รัฐบาลปรับทัพเพิ่ม ‘ครม.วงใน’เร่งโชว์ศักยภาพ-ลดแรงกดดันการเมือง

09 ม.ค. 2560 | 05:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

พลันที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) เปิดประเด็นเรียกน้ำย่อยรับปีไก่ว่า การเลือกตั้งอาจจะมีขึ้นประมาณกลางปี 2561 เนื่องจาก สนช.มีภารกิจต้องพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 10 ฉบับ และร่างกฎหมายอื่นอีกนับ 100 ฉบับ ปรากฏเสียงต้านจากฝั่งการเมืองอย่างรุนแรง แม้จะมีคำยืนยันอย่างแข็งขันจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่ารัฐบาลยังเดินหน้าตามโรดแมปเดิมแล้วก็ตาม

อนาคตไม่ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับสังคมได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งอุปสรรคอาจมาจากปัญหาภายในประเทศและนอกประเทศ อีกด้านหนึ่งรัฐบาลดูหมือนมีความพยายามที่จะขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

เห็นได้จากการชี้แจงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมี่อวันที่ 21 ธันวาคม 2559 ให้ปรับยุทธศาสตร์การทำงานของ ครม.ใหม่ ตามนโยบายนายกรัฐมนตรีโดยให้เพิ่ม “ครม.วงใน” หรือ “อินเนอร์คาบิเน็ต” ขึ้นมาอีกคณ

  แกะรอยภารกิจ “ครม.วงใน”

หากขยายความภารกิจของ “ครม.วงใน” ตามที่รองนายกรัฐมนตรีวิษณุ อ้างถึงให้เห็นภาพแบบทะลุปรุโปร่งก็คือ เป็นครม.ชุดเล็ก ที่มีนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คน ร่วมประชุมเพื่อติดตามงานและระดมความเห็นในแต่ละกระทรวง โดยมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานหรือภารกิจโดยตรงเข้ามาช่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพ และให้การทำงานของรัฐบาลเป็นไปตามเป้าหมายเร็วขึ้น เพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการเมืองที่กำลังจะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง

นั่นย่อมหมายความว่า การขับเคลื่อนงานและยุทธศาสตร์นับจากนี้ จะต้องลงไปที่ตัวรัฐมนตรีมากขึ้น รัฐมนตรีจะต้องเป็นเจ้าภาพการงานนั้นๆด้วยตัวเอง โดยดูว่าถ้าเรื่องใดเกี่ยวข้องกับกระทรวงใดมากที่สุด ก็ให้กระทรวงนั้นเป็นเจ้าภาพหลัก แล้วมีกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมทีม ถ้าการดำเนินงานติดขัดเรื่องใด รัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าทีมจะรายงานไปยังรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับกระทรวงนั้น ตามลำดับชั้น โดยหารือภายในระหว่างนายกรัฐมนตรีกับรองนายกรัฐมนตรีทั้งหมด

ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ เช่น กรณีการแก้ไขปัญหาไอยูยู (สหภาพยุโรป หรืออียู ได้ประกาศเตือนประเทศไทยด้วยการแจก “ใบเหลือง” จากเหตุที่ประเทศไทยไม่ให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม ) เดิม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะเข้าไปช่วยดูแลสั่งการ แต่ต่อจากนี้จะเป็น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาเป็นเจ้าภาพ หรือคลุกกับงานมากขึ้น โดยรัฐมนตรีจะกำกับดูแลตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงโชว์ผลงานได้เต็มที่ ซึ่งจะง่ายต่อการประเมินผลงานอีกทางหนึ่ง

ขณะที่การทำงานในระดับพื้นที่ จะเน้นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องโดยตรงเข้ามามีส่วนร่วม เช่น สินค้าโฮท็อป งานการท่องเที่ยว เป็นต้น

[caption id="attachment_123519" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี[/caption]

  ลดภาระ 6 รองนายกฯ

คำถามก็คือ การที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ปรับแผนการทำงานของรัฐมนตรีให้ชัดเจนขึ้น จะส่งผลบทบาทของรองนายกรัฐมนตรีลดลงหรือไม่ มือกฎหมายรัฐบาลอย่างรองนายกรัฐมนตรีวิษณุ ยืนยันเสียงแข็งไม่ใช่การลดทอนบทบาทรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คนแน่นอน พร้อมอธิบายว่าในช่วงที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศช่วงแรกๆ ต้องการขับเคลื่อนงานหลายอย่าง ส่งผลให้รองนายกรัฐมนตรีต้องแบกรับจนหลังแอ่นทั้งงานปกติ และงานเชิงยุทธศาสตร์ รวมถึงงานในเชิงพื้นที่บูรณาการ ซึ่งภารกิจหลักรวมแล้วคนละ 7 อย่าง ประกอบด้วย

