Brexit กับผลกระทบตลาดแรงงาน

12 ม.ค. 2560 | 13:00 น.
อเล็กซานเดอร์ เจฟติค ที่ปรึกษาธุรกิจจัดหางานบุคลากร บริษัท คอร์เท็กซ์ ไอที รีครูทเมนท์ฯ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ วิเคราะห์สถานการณ์ว่าภายหลังจากที่อังกฤษถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)มีความเป็นไปได้ว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในตลาดแรงงานของอังกฤษซึ่งจะมีกฎระเบียบและมาตรการเข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับการเข้าเมืองของคนต่างด้าว เนื่องจากสถานภาพความเป็นประชาคมเสรีไร้พรมแดนกับอียูจะหมดไป แม้เรื่องดังกล่าวจะมีผลกระทบเชิงลบ แต่หากมองในเชิงบวกก็จะพบว่ามีหลายประเทศที่จะได้รับประโยชน์จากการถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ อาทิ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และกาตาร์ เป็นประเทศที่เปิดกว้างในการรับคนต่างชาติเข้าทำงาน (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แถบอ่าวเปอร์เซีย) ดังนั้น หากเกิดการไหลออกของแรงงานต่างด้าวจากเกาะอังกฤษ ประเทศเหล่านี้ก็อาจกลายเป็นแหล่งรองรับหรือเป็นศูนย์รวมของคนมืออาชีพระดับหัวกะทิแทนกรุงลอนดอน ส่วนฮังการีและโปแลนด์ ซึ่งปัจจุบันมีประชากรระดับแรงงานมีทักษะและฝีมือเข้าไปทำงานในอังกฤษเป็นจำนวนมาก ก็อาจเกิดภาวะสมองไหลกลับสู่ประเทศบ้านเกิด ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรโดยเฉพาะในสาขาการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านไอที

เจฟติคยังระบุว่า เยอรมนี เป็นอีกประเทศที่น่าจะได้ประโยชน์จากกรณี Brexit แม้ว่าระยะแรกเยอรมนีที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ของอังกฤษ (สินค้าส่งออกของเยอรมนีไปอังกฤษ 7.5%) อาจจะได้รับผลกระทบระยะสั้น แต่ต่อไปในระยะยาวเยอรมนีมีแนวโน้มได้ประโยชน์มากกว่า โดยนครแฟรงก์เฟิร์ตจะมีความโดดเด่นในฐานะศูนย์กลางการเงินของยุโรปแทนมหานครลอนดอน

หลายประเทศรวมทั้ง อินเดีย ซึ่งมีประชากรจำนวนมากเข้าไปศึกษาและท่องเที่ยวในอังกฤษ จะได้รับประโยชน์จากค่าเงินปอนด์ของอังกฤษที่อ่อนตัวลงอย่างมาก นอกจากนี้ หากรัฐบาลอังกฤษมีกฎระเบียบคุมเข้มแรงงานชาติยุโรปอื่นๆ เข้ามาทำงานในอังกฤษ แรงงานอินเดียก็อาจได้รับโอกาสในการเข้าสวมตำแหน่งแทน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560