ตั้งบริษัทลูก‘ทีโอที-กสท’ บันไดก้าวแรกควบธุรกิจ

13 ม.ค. 2560 | 06:00 น.
เปิดศักราชปีไก่ เริ่มเห็นร่องรอยควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นไปตามโรดแมปของ คนร. (คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ) ที่ต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กรกฎาคมของปีนี้

ทั้งนี้ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ กสท ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท ดีลอยท์ จำกัด และ ทีโอที พร้อมที่ปรึกษาทีโอที คือ บริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์แอนด์คูเปอร์สฯ มีความเห็นร่วมกันที่จะควบรวมธุรกิจโครงข่ายระหว่างประเทศ หรือบริษัท NGN และ ดาต้าเซ็นเตอร์ (IDC) เป็นบริษัทเดียวกันภายใต้ชื่อ NGDC

ย้อนรอย

เป็นเพราะ ทีโอที และ กสท ถูกติดอันดับ 2 ใน 7 รัฐวิสาหกิจ ที่ต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง

นั่นจึงเป็นที่มาที่ คนร.ให้ 2 หน่วยงานรัฐเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ โดยก่อนหน้านี้ คนร.ได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที (เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี) หารูปแบบเพื่อปรับโครงสร้างครั้งนี้

 โครงสร้างเดิม

ภายหลัง คนร.มอบหมายให้กระทรวงไอซีที ไปบริหารจัดการได้มีการแต่งตั้งให้ นายพันธ์ศกัดิ์ศิริรัชพงษ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีไอซีที เป็นผู้รับผิดชอบ โดยโครงสร้างธุรกิจประกอบไปด้วยจัดตั้งบริษัทลูก 3 บริษัท เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินของทีโอที และ กสท ได้แก่ 1.บริษัทโครงข่ายบรอดแบนด์ภายในประเทศฯ (NBN CO) 2.บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศฯ (NGN CO) และ 3.บริษัทศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ตฯ (IDC CO) โดยเบื้องต้นทั้ง 3 บริษัทจะเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ยกเว้นบริษัทไอดีซีฯ จะต้องเป็นเอกชนเพื่อให้มีความคล่องตัวในการแข่งขัน

ไม่เพียงเท่านี้ คนร.กำหนดกรอบระยะเวลาการจัดตั้ง 3 บริษัทย่อยจะต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2560 และ ต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษามาวางแผนธุรกิจและประเมินทรัพย์ให้แล้วเสร็จ

“พนักงานจะมั่นใจได้อย่างไรการตั้งบริษัทลูกจะไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจแล้วนำทรัพย์สินไปให้เอกชน พนักงานจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ ทราบมาว่าการตั้งบริษัทลูกจะเป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจก่อน 3 ปี จากนั้นจะเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนในสัดส่วน 51% เท่ากับเป็นการขายทรัพย์สินของชาติให้เอกชน” นั่นคือคำบอกเล่าของนายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้

 โครงสร้างใหม่

อย่างไรก็ตามหลังมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีไอซีทีจาก นายอุตตม สาวนายน มาเป็น ดร.พิเชษฐ์ดรุงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี

แต่ทว่าโมเดลการควบรวมธุรกิจของ 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสูตรเดิม โดยเรื่องนี้ได้รับการยืนยันจาก พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าแผนควบรวมธุรกิจระหว่าง กสท กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ตามมติของ คนร. ว่า ที่ปรึกษาของ กสท คือ บริษัท ดีลอยท์ จำกัด และ ที่ปรึกษาของ ทีโอที คือ บริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์แอนด์คูเปอร์ส จำกัด มีความเห็นร่วมกันที่จะควบรวมธุรกิจโครงข่ายระหว่างประเทศ หรือบริษัท NGN และดาต้าเซ็นเตอร์ (IDC) เป็นบริษัทเดียวกันในชื่อ NGDC

เหตุผลที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่ คนร.กำหนดให้จัดตั้ง 3 บริษัทย่อย คือ NGN, NBN และ IDC โดยจะนำแผนเสนอ คนร.พิจารณาอนุมัติในวันที่ 9 มกราคม 2560 เนื่องจากธุรกิจ NGN โดยเฉพาะเคเบิลใต้น้ำลงทุนสูง แต่กำไรมีแนวโน้มลดลงจากการแข่งขันด้านราคา ขณะที่ IDC มีการเติบโตทุกปีประมาณปีละ 25% ซึ่งจะถึงจุดคืนทุนได้เร็ว และสามารถทำกำไรต่อไปได้

“การรวมทั้ง 2 บริษัท ลดความซ้ำซ้อน เพิ่มมูลค่า และ ช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจที่มีอยู่ได้อย่างยั่งยืน เช่น โอกาสทำตลาดในกลุ่มคอนเทนต์โพรไวเดอร์ต่างชาติที่รัฐบาลมีเป้าหมายส่งเสริมให้เข้ามาตั้งฐานในไทย”

 ลดความซ้ำซ้อน

ขณะที่แหล่งข่าวจาก บริษัท ทีโอที จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลคงเห็นว่าทำภารกิจในลักษณะเดียวกันทำให้เกิดการลงทุนซ้ำซ้อน ดังนั้นต้องการนำทรัพย์สินรวมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างมูลค่าทางธุรกิจเพิ่มขึ้น

“เมื่อรัฐบาลเห็นว่าเกิดความซ้ำซ้อนก็ต้องแก้ปัญหาในส่วนนี้ถ้าลดแล้วดีเราก็ไม่ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้เชื่อไปทั้งหมดเพราะในหลักการของทั้ง ทีโอที และ แคท ทำตามแบบมีเหตุผล” แหล่งข่าวกล่าว

 สิ้นปี 59 กสท กำไร 800 ล.

สำหรับผลประกอบการของ กสท ในปี 2559 คาดว่ามีกำไร 800 ล้านบาท เนื่องจากในช่วง 11 เดือน มีรายได้รวม 4.6 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิ 2,800 ล้านบาท คาดว่า ภายในสิ้นปี 2559 จะมีรายได้รวม 5 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ 3,100 ล้านบาท เป็นรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 50% ,ธุรกิจบรอดแบนด์ และบริการอินเตอร์เน็ตต่างประเทศ รวมทั้ง ไอดีดี 16% และธุรกิจอื่นๆ อีก 14% ส่วนอีก 20% มาจากรายได้สัมปทาน

ต้องจับตาดูว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ จะสามารถรวมโครงสร้างธุรกิจ “ทีโอที และ กสท” ได้หรือไม่

เพราะทั้งพนักงานและสหภาพของ 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ เชื่อว่าแม้จะเป็นนโยบายปรับโครงสร้างให้คล่องตัว

เพราะสุดท้ายธุรกิจเหล่านี้ต้องตกไปอยู่ในอุ้งมือเอกชน!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560