ผู้ค้าพร้อมรับภาษีใหม่ ดีเดย์กลางปีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่าเทียมนำเข้า

13 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
สรรพสามิตเตรียมประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีใหม่กลางปี เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ เข้าข่ายจัดระเบียบใช้ฐานการจัดเก็บภาษีแบบใหม่ ส.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยฯ ชี้โครงสร้างใหม่ส่งผลดีต่อการแข่งขันที่เป็นธรรมและเท่าเทียมนำเข้าและในประเทศ ฟากผู้ประกอบการเบียร์ พร้อมปรับแผนเตรียมรับมือ

นายธนากรคุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าภายหลังจากร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตใหม่ ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ไปเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมานั้น และคาดว่าจะลงราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2560 และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน เพื่อออกกฎหมายลูก และกฎระเบียบต่างๆ ในการเก็บภาษีตามกฎหมายหรือในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมนี้ โดยมีการเปลี่ยนฐานการเก็บภาษี จากราคาหน้าโรงงานหรือสำแดงนำเข้า มาเป็น ราคาขายปลีกหรือราคาแนะนำสุดท้าย ซึ่งแนวทางจัดเก็บทางกรมสรรพสามิตจะพิจารณาปรับลดอัตราภาษี ในแต่ละสินค้าลงเพื่อให้มีภาระภาษีใกล้เคียงกับของเดิม

สำหรับการจัดเก็บภาษีแบบใหม่จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในแง่ของโครงสร้างราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น กล่าวคือจะมีความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งนี้หากมองผลดีผลผลเสียของการจัดเก็บโครงสร้างภาษีใหม่นอกจากจะเป็นการช่วยในเรื่องโครงสร้างภาษีราคาที่เหลื่อมล้ำแล้ว ยังเป็นการป้องกันปัญหาสุราเถื่อน การลักลอบนำเข้าสุราจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกว่าแล้ว ในส่วนของใบอนุญาตประกอบการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็จะมีความเป็นธรรมมากขึ้น จากเดิมที่เป็นรูปแบบของใบอนุญาตประกอบการจำหน่ายสุราในประเทศ และต่างประเทศมาเป็นใบอนุญาตขายปลีกและส่งแทน ซึ่งมองว่ามีความเท่าเทียมกันในการแข่งขัน

ขณะที่แนวโน้มการแข่งขันในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปีนี้ประเมินว่าน่าจะมีอัตราการเติบโตที่ดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากโครงการต่างๆของภาครัฐที่ให้ความสำคัญในการผลักดันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีการเติบโต ซึ่งจะส่งผลดีไปยังภาพรวมธุรกิจต่างๆ ภาคการท่องเที่ยว ที่จะมีเม็ดเงินเข้าไปกระตุ้นการจับจ่าย และอานิสงส์ดังกล่าวจะส่งผลมายังกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ประชาชนมีอารมณ์ในการจับจ่ายออกมาพบปะสังสรรค์มากยิ่งขึ้น หลังจากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมาภาพรวมตลาดชะลอตัวลดลงเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชน

"แม้ตอนนี้ภาคใต้ของไทยจะประสบกับภัยน้ำท่วม และทว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและโดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาใช้บริการเพียงช่วง 3-4 เดือนสั้นๆเท่านั้น แต่หลังจากนั้นเชื่อว่าตลาดจะฟื้นคืนมาในที่สุด"

อย่างไรก็ตาม สำหรับสิ่งที่ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในกลุ่มสุรานำเข้าควรทำหลังจากนี้คือการปรับตัวเพื่อรองรับกับฐานการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการสร้างจิตสำนึกดื่มอย่างมีความรับผิดชอบคืนสู่สังคม ขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเมินว่า กลุ่มเครื่องดื่มประเภทสุราจะปรับตัว เพื่อเรียกกลุ่มนักดื่มที่เคยหันไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่นให้กลับมาดื่มสุรา จากเดิมที่นักดื่มหันไปดื่มเบียร์มากขึ้นในปีที่ผ่านมา เนื่องพฤติกรรมผู้ที่ดื่มสุราส่วนใหญ่นิยมสังสรรค์ พบปะ แต่จากช่วงที่ผ่านมาบรรยากาศไม่อยู่ในอารมณ์พบปะสังสรรค์มากนัก จึงหันมาดื่มเบียร์แทนเนื่องจากสามารถดื่มได้ง่ายกว่าและไม่ต้องมีส่วนผสม ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมาตลาดเบียร์มีการเติบโตอย่างทรงตัว แม้จะมีปัจจัยลบเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะที่กลุ่มสุราตกลงมากว่า 60%โดยเฉพาะสุรานำเข้าที่ภาพรวมตลาดได้รับผลกระทบมากที่สุด

