงทำประชามติตามข้อสังเกตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานและประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกันได้”

จากนั้นที่ประชุม สนช. ลงมติในวาระ 3 ด้วยการขานชื่อรายบุคคล เห็นชอบคะแนน 228 เสียง งดออกเสียง 3 ซึ่งมติให้ความเห็นชอบมีคะแนนเสียงไม่น้อยว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงถือว่าที่ประชุมเห็นชอบด้วยให้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป เพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ต่อมาประธานที่ประชุมสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.50 น.  โดยใช้เวลา 2.40 ชั่วโมง พิจารณาเรื่องนี้