ธุรกิจอาหารแรงข้ามปี ไทย-เทศชิงเค้ก4แสนล้าน ‘เทรนด์ญี่ปุ่น’โตต่อเนื่อง

13 ม.ค. 2560 | 11:00 น.
จากตัวเลขของบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ออกมาประเมินภาพรวมธุรกิจอาหารในไทยปีนี้ว่าจะมีมูลค่าทะยานสู่ตัวเลข 3.9 แสนล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 2-4% แบ่งเป็นร้านอาหารทั่วไป 70% หรือประมาณ 2.73 แสนล้านบาท และอีก 30% หรือ 1.17 แสนล้านบาท เป็นเชนร้านอาหาร แสดงให้เห็นว่าแม้กำลังซื้อยังชะลอตัวแต่ธุรกิจอาหารยังฝ่าฟันมาได้ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่ยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และปี 2559 ยังสามารถเติบโตกว่า 10 % จากมูลค่าตลาดรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท (ตัวเลขสิ้นปี 2559) และแนวโน้มในปีนี้ธุรกิจอาหารญี่ปุ่นยังถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง และแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นยังเริ่มโหมโรงขยับขยายการลงทุนตั้งแต่ต้นปีเพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์

  "คัทซึยะ"ทุ่ม 60 ล.รุกตลาดต่อเนื่อง

หนึ่งในนั้น นางสิริพร ธานินทร์ธราธาร ผู้อำนวยการ ฝ่ายปฏิบัติการ ร้านอาหารญี่ปุ่น คัตสึยะ บริษัท เซ็นทรัลเรสเตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) เผยว่า การแข่งขันตลาดร้านอาหารหลังจากนี้ เชื่อว่าจะเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น โดยแบรนด์ใหม่จากต่างประเทศจะทยอยเข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และแต่ละแบรนด์จะแข่งขันโดยนำจุดเด่นที่มีมาใช้กันอย่างเต็มที่ ส่วนแบรนด์ที่มีสินค้าใกล้เคียงกันหรือเหมือนกันอาจต้องงัดกลยุทธ์ด้านราคาในการแข่งขันเพื่อกระตุ้นยอดขาย

สำหรับบริษัทมีแผนใช้งบประมาณลงทุนปีนี้ 60 ล้านบาท ในการขยายสาขาเพิ่มขึ้น 8-10 สาขา ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จากปัจจุบันมี 12 สาขา และภายใน 3-5 ปี จะขยายเพิ่มเป็น 40 สาขา ทั้งนี้เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ยังชื่นชอบการรับประทานอาหารญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ส่วนแผนการตลาด นับจากนี้จะวางงบประมาณการโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายมากกว่า 40% โดยมุ่งเน้นเรื่องโซเชียลมีเดียมาร์เก็ตติ้งสูงถึง 70% เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น

พร้อมทั้งเปิดเมนูใหม่ ๆ ให้เหมาะกับคนไทย ทุก 2 เดือน รวมถึงการจับมือเป็นพันธมิตรทางการตลาดกับคู่ค้า (Strategic Alliance Marketing) เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายหลักของแบรนด์ คือ กลุ่มนักเรียน – นักศึกษา และวัยทำงานตอนต้น ควบคู่กับการเข้าไปรุกการจัดบริการส่งถึงบ้านในช่องทางของ CRG Delivery และจับมือกับพันธมิตรใหม่ๆ เพื่อขยายการบริการจัดส่งถึงบ้านครอบคลุมทุกสาขาเพิ่มเติมในปีนี้อีกด้วย

mp19-3226-b   โออิชิส่ง"โออิชิ อีทเทอเรี่ยม" ชิงแชร์

ขณะที่ นายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เพื่อรองรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงดำเนินธุรกิจเชิงรุก ปรับภาพลักษณ์ให้กับร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ ให้ดูมีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาและสร้างสรรค์สินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งการขยายสาขาในพื้นที่ใหม่ ๆ จะทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ตรงจุดมากขึ้น และมองว่าธุรกิจร้านอาหารเมื่อเข้าสู่ยุค 4.0 จะสามารถสร้างการบริการ โปรโมชัน ได้เฉพาะเจาะจงหรือเข้าถึงอินไซต์ผู้บริโภคได้มากขึ้น

