ใต้จมน้ำ ยาง-ปาล์ม-ประมง เสียหายแสนล้าน

12 ม.ค. 2560 | 02:00 น.
นํ้าท่วมใหญ่ 12 จังหวัดปักษ์ใต้ทุบเศรษฐกิจ-กำลังซื้อฟุบ ยาง ประเมินเสียหายจริงกว่าล้านไร่ กระทบรายได้หายทั้งระบบกว่าแสนล้าน ปาล์ม ฟาร์มกุ้งข้าวนาปีรอเก็บเกี่ยวโดนถ้วนหน้า หอการค้าประเมินกระทบจีดีพีใต้หาย 0.8% รัฐออกมาตรการภาษีบริจาคช่วยใต้ ค้าปลีกยันสต๊อกมีพอรองรับไม่ขาดแคลน

 ยางใต้จมน้ำแสนล้าน

นายทศพล ขวัญรอด รองประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ประเมินผลกระทบต่อสวนยาง ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ คาดจะได้รับความเสียหายจริงมากกว่า 1 ล้านไร่ โดยนอกจากน้ำท่วมขังสวนยางแล้ว ยังมีผลผลิตยางของเกษตรกรที่ถูกพัดหายไปกับสายน้ำ ขณะที่เฉพาะที่นครศรีธรรมราช แหล่งปลูกยางแหล่งใหญ่ของภาคใต้เพียงจังหวัดเดียว มีผลผลิตออกสู่ตลาดหายไปหลายหมื่นตันต่อวัน จากน้ำท่วมกรีดยางไม่ได้ทำให้เกษตรกรสูญเสียโอกาสด้านรายได้ ขณะที่ในหลายพื้นที่ของภาคใต้สวนยางยังมีน้ำท่วมขัง ซึ่งหากขังนานเกิน 15 วัน ใบยางจะร่วง และหากแช่ขังเป็นเดือนรากต้นยางจะเน่าและตายได้

"เฉพาะที่นครศรีธรรมราชในส่วนของยางพาราคาดจะเสียหายมากกว่า 1 หมื่นล้านเพราะน้ำท่วมมา 3 รอบแล้ว ริบนี้เป็นรอบที่ 4 ใบยางร่วงหมดกรีดไม่ได้แล้ว กว่าน้ำจะแห้งคงยืนตนตายเป็นแสนไร่ ส่วนที่ยังรอดไม่มีน้ำท่วมขังแล้วก็คงจะยังกรีดยางไม่ได้ และคาดใช้เวลาฟื้นฟูไปถึงเดือนมีนาคม-เมษายนที่ภาคใต้จะปิดกรีด ซึ่งหากรวมทั้ง 11-12 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมในครั้งนี้ คาดธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องยางจะได้รับผลกระทบครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท"

 จี้ กยท.เร่งเยียวยาหลังน้ำลด

ขณะที่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธาน สยยท.กล่าวว่า โดยปกติผลผลิตยางของภาคใต้จะออกมากสุดในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคม คิดเป็นปริมาณรวม 1.6 หมื่นตัน/วัน หรือราว 5 แสนตัน/เดือน ซึ่งขณะนี้ยางพารากำลังราคาดีเฉลี่ยที่ 80 บาท/กก.หากจากนี้ไปจนถึงเดือนมีนาคมยางได้รับความเสียหาย ไม่สามารถกรีดให้น้ำยางได้จะกระทบรายได้ของเกษตรกรหายไปไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อของภาคใต้หายไปอย่างมาก
ล่าสุดทาง สยยท.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึง พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ถึงสถานการณ์น้ำท่วมสวนยางภาคใต้กว่า 1 ล้านไร่ ที่ประสบอุทกภัยอย่างร้ายแรงที่สุดในรอบ 40 ปี โดย สยยท. ขอเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหลังน้ำลด คือ ให้กยท.ระดมเจ้าหน้าที่ตรวจสวนทุกจังหวัดลงพื้นที่โดยแบ่งเขตความรับผิดชอบในการปฏิบัติความเสียหายของต้นยางและเพื่อให้กำลังใจเกษตรกร ที่สำคัญต้องให้ทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำบำรุงรักษาสวนยางให้ถูกต้อง โดยเฉพาะน้ำแช่ขังสวนยางใบร่วงจะเป็นโรคไฟท็อปเทอร่า ที่สำคัญขอให้ช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมและเกิดความแตกแยกกัน อีกทั้งเงินเก็บภาษีจากผู้ส่งออกยาง (เซสส์)เก็บจากเจ้าของสวนไม่ใช่งบประมาณของรัฐ ขอได้โปรดให้นักกฎหมายตรวจดูขอเป็นกรณีพิเศษสังคมจะยอมรับได้