แหล่งข่าวผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทเบียร์รายหนึ่ง กล่าวว่า ในส่วนของฐานการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยปีนี้น่ามีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาครัฐจะประกาศใช้พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิตใหม่ในช่วงกลางปีนี้ ที่จะส่งผลดีในเรื่องของราคาการจัดเก็บภาษีที่บาลานซ์กันมากขึ้น ระหว่างกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศ นอกจากนี้ปัจจัยหลักที่ผลักดันการเติบโตในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หากจะให้วิเคราะห์กันตามความเป็นจริงประกอบไปด้วยหลายปัจจัยลบที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยลบจากเรื่องของเศรษฐกิจและการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตในทุกอุตสาหกรรมให้ลดลง ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโต คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากแคติกอรีไปยังอีกแคติกอรี โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะมีการปรับโครงสร้างการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่

ขณะเดียวกันมองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในเรื่องของการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่คือ การที่ภาครัฐมองว่าสินค้าประเภทแอลกอฮอล์ควรมีการเก็บภาษีเท่ากันหรือไม่ หรือจะมีการจัดเก็บแต่ละประเภทในแต่ละอัตราภาษีจะต้องมีการแบ่งแยกอย่างไร รวมถึงการอ้างอิงจากการแสดงราคาสินค้าที่ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการนำเข้ามาแสดงราคาเองก่อนจะมีการบวกภาษีเข้าไป ต่างจากการจัดเก็บรูปแบบเก่าที่ภาครัฐบาลเป็นผู้กำหนดราคาเอง ซึ่งในส่วนของบริษัทเองได้มีการกำหนดแผนธุรกิจล่วงหน้าเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีรูปแบบ ซึ่งคงต้องมาดูว่าอัตราการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่จะอยู่ที่กี่เปอร์เซ็นต์ จากปัจจุบันที่อัตราการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทเบียร์อยู่ที่ 48% กลุ่มสุรา 25% สุราขาว 4% และไวน์คูลเลอร์ 5% ขณะที่เพดานการจัดเก็บภาษีแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่ใช้ในการผลิตเบียร์อยู่ที่ 3,000 บาทต่อลิตร และแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่ใช้ในการผลิตเหล้าอยู่ที่ 1,000 บาทต่อลิตร แม้จะเป็นแอลกอฮอล์ประเภทเดียวกันซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นช่องว่างและข้อได้เปรียบเสียเปรียบของการแข่งขัน

"ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสินค้าแอลกอฮอล์ในกลุ่มสุราขาว และไวน์คูลเลอร์ มีอัตราการเติบโตที่สูงสุดแต่เบื้องต้นยังไม่สามารถประเป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ เนื่องจากในอุตสาหกรรมสุราขาวนั้นมีการกักตุนสินค้าเพื่อไปวาวงจำหน่าย ขณะที่ในกลุ่มไวน์คูลเลอร์นั้นมีผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่ผูกขาดเพียงรายเดียว จึงเป็นลักษณะของการซุ่มเงียบทำตลาดมากกว่า"
ด้านแหลงข่าวจากกรมสรรพสามิตกล่าวว่า การปรับเปลี่ยนฐานการเก็บภาษีจากราคาหน้าโรงงานหรือสำแดงนำเข้ามาเป็น ราคาขายปลีกหรือราคาแนะนำสุดท้ายนั้น มองว่าจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในการจัดเก็บภาษี เนื่องจากมีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น ซึ่งภาพการจัดเก็บภาษียังเท่าเดิมไม่ได้เป็นการปรับฐานการจัดเก็บภาษีเพื่อเพิ่มการจัดเก็บเม็ดเงินแต่อย่างใดแต่ โดยปัจจุบันมูลค่ารวมการจัดเก็บภาษีของกลุ่มสรรพสามิตจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มาจากกลุ่มธุรกิจเบียร์อยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านบาท, กลุ่มสุรากลั่น และไวน์ 6.5 หมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560