ลุ้นปี60ราคาสินค้าทรงตัว ‘นํ้ามัน-ค่าเงินบาท’ตัวแปร-ขึ้นค่าแรงต้นทุนเพิ่มเล็กน้อย

10 ม.ค. 2560 | 10:00 น.
พาณิชย์ชี้ราคาสินค้าปี 60 แนวโน้มทรงตัว สัญญาณจากผู้ประกอบการแข่งลดราคา แต่ยังเฝ้าระวังเรื่องราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนตัวแปร ยันปรับขึ้นค่าจ้างกระทบต้นทุนผู้ประกอบการจิ๊บจ๊อย ไม่มีเหตุผลขอปรับขึ้นราคา ล่าสุดดึง 35 สินค้าออกจากรายการต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเป็นติดตามเฉพาะมีการร้องเรียน

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์(พณ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวโน้มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปี 2560 ว่า ยังต้องติดตามราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพราะอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าได้ แต่ทั้งนี้ยังเชื่อว่าราคาสินค้าในภาพรวมปีนี้จะยังทรงตัว เห็นได้จากผู้ประกอบการยังไม่กล้าขึ้นราคาในช่วงนี้ ดังนั้นน่าจะเห็นการแข่งขันกันลดราคาเพื่อดึงดูดลูกค้ากันมากกว่าที่จะปรับราค่าสินค้าเพิ่ม ขณะนี้ยังไม่มีผู้ประกอบการรายใดมาขอปรับขึ้นราคาสินค้ากับทางกรม

"ยังไม่มีผู้ผลิตรายได้ยื่นขอปรับขึ้นราคาสินค้าเข้ามา ซึ่งการใช้จ่ายของประชาชนก็เป็นไปอย่างระมัดระวัง ปีนี้น่าจะเห็นโครงการประชารัฐต่างๆ ออกมาเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น"

ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 300 บาท เป็น 305-310 บาทต่อวัน ใน 69จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา จากการวิเคราะห์ผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการแล้ว พบว่ามีผลกระทบน้อยมาก ต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 0.01-1.02% เท่านั้น ไม่น่าเป็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการจะขอปรับขึ้นราคาสินค้า โดยเฉพาะอาหารปรุงสำเร็จ แต่ทั้งนี้กรมก็ได้มีการติดตามดูแลราคาสินค้าในช่วงการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ล่าสุดกรมได้ดึงสินค้าที่อยู่ในรายการติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกสัปดาห์หรือทุกเดือน(Watch list : WL) จำนวน 166 รายการ ออกมา 35 รายการ(ดูตารางประกอบ) เช่น น้ำอัดลม ครีมบำรุงผิว โฟมล้างหน้า หม้อหุงข้าว โทรทัศน์ เครื่องเป่าผม กระติกน้ำ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ แบตเตอรี่สำรอง แว่นสายตาและคอนแทกต์เลนส์สายตา เป็นต้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูง จึงได้ลดระดับการติดตามดูแลจากที่ต้องติดตามเป็นประจำ เป็นการติดตามเฉพาะที่มีการร้องเรียนเท่านั้น

ทั้งนี้สินค้าที่กรมดูแลมีจำนวนทั้งสิ้น 205 สินค้า ครอบคลุมสินค้าที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันโดยรายการสินค้าที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ต้องติดตามภาวะราคาเป็นประจำทุกวัน(Sensitive list : SL) มีจำนวน 27รายการ ในจำนวนนี้เป็นสินค้าควบคุมที่มีมาตรการกฎหมาย 17 รายการ คือน้ำตาลทราย, น้ำมันพืช, อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, นมผง, นมสด, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ, เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก, เหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม, เหล็กเส้น, ก๊าซหุงต้ม,ก๊าซแอลพีจีรถยนต์, ปุ๋ยเคมี, ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืช หรือโรคพืช, เครื่องสูบน้ำ,ยางรถยนต์, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวสาลี

ส่วนสินค้าที่ติดตามภาวะและสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษสัปดาห์ละ2ครั้ง(Priority watch list : PWL) มี12รายการ ในจำนวนนี้มีสินค้าควบคุมที่ไม่มีมาตรการตามกฎหมาย 7 รายการ ประกอบด้วย ไข่ไก่, สุกรชำแหละ, ข้าวสารบรรจุถุง, อาหารสัตว์, น้ำมันเบนซิน, น้ำมันดีเซล และเหล็กแผ่นรีดร้อน ส่วนสินค้าที่มีแนวโน้มราคาขยับขึ้นอยู่ในรายการที่ต้องติดตามทุกวัน มี 3 รายการ ได้แก่ อาหารปรุงสำเร็จ, เสื้อผ้าไว้ทุกข์ และทราย

"ในปีนี้กรมยังมีแผนในการดูแลค่าครองชีพของประชาชน ผ่านโครงการธงฟ้า ร้านอาหารราคาประหยัดหนูณิชย์..ชวนชิม อย่างโครงการธงฟ้า ซึ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาต่ำกว่าตลาด 20-40% ปีนี้กรมฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 177 ล้านบาท กำหนดจัดงานใหญ่ และงานย่อยกว่า 1,000 ครั้งทั่วประเทศ โดยจะปรับรูปแบบของงานให้แตกต่างจากเดิมคือ จะกระจายไปยังประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและผู้มีรายได้น้อยมากขึ้น เช่น ธงฟ้าเพื่อผู้ใช้แรงงาน ธงฟ้าช่วยเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตร และธงฟ้าช่วยผู้ประสบภัยธรรมชาติ เป็นต้น รวมไปถึงจัดงานธงฟ้าร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน"

ส่วนร้านหนูณิชย์ ... พาชิม จำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จราคา 25-35 บาทอยู่ระหว่างผลิตอุปกรณ์ให้กับทางร้านค้าที่เข้าร่วม เช่น จาน ชาม ผ้ากันเปื้อน หมวก รวมถึงพยายามเชื่อมโยงกับซัพพลายเออร์กับร้านค้าเพื่อให้ได้ต้นทุนวัตถุดิบที่ถูกลง การออกบัตรหนูณิชย์ให้กับร้านค้าเพื่อใช้สำหรับการซื้อของในห้างที่ร่วมโครงการในราคาต่ำกว่าตลาด ปัจจุบันมีร้านค้าทั่วประเทศเข้าร่วมแล้ว 11,761 ร้าน ล่าสุดได้เพิ่มช่องทางจำหน่ายร้านหนูณิชย์ฯ ในรูปแบบ ฟูด ทรัก เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม พ.ศ.2560