 แห่ตุนยางดันราคาพุ่ง

นายภัทรพล วงศาสุทธิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรับเบอร์ ลาเท็คซ์กรุ๊ปฯ ผู้ประกอบการยางพาราครบวงจรกล่าวว่า ราคานํ้ายางพาราดิบ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วและแรง จาก 64 บาท/กิโลกรัมใน ช่วงต้นปี 2560 ล่าสุดวันที่ 10 มกราคมราคาขึ้นมาอยู่ 70 บาท/กิโลกรัม ผลกระทบจากปัญหานํ้าท่วมภาคใต้ ซึ่งเป็นที่เพาะปลูกยางพารา 70-80% ของภาคใต้และปริมาณนํ้ายางที่เข้าสู่ตลาด ยังไม่หายไปจากตลาดมากนัก

“ราคายางพาราที่ขึ้นมาเร็วและแรง ส่วนหนึ่งมาจากราคายางโลก ที่ขึ้นตามวัตถดุ ิบที่สงู ขึ้นจากราคาน้ำยางพาราที่เกิดจากปัญหานํ้าท่วมภาคใต้ และอีกสาเหตุหนึ่งผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มเก็บสต๊อกสินค้ารอ เพราะเหลือเวลากรีดยางไม่กี่สัปดาห์ จะหมดรอบหยุดกรีดยางแล้วทำให้ราคายางพารา ทรงระดับสูงต่อไป”นายภัทรพล กล่าว

 ฟาร์มกุ้ง-นาข้าว 2,000 ล้าน

ขณะที่นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า น้ำท่วมภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกุ้งแหล่งใหญ่ 2 ใน 3 ของประเทศ หรือประมาณ 2.5 แสนไร่จากภาพรวมประมาณ 4 แสนไร่ โดยจังหวัดที่มีการเพาะเลี้ยงกุ้งมาก เช่นที่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ได้รับรายงานเบื้องต้นว่าจากน้ำท่วมทำให้บ่อกุ้งได้รับความเสียหาย ทั้งจากกุ้งถูกน้ำพัดพาออกจากบ่อเลี้ยงและความเสียหายด้านเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในเบื้องต้นประเมินผลกระทบไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท

ส่วนนายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนา และเกษตรกรไทย กล่าวว่าน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้มีผลให้ข้าวนาปีในพื้นที่ภาคใต้ที่จะทำการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคมเสียหายกว่า 2.5 แสนไร่ ประเมินจะมีผลผลิตประมาณ 1.6 แสนตันคิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว 1,280 ล้านบาท

 รง.อาหารทะเลโดนด้วย

ด้านนายทวี ปิยะพัฒนา ประธานบริหาร กลุ่มพี.เอฟ.พี. ซึ่งมีโรงงานแปรรูปอาหารทะเลที่จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรงงานแปรรูปอาหารทะเลในพื้นที่ภาคใต้มีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่มาก แต่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากเส้นทางคมนาคมหลายพื้นที่ถูกตัดขาด ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงการขนส่งสินค้ามาจำหน่ายยังส่วนกลางมีต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ทราบจากผู้บริโภคในพื้นที่ว่าอาหารทะเลมีราคาสูงขึ้น จากเรือประมงออกหาปลาไม่ได้

