4เทรนด์อาหารโลกมาแรง เล็งส่งออกปีไก่2.1แสนล้าน

11 ม.ค. 2560 | 04:00 น.
ในปี 2560 สถาบันอาหารได้คาดการณ์สินค้าอาหารในภาพรวมของไทยจะส่งออกได้ที่มูลค่า 1.05 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก จากในปี 2559 คาดจะส่งออกได้ที่ 9.72 แสนล้านบาท ซึ่งในตัวเลข 9.72 แสนล้านบาทดังกล่าว "วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา" นายกสมาคม ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าเป็นมูลค่าการส่งออกที่มาจาก 6 กลุ่มสินค้าที่เป็นสมาชิกของสมาคมเกือบ 200 บริษัทคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.99 แสนล้านบาท

 ยอดปี59พุ่ง1.9 แสนล้าน

"วิศิษฐ์" ขยายความว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา คาดการส่งออก 6 กลุ่มสินค้าสมาชิกสมาคม ประกอบด้วย กลุ่มทูน่า,อาหารทะเล,สับปะรด,ผักและผลไม้,ข้าวโพดหวาน,อาหารพร้อมรับประทาน(รวมซอสและเครื่องปรุงรส) จะส่งออกได้ที่ปริมาณ 2.85 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.9% และแง่มูลค่าคาดส่งออกได้ที่ 1.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.8% โดยกลุ่มสินค้าที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวได้แก่ ทูน่ากระป๋อง (+2.0%), สับปะรดกระป๋อง (+15.6%), ข้าวโพดหวานกระป๋อง(+12.1%),ผักและผลไม้(+11%) และอาหารพร้อมรับประทาน (+24.7%) ส่วนที่ส่งออกลดลงได้แก่ อาหารทะเล(-40.4%)

"กลุ่มทูน่ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องเพราะเป็นอาหารโปรตีนพื้นฐานราคาไม่แพงมาก กลุ่มสับปะรดมูลค่าสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบได้รับผลกระทบภัยแล้งราคาปรับตัวสูงขึ้น เกษตรกรส่วนหนึ่งหันปลูกพืชอื่น ทำให้ผลผลิตยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ อาหารพร้อมรับประทานซึ่งรวมซอสและเครื่องปรุงรสตัวเลขโตขึ้นมากจากผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ข้าวโพดหวานกระป๋องก็ยังไปได้ดี ส่วนอาหารทะเลที่ตัวเลขติดลบมาก จากวัตถุดิบที่ลดลง เป็นผลจากการระเบียบเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายหรือไอยูยู เรือออกจับปลาน้อยลง ขณะที่โรงงานผลิตต้องเข้าสู่ขบวนการจัดระเบียบเรื่องเอกสารต่างๆ ที่ต้องสำแดงก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ทำให้มีความยุ่งยากมากขึ้น"

เป้าปี 60 ทะลุ 2.1 แสนล้าน

สำหรับในปี 2560 นี้ ทางสมาคมได้คาดการณ์มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารใน 6 กลุ่มข้างต้นจะส่งออกได้ที่ 2.1 แสนล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5% ส่วนด้านปริมาณคาดจะสูงถึง 3 ล้านตัน โดยกลุ่มที่จะยังขยายตัวต่อเนื่องได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมรับประทาน รวมซอสและเครื่องปรุงรสต่างๆ กลุ่มน้ำผลไม้กระป๋องที่เป็นน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพ เช่นน้ำมะพร้าว น้ำสับปะรด ที่มีวิตามินชดเชยเครื่องดื่มเกลือแร่ได้ กลุ่มทูน่ากระป๋องจะยังรักษาความสมดุลในเรื่องการตลาดและการผลิตเอาไว้ได้ ขณะที่กลุ่มอาหารทะเลมองว่าน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดเรื่องขาดแคลนวัตถุดิบมาแล้ว และโรงงานผลิตก็ปรับตัวเรื่องไอยูยูได้การส่งออกน่าจะดีขึ้น

 ปัจจัยบวกส่งออกปีไก่

"วิศิษฐ์" ยังได้วิเคราะห์ ปัจจัยบวก และปัจจัยลบต่อการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปของไทยในปี 2560 โดยในส่วนของปัจจัยบวกที่สำคัญได้แก่ 1.นโยบายของภาครัฐในเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การเร่งลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ จะช่วยเพิ่มการส่งออก และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจะช่วยเพิ่มการบริโภคอาหารในประเทศ 2.มาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(ไอยูยู ฟิชชิ่ง) ของไทยมีความก้าวหน้า และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้ามากขึ้นตามลำดับ 3.ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในปีการผลิต 2559/2560 ฟื้นตัวจากภาวะภัยแล้ง วัตถุดิบในอุตสาหกรรมกุ้งเริ่มคลายตัวจากภาวะโรคระบาด ตลาดไก่สดและแปรรูปเปิดเพิ่มขึ้นที่เกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศที่ผลิตไก่ได้มาก ๆ หลายประเทศประสบปัญหาโรคระบาดในสัตว์ ทำให้ไก่ไทยเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

