ขีดเส้น6เดือนเชื่อมเตาปูน-บางซื่อ รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกอาจด้วนแค่บางขุนนนท์

09 ม.ค. 2560 | 09:00 น.
บอร์ดรฟม.ไฟเขียวเจรจาบีอีเอ็มด้วยวิธีพิเศษ ให้บริการรถไฟฟ้าเชื่อมบางซื่อ-เตาปูน พร้อมเห็นชอบปรับลดกรอบวงเงินจ้างติดตั้งงานระบบจาก 693 ล้านบาท เหลือ 678 ล้านบาท ตั้งเป้าเดินรถส.ค.นี้ ส่วนสายสีส้มตะวันตกคาดด้วนแค่บางขุนนนท์ ล่าสุดปรับลดงบได้อีก 7,000 ล้านบาท

นายพีระยุทธ์ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการรฟม.ว่าบอร์ดรฟม.ได้เห็นชอบกรอบวงเงินราคากลางกรณีว่าจ้างด้วยวิธีพิเศษกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)(BEM) ดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและการเดินรถไฟฟ้าช่วงสถานีเตาปูน-สถานีบางซื่อให้การเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วง และสายสีน้ำเงินได้รับความสะดวกมากขึ้น

โดยรฟม.ได้ว่าจ้างเอกชนตามระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องโดยเสนอต่อคณะกรรมการบอร์ดรฟม.เห็นชอบให้ว่าจ้างด้วยวิธีพิเศษในการเจรจากับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เนื่องจากเหตุผลความจำเป็นด้านเทคนิคโดยเฉพาะระบบพลังงานไฟฟ้าที่จะใช้ดำเนินการที่สามารถต่อเชื่อมมาจากสายเฉลิมรัชมงคลหรือ MRT ที่ให้บริการในปัจจุบันนี้ เช่นเดียวกับศูนย์ควบคุมการเดินรถสามารถใช้ศูนย์ในปัจจุบันดำเนินการได้ทันที

นอกจากนั้นบอร์ดรฟม.ยังเห็นชอบกรอบวงเงินราคากลางจากเดิมที่กำหนดไว้ 693 ล้านบาทซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคากลางที่รฟม.ตั้งขึ้นมาได้เจรจาปรับลดวงเงินเหลือ 678 ล้านบาทเนื่องจากมีระยะเวลาดำเนินการลดน้อยลงจากเดิม 12-15 เดือน ล่าสุดได้ปรับลดลงไปได้อีก

“การเจรจาทั้งหมดจะกำหนดว่าขอบเขตงานทั้งหมดจะมีระยะเวลา 6 เดือนนับจากวันลงนามสัญญา ดังนั้นต้นทุนจึงปรับลดลงโดยราคากลางของงานระบบที่จะติดตั้งและทดสอบจึงเหลือประมาณ 678 ล้านบาท โดยค่าว่าจ้างเดินรถคณะกรรมการได้พิจารณาแล้วยังยืนยันวงเงินเดิมประมาณ 52 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งบอร์ดยังแต่งตั้งคณะกรรมการจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษขึ้นมา 1 ชุดโดยมีระดับรองผู้ว่าการรฟม.เป็นประธานคณะทำงานโดยจะต้องเจรจาเพื่อให้ได้ข้อสรุปและนำรายงานการประชุมบอร์ดรฟม.อีกครั้งในวันที่ 18 มกราคมนี้ ทั้งในเรื่องราคา ขอบเขตงาน ระยะเวลาดำเนินการ ตลอดจนร่างสัญญาให้แล้วเสร็จหลังจากนั้นจึงจะส่งเรื่องให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบภายในเดือนกุมภาพันธ์ต่อไป และคาดว่าจะเริ่มงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณในเดือนมีนาคม 2560 ก่อนเปิดเดินรถในเดือนสิงหาคม 2560”

ผู้ว่าการรฟม.กล่าวอีกว่านอกจากนั้นบอร์ดรฟม.ยังเห็นชอบกรณีที่รฟม.นำเสนออนุมัติดำเนินโครงการสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยที่ทับซ้อนแนวเส้นทางรถไฟสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ช่วงศิริราช-บางขุนนนท์-ตลิ่งชัน โดยได้หารือร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้ข้อยุติกรณีที่จะปรับลดแนวเส้นทางเหลือแค่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-สถานีบางขุนนนท์

“วงเงินงานโยธากว่า 9 หมื่นล้านบาท และตัดออกไปได้ 2 สถานี จึงสามารถปรับลดวงเงินลงได้อีกราว 7,000 ล้านบาท ส่วนงานระบบเดินรถนั้นรฟม.อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด คาดว่าจะสามารถเสนอครม.ได้ประมาณเมษายนนี้ก่อนจะเริ่มดำเนินการประกวดราคาประมาณกรกฎาคม 2560 และเซ็นสัญญาในเดือนมกราคม 2561 เริ่มก่อสร้างช่วงต้นปี 2561 และเปิดเดินรถตามแผนช่วงปี 2567 เพราะเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งเส้นทางและได้เตรียมงบประมาณเผื่อเหลือเผื่อขาดรองรับไว้แล้ว ทั้งนี้ในส่วนการจัดหาเจ้าภาพเดินรถสายสีส้มรฟม.ก็จะเร่งคัดเลือกควบคู่ไปกับช่วงการก่อสร้างเพื่อให้ทันเปิดให้บริการทั้งเส้นทางต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม 2560