 จีดีพีภาคใต้หาย 0.8%

ขณะที่นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย กล่าวว่า 14 จังหวัดภาคใต้มีผลิตภัณฑ์มวลรวม(จีดีพี)ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 9% ของจีดีพีรวมประเทศที่ตกประมาณ 14.5 ล้านล้านบาท ซึ่งในปี 2560 ทางหอการค้าในพื้นที่คาดจีดีพีของภาคใต้จะขยายตัวได้ที่ 2.5-2.8% แต่จากผลกระทบน้ำท่วมคาดจีพีดีของภาคใต้ในปีนี้จะหายไปประมาณ 0.8%

 เคาะมาตรการภาษีเยียวยา

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 อนุมัติมาตรการช่วยเหลือทางภาษีสำหรับผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 12 จังหวัด เพื่อจูงใจการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยกำหนดให้บุคคลสามารถนำยอดเงินบริจาคไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้เท่าที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ กรณีห้างหุ้นส่วนและนิติบุคคล สามารถนำเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาคไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้เท่าที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ โดยเป็นการบริจาคช่วยเหลือในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2560

รวมทั้งอนุมัติขยายกำหนดเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีอากร ให้แก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรนำส่งภาษีในท้องที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอุทกภัย สำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ ที่ต้องยื่นในเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2560 ให้ไปยื่นภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560

 หอฯใต้ขอรัฐช่วยมาตรการการเงิน

ขณะที่ภาคธุรกิจชี้ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง นายธีรชัย ศรีโพธิชัย ประธานหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม ปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน เมื่อเกิดน้ำท่วมเกษตรกรไม่สามารถนำผลผลิตมาป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้ โรงงานจึงต้องชะลอการผลิตชั่วคราว และมีต้นทุนเพิ่มในการลงทุนป้องกันน้ำท่วม

"ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่นิ่ง อย่างไรก็ตามอุทกภัยในภาคใต้เป็นน้ำไหลหลาก ไม่ใช้น้ำท่วมขัง ภายใน 7-10 วัน น้ำไหลลงทะเล เหตุการณ์ก็เข้าสู่ปกติ แต่ถนนหนทางก็ได้รับความเสียหาย น่าจะแก้ไขได้ใน 2 เดือน ซึ่งหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานีกำลังประสานงานกับหอการค้าภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย หอการค้าภาคใต้ฝั่งอันดามัน และกลุ่มหอการค้าภาคใต้ชายแดน รายงานความเสียหายให้กับรัฐบาล พร้อมขอมาตรการเยียวยาจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น เงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ หรือพักการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว"

 ค่ายรถระดมทีมช่างลงพื้นที่

ด้านธุรกิจโชว์รูม-ศูนย์บริการรถยนต์ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ส่วนมากไม่ได้รับความเสียหาย มีเพียงลูกค้าที่รอส่งมอบต้องเลื่อนการรับรถออกไป เนื่องจากรถยนต์รุ่นใหม่จากบ.แม่ ไม่สามารถขนส่งเข้าโชว์รูมได้จากปัญหาเส้นทางสัญจรหลักถูกตัดขาด ดีลเลอร์หลายรายผันตัวเป็นจิตรอาสาบรรเทาทุกข์ชาวบ้าน ด้านบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ประกาศร่วมมือกับดีลเลอร์ในพื้นที่ เคาะมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้น ทั้งการตรวจเช็คสภาพรถฟรี พร้อมลดราคาอะไหล่ ทั้ง ฮอนด้านิสสัน มิตซูบิชิ ซูซูกิ ให้ส่วนลดอะไหล่ 30% ขณะที่มาสด้าหวังเจรจากับสถาบันทางการเงิน ในการผ่อนปรนการผ่อนชำระให้แก่ลูกค้า อีซูซุสนับสนุนรถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้เป็นพาหนะในการบรรเทาทุกข์ พร้อมมอบอาหารสำเร็จรูปและนํ้าดื่มอีซูซุให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อนำไปแจกจ่าย ร่วมกับผู้จำหน่ายอีซูซุในแต่ละจังหวัด รับตรวจเช็ครถในพื้นที่ประสบอุทกภัยโดยให้ส่วนลดพิเศษทั้งค่าแรงและอะไหล่ เป็นต้น

