จีนทุ่มอีก2.5ล้านล้านหยวนลุยพลังงานทดแทน

11 ม.ค. 2560 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ทางการจีนเผยแผนลงทุนด้านพลังงานทดแทนเป็นมูลค่า 2.5 ล้านล้านหยวนในช่วง 4 ปีข้างหน้า นับเป็นความพยายามล่าสุดของตลาดพลังงานขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่จะเปลี่ยนการใช้พลังงานจากถ่านหินมาเป็นพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น

สำนักงานพลังงานแห่งชาติของจีนเปิดเผยแผนการลงทุนมูลค่า 2.5 ล้านล้านหยวนหรือประมาณ 3.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจนถึงปี 2563 ในด้านพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุดของโลก โดยทางสำนักงานกล่าวว่าแผนการลงทุนในครั้งนี้จะสร้างงานในภาคธุรกิจพลังงานได้กว่า 13 ล้านตำแหน่ง และกำลังการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทนเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงพลังงานลม น้ำ แสงอาทิตย์ และนิวเคลียร์ จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของไฟฟ้าที่ผลิตภายในปี 2563

ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก นิว เอเนอร์จี ไฟแนนซ์ ระบุว่าในปี 2558 จีนลงทุนกับโครงงานพลังงานทดแทนในประเทศเป็นมูลค่า 1.03 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับการลงทุนมูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (เอ็นดีอาร์ซี) ระบุในแผนงานระยะเวลา 5 ปี ว่าอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์จะได้รับงบประมาณ 1 ล้านล้านหยวน โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 5 เท่า ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าจะเท่ากับโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานแสดงอาทิตย์ขนาดใหญ่ประมาณ 1,000 แห่ง ขณะที่งบประมาณอีกราว 7 แสนล้านหยวนจะทุ่มไปกับการสร้างทุ่งกังหันลม อีก 5 แสนล้านหยวนใช้กับไฟฟ้าพลังน้ำ และส่วนที่เหลือจะถูกกระจายไปสู่พลังงานคลื่นและความร้อนใต้พิภพ

ปัจจุบันจีนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดในโลก และสูงกว่าอันดับ 2 คือสหรัฐฯ 2 เท่า ก่อให้เกิดปัญหามลพิษตามมา อย่างไรก็ดี การประกาศแผนลงทุนล่าสุดนับเป็นการแสดงท่าทีว่าจีนต้องการเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานทดแทน โดยในปัจจุบันบริษัทเอกชนของจีนหลายรายเป็นผู้เล่นหลักของโลกอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมพลังงานลมและแสงอาทิตย์ที่ลดลงอย่างมาก ช่วยให้ราคาสามารถแข่งขันได้กับพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

นายทิม บัคลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษางบประมาณด้านพลังงาน จากสถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจและการเงินธุรกิจพลังงานของสหรัฐฯ กล่าวว่า ข้อตกลงในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ที่สุด 4 ใน 5 ข้อตกลงเมื่อปี 2559 เป็นข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจากจีน และคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะดำเนินต่อไปไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนด้านพลังงานทดแทนของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารงานของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีหรือไม่ก็ตาม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ.2560