1.งานกำกับกระทรวง 2.การร่วมขับเคลื่อนงานของกระทรวงนั้นๆ 3.การทำหน้าที่เป็นประธานหรือรองประธานคณะกรรมการระดับชาติหลายคณะ 4.การลงมาขับเคลื่อนงานยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ 5. การรับงานตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเฉพาะเรื่อง 6.งานตรวจราชการในพื้นที่ และการดูแลกลุ่มงานลักษณะที่เป็นคลัสเตอร์

ในการปรับเปลี่ยนการทำงาน ในเบื้องต้นจะให้แต่ละกระทรวงทำเองก่อน ถ้าขับเคลื่อนได้ผลดี จะยุบคณะกรรมการเดิมของเรื่องนั้น แล้วตั้งคณะทำงานชุดใหม่ ซึ่งมีรัฐมนตรีที่ดูแลโดยตรงเป็นประธาน

เมื่อนายกรัฐมนตรี ปรับวิธีการจัดการกับภารกิจ ครม.ใหม่ ย่อมทำให้ขบวนการทำงานของรัฐบาลเร็วขึ้น ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีไม่ต้องเสียเวลาลงในรายละเอียด และมีเวลาติดตามนโยบายภาพรวมของประเทศมากขึ้น

 นักวิชาการชี้ลดแรงกดดันนายกฯ

การปรับรูปแบบการทำงานของรัฐบาลดังกล่าว นายตระกูล มีชัย อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ทัศนะกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการมีครม.วงในนายกรัฐมนตรีไม่ควรดูแลทุกเรื่อง หรือพูดทุกเรื่อง ควรมีคนช่วยเพื่อลดแรงกดดันที่พุ่งไปยังตัวนายกรัฐมนตรี

การบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมากว่า 2 ปี แม้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ได้ผลตามเป้าหมายที่วางไว้หลายเรื่อง แม้จะมีกลไกรัฐมาเป็นตัวช่วย หรือการใช้อำนาจพิเศษ มาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ยังใช้เวลานาน

ดังนั้น เมื่อนายกรัฐมนตรี ต้องการให้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุด การประชุมแบบ ครม.วงใน จึงน่าจะตอบโจทย์ได้ถ้าทำอย่างจริงจัง จึงเห็นด้วยกับการมีครม.วงใน และควรจะทำมานานแล้ว เพราะเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากรอการชี้ขาดจากการประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งพิจารณาเป็นรายสัปดาห์คงไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ

“การบริหารแบบมี ครม.วงในไม่ใช่เรื่องใหม่ มีเกือบทุกสมัย ทั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาลทักษิณ ก็เคยทำ แต่หลายรัฐบาลทำแล้วไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร”

ขณะที่ความเห็นของ นายยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) มองว่าการใช้ ครม.วงใน หรือ อินเนอร์คาบิเน็ต เป็นขบวนการทำงานที่ยลย่อให้ขบวนการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น การกลั่นกรองเรื่องที่จะเข้าสู่ที่ประชุมเป็นการล่วงหน้า หวังผลให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ก็มีในภาคธุรกิจเช่นกัน แต่ประเด็นคือพอเข้าสู่การเมือง ต้องระวังไม่ให้อินเนอร์คาบิเน็ตอาจกลายเป็นพื้นที่ที่การล็อบบี้ เพราะจะทำให้เกิดเป็นเรื่องการเอาผลประโยชน์ส่วนรวมมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว

“รองนายกฯก็คือคนที่แบ่งภาคส่วนของนายกฯ เพราะนายกฯ คงดูทุกอย่างไม่ไหว จึงมีรองนายกฯดูแลด้านต่างๆด้วย คิดว่าไม่ใช่การลดบทบาทรองนายกฯ เนื่องจากรัฐบาลต้องทำงานในรูปแบบความรับผิดชอบร่วมกัน”

การบริหารราชการแผ่นดิน ในอุ้มมือ “รัฐบาลประยุทธ์ 4” นับจากนี้ไป ย่อมเข้มข้นกว่า 2 ปีที่ผ่านมาแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,225 วันที่ 8 - 11 มกราคม 2560