 รอทำตัวเลขงบซ่อมถนน

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง(ทล.) กล่าวว่า ตามที่ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย ซึ่งเวลานี้ยังประเมินได้ไม่ชัดเจน จากช่วงแรกที่คิดว่าไม่รุนแรง แต่ภายหลังพบว่าเกินกว่าที่คาดไว้ เบื้องต้นคาดต้องใช้งบซ่อมแซมกว่า 1,000 ล้านบาท ในระยะเร่งด่วนจะใช้งบฉุกเฉินซ่อมบำรุงในจุดที่รุนแรงก่อน เมื่อน้ำลดแล้วจะเข้าประเมินที่ชัดเจน แล้วเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเข้าพิจารณาในครม.หางบในส่วนอื่น ๆ ไปดำเนินการ หากเกินกว่างบของทล.จะดำเนินการได้ต่อไป

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า พื้นที่อุทกภัยภาคใต้ 12 จังหวัด ประเมินความเสียหายช่วงแรกวันที่ 2-27 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา มีถนนเสียหาย 77 สายทาง มูลค่าความเสียหายเบื้องต้นราว 426 ล้านบาท และตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา มีถนนเสียหาย 111 สายทาง วงเงินรวม 621 ล้านบาท รวมแล้วเสียหายในระดับ พันล้านบาท ซึ่งเป็นการประเมินเบื้องต้น เพราะบางที่ยังมีน้ำยังท่วมขัง และมีอีก 29 สายทางยังต้องรอน้ำลด จึงจะเข้าไปประเมินความเสียหายที่ชัดเจน คาดจะใช้เวลา 1-2 เดือน สำรวจออกแบบในการปรับปรุงเพื่อขออนุมัติจากส่วนกลางไปดำเนินการต่อไป"

 ค้าปลีกปรับเส้นทางส่งของ

ด้านการจัดส่งสินค้าอุปโภคบริโภคลงพื้นที่ภาคใต้ต่างยืนยันมีเส้นทางเลี่ยง และมีประสบการณ์มาก่อนสต็อกสินค้าในพื้นที่มีพอรองรับความต้องการ โดยนายวิเชียร กันตถาวร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทเกอร์ดิสทริบิวชั่นแอนด์โลจิสติคส์ จำกัด ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า ได้หยุดขนส่งสินค้าไปยังจังหวัดชุมพรและนครศรีธรรมราช เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมหากสูงเกิน 2 เมตร ต้องหยุดส่ง แล้วใช้เส้นทางเลี่ยงแทน ถ้าไม่ถึงรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้าได้แต่จะรอให้เหลือระดับ 1 เมตรก่อน เพื่อลดปัญหาคลื่นกระแทกบ้านประชาชน หากไม่มีฝนเพิ่มคาดอีกไม่เกิน 3 วันปริมาณน้ำจะลดเป็นปกติ แต่หากลูกค้าต้องการด่วนจะจัดส่งไปกับระบบอื่น เช่น รถไฟ รถทัวร์ หรือเครื่องบิน โดยมีสต็อกสินค้าพอรับความต้องการ