อีกทั้งเมื่อปลายปีที่แล้วได้เปิดตัวร้านอาหารญี่ปุ่น "โออิชิ อีทเทอเรียม" (OISHI EATERIUM) ภายใต้คอนเซ็ปต์สัมผัสรสชาติที่พาคุณเดินทางสู่ญี่ปุ่น ประกอบไปด้วยแนวคิด 3 ส่วนผสมที่ลงตัว คือ "EAT – EXPLORE - PREMIUM" นำเสนออาหารญี่ปุ่นรสชาติเยี่ยมจากวัตถุดิบชั้นดีโดยบรรยากาศภายในของโออิชิ อีทเทอเรียม นั้น ถูกตกแต่งและนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างตามสไตล์ "ยาไต" (Yatai) เสมือนว่า เดินอยู่บนย่านอาหารในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแบ่งออกเป็น 8 โซน ทั้งซูชิ สลัด สเต็ก ขนมหวานไปจนกาแฟและเครื่องดื่ม ฯลฯ

นอกจากนี้ยังได้นำแอพพลิเคชัน ที่เรียกว่า "OishiPointo Card" โดยเป็นรูปแบบของบัตรสมาชิกแบบ E-member บนสมาร์ทโฟนที่มีการนำมาใช้ในการร่วมโปรโมชันต่างๆของทุกร้านอาหารในเครือโออิชิเปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว และยังมีแผนการบริการออนไลน์เข้ามาเสริมในส่วนของช่องทางการสั่งซื้อสินค้าในรูปแบบดีลิเวอรี หรือ Delivery Online ในช่วงไตรมาส 1 นี้ เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่

  mp19-3226-a ซานตาเฟ่จ่อเปิดร้านญี่ปุ่นสู้

ฟากนายสุรชัย ชาญอนุเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคที เรสทัวรองท์จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านสเต็กภายใต้แบรนด์ "ซานตาเฟ่สเต็ก" เผยว่า ในปี 2561 บริษัทมีแผนในการพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นขึ้นมาเพื่อรองรับการเติบโตในธุรกิจร้านอาหารเมืองไทย โดยคาดว่าเห็นความชัดเจนในปี 2561 ขณะที่แผนงานในปีนี้บริษัทได้เตรียมใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งสิ้น 280 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 150 ล้านบาทในการขยายสาขา 21 แห่งอีก 130 ล้านบาทใช้ในด้านการตลาด เน้นการสื่อสารทางการตลาดแบบครบวงจร

"ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ เติบโต 10% โดยเฉพาะร้านสเต็กเติบโต 20% ซึ่งในปีหน้า เชื่อว่าร้านสเต็กจะเติบโตเป็นอันดับ 1 แทนที่ร้านอาหารเกาหลีและญี่ปุ่น โดยวางเป้าหมายระยะยาว 3 ปีนับจากนี้ ด้วยการก้าวเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจร้านอาหารประเภทสเต็กด้วยยอดขาย 3,000 ล้านบาท"

อย่างไรก็ตามการเติบโตในธุรกิจร้านอาหารไม่จำกัดเฉพาะในกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมีแบรนด์ต่างชาติทั้งใหญ่เล็ก แห่มาลงทุนในเมืองไทยเพิ่มมากขึ้น ที่ผ่านมาพบว่ามีแบรนด์ต่างชาติทุ่มเม็ดเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นร้านราเมงดัง "นีโอ โคราคุเอ็น" ที่ตั้งเป้าจะขยายให้ได้ 30 สาขาใน 3 ปี กลุ่มเอฟโวลูชั่นแคปปิตอล ผู้บริหารร้านโดมิโนพิซซ่า ไก่ทอดเคียวโซน คอฟฟี่ บีนแอนด์ ที ลีฟ ที่เล็งทุ่มงบ 1,500 ล้านบาทขยายสาขาให้ครบ 200 แห่ง หรือแบรนด์ยักษ์อย่างปตท. ที่ คว้าสิทธิเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ฟาสต์ฟูดไก่ชื่อดัง "เท็กซัส ชิคเก้น" จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเปิดในไทยและปูพรมขยายสาขาในเมืองหลวงเต็มพิกัด

นอกจากนี้ยังมี บริษัท จูลายทูไฟว์ฯ ที่นำเข้าแบรนด์ยากิโซบะ "โบเตย่า" รวมถึงยักษ์ไทยเบฟ ที่ตั้งบริษัทน้องใหม่ ฟู้ดออฟ เอเชีย เพื่อเข้ามาดำเนินธุรกิจกลุ่มร้านอาหาร โดยประเดิมแบรนด์แรก ด้วยการนำร้านดังจากฮ่องกง "mx cakes & bakery" เข้ามาเปิดในไทย และกลุ่มฟู้ดแลนด์ ที่เผยโฉม Mr.Pizzaแบรนด์ดังจากเกาหลี และทิม โห หวั่น ร้านซิ่มตำดังจากฮ่องกง เข้ามาปูพรมในเมืองไทย

การขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องของแบรนด์อาหารดังจากต่างชาติเหล่านี้ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อร้านอาหารไทยที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560