4.ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่า ถึงแม้ในประเทศคู่ค้าและคู่แข่งด้านการส่งออกด้วยกันจะปรับตัวอ่อนค่ากว่าเงินบาทไทย แต่ไทยก็ยังได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ 5.สหรัฐอเมริกาปรับระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยดีขึ้นเป็น Tier 2 Watch List และไทยยังเดินหน้าปรับปรุงต่อไปให้อยู่ใน Tier 2 และ 6.เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ MENA (กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 19 ประเทศ) จะฟื้นตัวตามราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีกำลังซื้อมากขึ้น

"ในกลุ่มประเทศ MENA ช่วงที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ทิ้ง สมาชิกสมาคมยังร่วมออกงาน Gulfoodซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าด้านอาหารอีกหนึ่งงานใหญ่ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างต่อเนื่องเพื่อเจาะตลาดตะวันออกกลางและตลาดทั่วโลก และในปี 2560 งานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 2 มีนาคม สมาชิกเราเตรียมร่วมออกงานจำนวนมาก"

 4ปัจจัยเสี่ยงอย่าวางใจ

อย่างไรก็ดีก็ยังมีปัจจัยลบที่ต้องจับตามอง ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวรับมือ ที่สำคัญคือ 1.จำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมลดลงจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าประสิทธิภาพของแรงงาน 2.ความไม่แน่นอนด้านนโยบายของผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ อาจทำให้ตัวแปรด้านเศรษฐกิจผันผวน และเกิดความเสี่ยงจากการเกิดสงครามการค้า 3.สหภาพยุโรปหลายประเทศจะมีการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่ในปี 2560 อาจจะส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายของผู้นำใหม่ที่อาจส่งผลกระทบด้านการกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้น และ 4.ปัญหาความไม่สงบในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ยังชะลอตัว

"ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ผู้ประกอบการต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งในส่วนของผู้ผลิตรายเดิมส่วนใหญ่จะรับทราบว่าประเทศคู่ค้ามีมาตรการกีดกันอะไรบ้าง พอมีเรื่องใหม่ๆ ก็จะปรับตัวได้ไม่ยาก แต่จะยากสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ คำแนะนำก็คือให้มองหาตลาดในประเทศหรือประเทศรอบบ้าน เช่น CLMV หรืออาเซียน แล้วค่อยขยายสู่ญี่ปุ่น จีน เกาหลี หรือประเทศในเอเชียที่อยู่ใกล้ และกฎระเบียบไม่เข้างวดมากเท่ายุโรปหรือสหรัฐฯ"

 4เทรนด์อาหารโลกมาแรง

สำหรับแนวโน้มการบริโภคอาหารของโลกในปี 2560 (Food Trend) คือ 1. ผู้บริโภคจะให้ความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพในรูปแบบเฉพาะเจาะลงมากขึ้น เช่นผ่านกระบวนการแปรรูปน้อย ลดโปรตีนจากเนื้อสัตว์ จะบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น ลดไขมันในอาหาร รวมทั้งมีความรู้มากขึ้น มีอาหารเฉพาะกลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาหรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วย 2.ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาหารจากพืชเกษตรจะต้องมีแหล่งที่มาที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และรวมถึงคุณค่าของอาหาร ให้ความสนใจเรื่องการลดของเสียในการผลิตอาหาร และของเหลือจากการบริโภค

3.อาหารยุคใหม่ต้องมีแพ็กเกจจิ้งที่สวยงาม ใช้งานสะดวกและมีขนาดเล็กลงเพียงพอกับการรับประทานเพียงมื้อเดียว และ 4.ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับข้อมูลทางออนไลน์ รวมถึงสนใจสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์มากขึ้น แนวโน้มต่างๆ เหล่านี้ผู้ประกอบการต้องใส่ใจและปรับตัวให้ทัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการยุคใหม่ที่เป็นเอสเอ็มอีที่จะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ต้องเน้นเรื่องเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าและเจาะตลาดเฉพาะเฉพาะกลุ่มมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ.2560