นายอนวัช สังขะทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โรบินสันสาขาในภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วมมี 2 แห่งในนครศรีธรรมราช โดยปิดทำการไป 1 วันในวันที่ 4 มกราคม แต่ไม่ได้รับผลกระทบหรือเสียหายใด ๆ แต่จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการลดลงไปบ้างเพราะการเดินทางที่ไม่สะดวก ส่วนอีก 5 แห่งใน 4 จังหวัดได้แก่ ได้แก่ สาขาสุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลา และภูเก็ต 2 แห่ง อยู่ในช่วงการเฝ้าระวัง และยังเปิดให้บริการตามปกติ อย่างไรก็ดีขณะนี้โรบินสันได้สต๊อกสินค้าที่จำเป็นให้เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า โดยได้รับความช่วยเหลือในการขนส่งจากสำนักงานใหญ่และสาขาใกล้เคียง

 เทสโก้โลตัสมีประสบการณ์พร้อมรับมือ

ขณะที่นายจอห์น คริสตี้ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่นซิสเทมฯ ผู้บริหารห้างเทสโก้ โลตัส กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมในภาคใต้เทสโก้ โลตัสไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก มีเพียงการปิดให้บริการโลตัสเอ็กซ์เพรส ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช 3-4 แห่ง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เท่านั้น โดยได้เตรียมเปิดให้บริการอีกครั้งในช่วงกลางสัปดาห์นี้เป็นต้นไป (11 ม.ค. 60) ส่วนการขนส่งและสต๊อกสินค้า เพื่อรองรับความต้องการในพื้นที่ประสบภัย บริษัทมีคลังกระจายสินค้าในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีความพร้อม ทั้งการขนส่งสินค้าไปยังสาขาต่างๆในพื้นที่ใกล้เคียง มีปริมาณสินค้าจำเป็น อาทิ อาหารแห้ง น้ำดื่มน้ำตาล เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่

"เรามีประสบการณ์รับมือน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 มาแล้ว ซึ่งหากเปรียบเทียบกันแล้วนับว่าครั้งนี้ยังไม่รุนแรงเท่า ดังนั้นการบริหารจัดการและการจัดเตรียมปริมาณสินค้า เพื่อรองรับความต้องการของประชาชนนั้นมีเพียงพออยู่แล้ว ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็มีร้านค้าต่าง ๆ ในพื้นที่ประสบภัยทยอยกักตุนสินค้าประเภท ข้าวสาร น้ำตาล น้ำปลา อยู่บ้างในช่วงสัปดาห์แรกที่เกิดอุทกภัย ซึ่งสินค้ามีเพียงพอแน่นอน ส่วนมวลน้ำที่เคลื่อนตัวขึ้นมายังภาคใต้ตอนบนในขณะนี้ ทั้งในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร บริษัทมีความพร้อมในการรับมือ ทั้งการป้องกันสาขาเพื่อไม่ให้เกิดน้ำท่วม การดูแลในเรื่องของทางเข้า ออกที่จำเป็นต่อการขนส่งสินค้า รวมถึงการสต๊อกสินค้าจำเป็นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ส่วนพนักงานของเทสโก้ โลตัส ที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วมราว 200-300 รายบริษัทได้เข้าไปช่วยเหลือทั้งในเรื่องของการส่งสิ่งของจำเป็นในการยังชีพ รวมไปถึงการดูแลที่พักอาศัย อาหาร ห้องน้ำ แก่พนักงานที่ไม่สามารถเข้าพักอาศัยในบ้านได้ขณะนี้ด้วย"

[caption id="attachment_122449" align="aligncenter" width="503"] นางกอบกาญจน์วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางกอบกาญจน์วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา[/caption]

ททท.คาดไทยเที่ยวไทยวูบ10% แอร์ไลน์อัดโปรตั๋ว999บาท


นางกอบกาญจน์วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในแง่จอง โปรแกรมเดินทางท่องเที่ยวล่วงหน้า เนื่องจากสนามบินหลักในเมืองท่องเที่ยวภาคใต้ทุกสนามบินยังเปิดให้บริการยกเว้นสนามบินนครศรีธรรมราช แต่ก็ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) อัพเดตสถานการณ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับทราบข้อเท็จจริงในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางเที่ยวภาคใต้ ซึ่งหากยังไม่มั่นใจในพื้นที่อ่าวไทย ก็สามารถไปเที่ยวฝั่งอันดามัน หรือภาคอื่นๆของไทยได้

