นักเศรษฐศาตร์โนเบลชี้ช่อง ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

13 ม.ค. 2560 | 13:00 น.
นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2550 แนะช่องทางบริหารเศรษฐกิจโลก แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในยุคโลกาภิวัฒน์ ว่าจะต้องเสริมเขี้ยวเล็บทางความรู้ การศึกษา และพัฒนาศักยภาพแรงงาน ให้กับประชากรในสาขาอาชีพต่างๆ อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือองค์กรเอกชน เนื่องจากการพัฒนาดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองตามกลไกตลาด

นายอีริค มาสกิน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ประจำปี 2550 กล่าวในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ทำไมโลกาภิวัตน์จึงล้มเหลวในการลดความเหลื่อมล้ำ” จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ว่าการเชื่อมโยงระหว่างยุคโลกาภิวัฒน์กับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นปัญหาระดับโลก ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะในประเทศไทย โดยเมื่อประมาณ 20 – 30 ปีที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องโลกาภิวัฒน์และการค้าระหว่างประเทศขยายตัวขึ้น ทำให้สินค้าและการบริการกระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก สร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนา แต่ในทางกลับกันก็ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศเหล่านั้นมากขึ้น เนื่องจากแรงงานที่มีทักษะฝีมือมักมีได้รายได้จากบริษัทต่างชาติ

ระบบการค้าโลกจะเผชิญแรงกดดันจากการกีดกันทางการค้ามากขึ้น การเปิดเสรีจะหันมาให้น้ำหนักกับการทำข้อตกลงทางการค้า ซึ่งหากมองไปยังประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่น จีนและอินเดีย ที่มีการเรียนรู้กระแสโลกาภิวัฒน์มากว่า 20 ปี มีการพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วโดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออก ประกอบกับปัจจัยอื่นๆที่ช่วยเกื้อหนุนการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นกระแสโลกาภิวัฒน์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการปฏิรูปตลาด แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวก็ไม่ได้ให้ประโยชน์ทั่วถึงกับทุกภาคส่วนของสังคม ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลง ศาสตราจารย์มาสกินจึงเสนอแนะแนวทางการแก้ไขดังกล่าวสำหรับประเทศกำลังพัฒนาว่า รัฐบาลหรือหน่วยงานต่างๆ จำเป็นจะต้องลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะอาชีพ รวมทั้งให้การศึกษาแก่แรงงานไร้ฝีมือ เพื่อให้มีโอกาสสร้างรายได้จากการค้าเสรีมากขึ้น

“เหตุผลที่โลกาภิวัตน์ไม่สามารถลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำได้ เป็นเพราะโลกาภิวัฒน์เหมือนระบบการผลิตแบบระหว่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับแรงงานฝีมือ บางประเทศรับหน้าที่ในการผลิตขั้นสูง บางประเทศที่ยากจนก็ผลิตสินค้าระดับล่าง ใช้แรงงานไร้ฝีมือ และไม่ได้มีความพยายามในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีทักษะทัดเทียมเท่ากับประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว”

ทั้งนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วมีกลุ่มแรงงานที่มีทักษะฝีมือทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากการผลิตสินค้ามูลค่าสูงอย่างคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ ที่ต้องใช้แรงงานฝีมือในการผลิต ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเน้นผลิตสินค้าทางการเกษตร เช่น ข้าว ฯลฯ

“บริษัทในประเทศที่พัฒนาแล้วต้องผลิตทั้งคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์และข้าว เพราะเป็นความต้องการของผู้บริโภคเช่นเดียวกับประเทศที่กำลังพัฒนา แต่การผลิตซอฟต์แวร์ในประเทศกำลังพัฒนาไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากผลิตข้าวได้ดีกว่าและซอฟ์ตแวร์ไม่มีความจำเป็นมากนัก” แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการพัฒนาสามารถทำควบคู่กันไป ศาสตราจารย์มาสกินระบุว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ คือการช่วยพัฒนาศักยภาพของแรงงานคน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือองค์กรเอกชน เนื่องจากการพัฒนาดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เองตามกลไกตลาด

ในการเดินหน้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ประเทศหนึ่งๆไม่จำเป็นต้องผลิตเฉพาะวิศวกรซอฟแวร์ และในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนั้น แม้บางประเทศจะมีประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรก็ยังสามารถนำเทคโนโลยีและความรู้มาช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจได้ ยกตัวอย่างเช่นด้วยการทำให้เกษตรกรมีความรู้ มีทักษะเพิ่มขึ้น และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิตข้าว ก็จะสามารถลดความยากจนและขจัดความเหลื่อมล้ำได้เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560