"หลังน้ำลดระดับ กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่ใน 4 เส้นทางได้แก่ เส้นทางชุมพร-ระนอง,สุราษฎร์ธานี,นครศรีธรรมราช,พัทลุง-สงขลา เพื่อสำรวจความเสียหายของแหล่งท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูและช่วยเหลือ"

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวว่า หลังจากน้ำลด ททท.ก็จะร่วมมือกับเอสเอ็มอี แบงก์ เดินทางลงไปสำรวจความเสียหายในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และเข้าไปสร้างความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และส่งเสริมตลาดโดยจะเริ่มลงพื้นที่ไปยังเกาะสมุย ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้

นอกจากนี้ยังจะมีการจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ คอนซูเมอร์แฟร์ ในวันที่ 25 มกราคมนี้ในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม และจัดทัวร์คาราวานรถบัส 25 คันท่องเที่ยว 4 จังหวัด ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ขายราคาคนละ 1,990 บาท ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

ขณะที่ฟากเอกชนโดยเฉพาะสายการบินต่างๆ ได้มีการจัดโปรโมตชันขายตั๋วในราคาพิเศษอาทินายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยสมายล์ จำกัด เผยว่าปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ สายการบิน มองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินทางด้านการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

"การปิดสนามบินนครศรีธรรมราช ทำให้มีผู้โดยสาร หลั่งไหลมาขึ้นเครื่องบินที่สนามบินสุราษฏร์ธานี เป็นจำนวนมากเพื่อแบ่งเบาภาระ ไทยสมายล์จึงได้กันที่นั่งในเส้นทางบินภาคใต้ราว 20% หรือราว 400 ที่นั่งต่อวัน จาก 2,000 ที่นั่งต่อวัน มาจัดโปรโมชัน"Smile Price 999 บาท" สำหรับการเดินทางไปยังภาคใต้ ในเส้นทางกระบี่ สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ และ นราธิวาส ยกเว้นภูเก็ต ราคา 999 บาท ต่อท่านต่อเที่ยว (รวมทุกอย่างแล้ว) เปิดให้จองถึงวันที่ 20 มกราคมนี้ ทั้งยังได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงบัตรโดยสารในเส้นทางภาคใต้ยกเว้นภูเก็ต ไปจนถึงสิ้นเดือนนี้ และยังจะช่วยรับบริการขนส่งเครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนของใช้ต่าง ๆ สำหรับหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเขตพื้นที่ภาคใต้ฟรีจนถึง 31 มกราคมนี้ หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ในส่วนของสายการบินเปิดให้บินในเส้นทางบินสู่นครศรีธรรมราช อย่าง นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย ก็พร้อมจะกลับมาเปิดให้บริการเมื่อมีการเปิดใช้สนามบิน รวมทั้งล่าสุดนกแอร์ได้เพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางบินสู่สุราษฏร์ธานีเพิ่มอีก 1 เที่ยวบินต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 8-17 มกราคมนี้ รวมเป็น 6 เที่ยวบินต่อวัน เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางที่เพิ่มขึ้น และมีการจัดโปรโมชั่นเริ่มต้น 800 กว่าบาทต่อที่นั่งต่อเที่ยว

ด้านไทยแอร์เอเชีย เปิดให้ผู้โดยสารที่จองตั๋วในเส้นทางนครศรีธรรมราช สามารถคืนเงินได้เต็มจำนวนหรือขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินใหม่ไปยังสนามบินใกล้เคียง ได้แก่สุราษฏร์ธานี กระบี่และตรัง ภายในระยะเวลา 14 วัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นต้น

[caption id="attachment_124361" align="aligncenter" width="476"]  รอยล จิตรดอน นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.)[/caption]

โยธาฯนำร่องวางผังระบายน้ำภาคใต้


จากวิกฤติการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้ นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 ได้หารือกับนายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศน้ำและการเกษตร (สสนก.)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ซึ่งนายรอยลเสนอให้กรมโยธาฯ จัดทำผังระบายน้ำบรรจุไว้ในกฎกระทรวงผังเมืองรวมจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานราชการถือปฏิบัติ อาทิ กรมทางหลวงจะต้องเปิดพื้นที่ของถนนเพื่อบายพาสน้ำ หากเห็นว่าเป็นโซนเหมาะสม กรมชลประทานจะต้องจัดทำคูคลองระบายน้ำ หรือจัดทำพื้นที่แก้มลิงรับน้ำและระบายน้ำ เป็นต้น รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ที่จะต้องจัดหาพื้นที่ป้องกันน้ำท่วมที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะยกร่างให้ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ที่วิกฤติในขณะนี้ ก่อนที่จะขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป โดยจะถือเป็นนโยบายเร่งด่วน และวันที่ 11 มกราคม 2560นี้ จะเสนอต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย(มท.1) และคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบและของบประมาณปี 2561 ศึกษาและจัดทำผังเมืองต่อไป

อธิบดียอมรับว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยมีการกำหนดผังระบายน้ำป้องกันน้ำท่วมไว้ในกฎกระทรวงผังเมืองรวม หรือบัญชีแนบท้ายกฎกระทรวงผังเมืองรวม เพียงแต่มีผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและกำหนดถนนตามผังเมืองเท่านั้น โดยที่ผ่านมา กรมได้จัดทำผังป้องกันน้ำท่วมไว้ 3 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา แต่ไม่ครอบคลุมทั้งจังหวัด

"จากการตรวจสอบพบว่าถนนเพชรเกษม จะเป็นกระดูกสันหลัง ตัวการกีดขวางทางน้ำ แต่ตรงไหนจะเปิดช่อง โซนในเขตเมืองจะต้องทำบายพาสน้ำ ไม่ให้ไหลเข้าทำลายเขตเศรษฐกิจและเขตชุมชน เดิมจะมีผังถนนกับสีการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งอาจจะไม่บังคับทางกฎหมาย แต่จะให้แต่ละหน่วยงานราชการถือปฏิบัติ"

เตือน7จ.รับมือฝนตกหนักอีกระลอก


นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ในวันที่ 16-17 มกราคมนี้ ขอให้ประชาชนใน 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เตรียมรับมือฝนตกหนักอีกระลอก เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย

ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้นฝนจะเบาบางลง คาดว่าปลายเดือนมกราคมฝนจะค่อย ๆ หมดลง

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ล่าสุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการของกระทรวง 11 คน ลงไปรับผิดชอบพื้นที่น้ำท่วมในภาคใต้ โดยให้บูรณาการการแก้ไขปัญหาและการช่วยเหลือเกษตรกร ของหน่วยงานภายในกระทรวงเอง และระหว่างหน่วยงานด้วยกันเอง และให้เตรียมทำแผนฟื้นฟูด้านเกษตรในแต่ละจังหวัดหลังน้ำลด

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เผยถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ว่า ฝนที่ตกหนักตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดอุทกภัย วาตภัย น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีจังหวัดได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด ได้แก่ พัทลุง นราธิวาส ยะลา สงขลา ปัตตานี ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร ระนอง กระบี่ และประจวบคีรีขันธ์ รวม 111 อำเภอ 663 ตำบล 4,993 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 369,680 ครัวเรือน จำนวน 1,105,731 คน ผู้เสียชีวิต 25 ราย สูญหาย 2 ราย มีสถานที่ราชการเสียหาย 5 แห่ง ถนน 218 จุด คอสะพาน 59 แห่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,226 วันที่ 12 - 14 มกราคม 2560